การประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 13 กันยายน 2565 ที่ผ่านมา รัฐบาลได้ดำเนินการอนุมัติเรื่องสำคัญ ที่เกี่ยวกับค่าครองชีพของพี่น้องประชาชน คืออัตราค่าจ้างขั้นต่ำทั่วประเทศอยู่ที่ 328 - 354 บาท/วัน ตามที่กระทรวงแรงงานเสนอ มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2565
สำหรับอัตราค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำปี 2565 จำแนกเป็น 9 อัตราดังนี้
354 บาท/วัน จำนวน 3 จังหวัดได้แก่ ชลบุรี ภูเก็ต และระยอง, 353 บาท/วัน จำนวน 6 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพมหานคร นครปฐม นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ และสมุทรสาคร, 345 บาท/วัน จำนวน 1 จังหวัด คือ ฉะเชิงเทรา, 343 บาท/วัน จำนวน 1 จังหวัด คือ พระนครศรีอยุธยา
340 บาท/วัน จำนวน 14 จังหวัด ได้แก่ กระบี่ ขอนแก่น เชียงใหม่ ตราด นครราชสีมา ปราจีนบุรี พังงา ลพบุรี สงขลา สระบุรี สุพรรณบุรี สุราษฎร์ธานี หนองคาย และอุบลราชธานี
338 บาท/วัน จำนวน 6 จังหวัด ได้แก่ กาฬสินธุ์ จันทบุรี นครนายก มุกดาหาร สกลนคร และสมุทรสงคราม
335 บาท/วัน จำนวน 19 จังหวัด ได้แก่ กาญจนบุรี ชัยนาท นครพนม นครสวรรค์ บึงกาฬ บุรีรัมย์ ประจวบคีรีขันธ์ พะเยา พัทลุง เพชรบุรี พิษณุโลก เพชรบูรณ์ ยโสธร ร้อยเอ็ด เลย สระแก้ว สุรินทร์ อ่างทอง และอุตรดิตถ์
332 บาท/วัน จำนวน 22 จังหวัด ได้แก่ กำแพงเพชร ชัยภูมิ ชุมพร เชียงราย ตรัง ตาก นครศรีธรรมราช พิจิตร แพร่ มหาสารคาม แม่ฮ่องสอน ระนอง ราชบุรี ลำปาง ลำพูน ศรีสะเกษ สตูล สิงห์บุรี สุโขทัย หนองบัวลำภู อำนาจเจริญและอุทัยธานี, 328 บาท/วัน จำนวน 5 จังหวัด ได้แก่ นราธิวาส น่าน ปัตตานี ยะลา และอุดรธานี
นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวว่า การปรับขึ้นค่าจ้างครั้งนี้ขึ้นทีเดียว 18 บาท ไม่ได้ขึ้น 1-2 บาทเหมือนอดีตที่ผ่านมา โดยครั้งนี้ได้พูดคุยกับสภาหอการค้าไทยแล้ว ยอมรับในตัวเลขนี้ได้ เพราะขณะนี้เกิดภาวะเงินเฟ้อ สินค้าขึ้นราคาไปก่อนหน้านี้แล้ว เชื่อว่านายจ้างทุกคนรับได้ เพราะขึ้นค่าแรงเพียง 5% เท่านั้น นอกจากนี้ยังให้สำนักงานประกันสังคม ช่วยนายจ้างปรับลดเงินสมทบ 1-2 เดือน พร้อมชี้แจงผู้ประกันตน ว่าจะไม่กระทบต่อเงินชราภาพ
อย่างไรก็ตาม เราคาดหวังว่านอกจากรายได้ที่เพิ่มขึ้นแล้ว จากการปรับค่าแรงแล้ว จะมีการยกระดับคุณภาพชัวิตของพี่น้องแรงงานให้เท่าเทียม