ปัญหาน้ำท่วมเนื่องจากฝนที่ตกลงมาอย่างหนักในหลายจังหวัด หลายพื้นที่ถูกฝันร้ายน้ำท่วมปี 2554 หลอกหลอนอีกรอบ ด้วยบาดแผลจากวิกฤติการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 นั้น ยังหมาดๆ น้ำท่วมจะเข้ามาซ้ำเติมวิกฤติหรือไม่
หากได้เตรียมความพร้อม และรับมืออย่างดี ก็อาจจะช่วยลดผลกระทบให้ทุเลาเบาบางไปได้ ความเห็นของผู้เชี่ยวชาญ รศ.ดร.เสรี ศุภราทิตย์ รองประธานกรรมการมูลนิธิสภาเตือนภัยพิบัติแห่งชาติ โพสต์ข้อความในเพจเฟซบุ๊ก ในหัวข้อเรื่อง “ความเสี่ยงสูงน้ำท่วมใหญ่ปลายปี 2565 ตระหนัก แต่ไม่ตระหนก !!!” มีเนื้อหาที่น่าสนใจ จึงขอนำมาถ่ายทอดอีกครั้งดังนี้
“ปัจจัยที่ทำให้เกิดเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่มาครบทั้ง 3 ปัจจัย 1) ปริมาณฝนสะสมช่วงก่อนฤดูฝนมากกว่าค่าปกติ 2) ปรากฏการณ์ลานิญญายังทรงพลังช่วงปลายปีทำให้อุณหภูมิน้ำทะเลฝั่งตะวันตกของมหาสมุทรแปซิฟิกสูงกว่าฝั่งตะวันออก ความชื้นสูง 3) ปรากฏการณ์ไอโอดีเป็นลบทำให้อุณหภูมิน้ำทะเลฝั่งตะวันออกของมหาสมุทรอินเดียสูงกว่าฝั่งตะวันตก ความชื้นสูง
ปริมาณฝนคาดการณ์ช่วงปลายปี (สิงหาคม-พฤศจิกายน) มีสูงกว่าค่าปกติ และมากกว่าปี 2564 ที่ผ่านมา หากปริมาณฝนในภาคกลางมีมากกว่า 18 % ของค่าปกติ มีความเสี่ยงสูงจะเกิดน้ำท่วมใหญ่ 2554 แต่พฤติกรรมน้ำหลากจะไม่เหมือนกัน (ถ้าฝนตกเหนือเขื่อน ปริมาตรรองรับน้ำเขื่อนขนาดใหญ่ในภาคเหนือยังมีประมาณ 50% แต่หากตกใต้เขื่อน จะสร้างปัญหาให้กับภาคกลางแบบน้ำท่วมทุ่ง ค่อยๆหลากเข้าเมือง) สำหรับภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (ตอนกลาง ตอนล่าง) ภาคตะวันออก ภาคใต้ตอนบน มีความเสี่ยงสูงที่จะเผชิญเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ได้เช่นกัน
ปัจจัยที่ไม่สามารถควบคุมได้ที่ทำให้สถานการณ์รุนแรง หรือเบาลงประกอบไปด้วย 1) จำนวน ทิศทาง และความรุนแรงของพายุจรตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป (โดยในปีนี้มีการคาดการณ์จะเกิดพายุ 23 ลูก ช่วงครึ่งปีแรกเกิดแล้ว 8 ลูก ยังเหลืออีกประมาณ 15 ลูก)
2) ความสามารถรับน้ำของลุ่มน้ำลดลง บีบให้ระดับน้ำสูงขึ้น (เช่นปีที่แล้วในภาคกลางปริมาณน้ำมีน้อยกว่าปี 2554 ประมาณ 20% แต่ระดับน้ำสูงเท่า หรือมากกว่า)
3) การเตรียมความพร้อม และความเข้าใจภาคครัวเรือนในพื้นที่เสี่ยง (เพื่อให้องค์ความรู้ และความตระหนัก จัดการความเสี่ยงได้ด้วยตัวเอง)
4) ความขัดแย้งภาคประชาชนในพื้นที่เสี่ยง (มีการประกอบอาชีพ ทำนา ทำไร่ หรืออาชีพอื่นๆ การจะเอาน้ำจากที่หนึ่งไปเก็บในอีกที่หนึ่ง เช่นแก้มลิงหรือประตูน้ำต่างๆ ย่อมส่งผลกระทบกับการทำมาหากินของเขาเหล่านั้น)
และ 5) การบริหารจัดการเอาอยู่หรือไม่ (การประเมินสถานการณ์อย่างใกล้ชิด ชี้แจงมาตรการต่างๆต่อภาคประชาชนในการลดผลกระทบต่อพื้นที่เสี่ยง)