ในลิ้นชักความทรงจำ / ยูร  กมลเสรีรัตน์

ตอนที่ไมตรี ลิมปิชาติ นักเขียนวัยหนุ่มใหญ่เกษียณราชการในตำแหน่งผู้ช่วยผู้ว่าการประปานครหลวงใหม่ ๆ เจอผมในงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติที่ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ยิ้มให้ผมด้วยด้วยสีหน้าเบิกบาน ดวงตาทอประกายสดใสบ่งบอกถึงความสุข ขณะที่เอ่ยกับผม “ยูร เดี๋ยวเราไปชนแก้วกัน ผมเกษียณแล้ว มีความสุขมากเลย”

ตอนแรกผมก็แปลกใจนิด ๆ เพราะข้าราชการบางคน พอเกษียณราชการ จะหง็อยไปเลย บางคนถึงขั้นเฉา ผมรู้ดี เพราะเคยรับราชการมาก่อน มีรองอธิบดีฯคนหนึ่ง  เกษียณได้ 6 เดือน เฉามาก เพราะครั้งหนึ่งเคยมียศตำแหน่ง มีหน้าห้องผู้หญิงรับใช้ด้วยความพินอบพิเทา พอชีวิตพลิก กลายเป็นประชาชนธรรมดา  ความเครียดคือ มะเร็งถามหาเร็วนัก ในที่สุดก็ลาโลก

สำหรับนักเขียนรุ่มรวยอารมณ์ขันผู้นี้กลับตรงข้ามดังที่กล่าวมาโดยสิ้นเชิง  ใบหน้าก็สดชื่นเริงรื่นยังกับหนุ่มเพิ่งพบรักนั่นปะไร(อิอิ)  ไม่แค่นั้น  เสื้อผ้าที่เคยสวมใส่ในชุดเรียบร้อย  ซึ่งเห็นจนชินตา กลับเป็นชุดยีนส์อย่างผิดตา เพราะไม่เคยเห็นมาก่อน

แม้กระทั่งตอนที่ไมตรี ลิมปิชาติยังรับราชการ  เขาไม่เคยยึดติดกับยศตำแหน่ง เป็นกันเองกับทุกคน โดยเฉพาะนักเขียนรุ่นน้อง  เขาเคยพูดกับผมตอนรู้จักกันครั้งแรกพลางยื่นนามบัตรให้ สีหน้าฉายแววภาคภูมิใจเต็มเปี่ยมเหมือนคำพูด “ตำแหน่งในราชการผมไม่พิมพ์ใส่  เป็นนักเขียนนี่ ผมภูมิใจที่สุดยิ่งกว่าเป็นข้าราชการเสียอีก”

นามบัตรที่ผมรับมาจากมือของเขาไม่ได้พิมพ์ตำแหน่งในราชการไว้ด้วย ทั้ง ๆ ที่เขามีตำแหน่งเป็นถึงผู้ช่วยผู้ว่าการประปาเขตนครหลวง ในนามบัตรของเขาระบุใต้ชื่อว่า “คอลัมนิสต์หนังสือพิมพ์เดลินิวส์”ที่เขาเขียนประจำเป็นเวลานับสิบ ๆ ปีแล้ว  หากก่อนนี้เป็นเวลานานแล้ว เขาเขียนหลายแห่งตามคำเชิญชวนบ้าง ตามโอกาสบ้างเช่น ฟ้าเมืองไทย สยามรัฐสัปดาหวิจารณ์ชาวกรุง วัยหวาน สตรีสาร ฯลฯ

โดยเฉพาะวัยหวาน ซึ่งเป็นนิตยสารรายสัปดาห์สำหรับวัยรุ่นยุคเก่า ขายดิบขายดีมาก มีน้ำมนต์ อยู่สกุลเป็นบรรณาธิการ เขาเป็นนักเขียนประจำ  เขียนนวนิยายหลายเรื่องทีเดียวได้แก่  ความรักของคุณฉุย  ดอกเตอร์ครก  ยอดหญิงนักตบ เกาะรัก เป็นอาทิ

ผมค่อย ๆ แง้มลิ้นชักความทรงจำออกมา  พยายามทบทวนว่ารู้จักนักเขียนอาวุโสผู้นี้ที่ไหน 

ก็จำได้ว่ารู้จักครั้งแรกในการประชุมของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาแห่งชาติ  กระทรวงศึกษาธิการที่ดร.รุ่ง  แก้วแดง เป็นเลขาธิการและเป็นประธานในการประชุม เป็นการเชิญนักเขียนและสื่อมวลชนเต็มห้องประชุมใหญ่  รู้สึกว่าน่าจะมีครู-อาจารย์ด้วย เพื่อระดมความคิดในโครงการเขียนหนังสือเกี่ยวกับภูมิปัญญาท้องถิ่น   

วันนั้นจำได้ว่ามีวิริยะ  สิริสิงห(ล่วงลับแล้ว)เจ้าของสำนักพิมพ์สุวีริยสาส์นหรือรู้จักกันในนามสำนักพิมพ์ชมรมเด็ก(ปัจจุบันสุภา สิริสิงห หรือ “โบตั๋น” ซึ่งเป็นภรรยาเป็นคนดูแลสำนักพิมพ์) แต่คงไปในนามนักเขียน เพราะเป็นนักเขียนด้วย มีผลงานวรรณกรรมเยาวชนมากมาย 

พอเลิกประชุม ผมเดินออกมาจากห้องประชุม เจอไมตรี  ลิมปิชาติตรงทางออกพอดี ผมเดินไปยกมือไหว้พลางแนะนำตัวและบอกว่าเป็นแฟนหนังสือของเขา แล้วถามว่าสนใจไปเขียนที่กุลสตรีไหม เขาตอบว่าสนใจ

“ผมเขียนสารคดีเรื่องใหม่ชื่อ ‘ขี่ม้า(เหล็ก)ท่องแดนมะกัน’ ว่าจะเอาไปพิมพ์รวมเล่ม ได้ลงกุลสตรีก่อนก็ดีเหมือนกัน จะได้เผยแพร่”

นอกจากได้เผยแพร่แล้ว ผลพลอยก็คือ ได้ค่าเรื่องสองต่อ ทั้งจากนิตยสารกุลสตรีและตอนพิมพ์รวมเล่ม นั่นคือมิตรภาพครั้งแรกของนักเขียนวัยหนุ่มน้อยกับนักเขียนวัยหนุ่มใหญ่ เมื่อกว่า 20 ปีก่อน

หลังจากสารคดี “ขี่ม้า(เหล็ก)ท่องแดนมะกัน”จบ  ผมจำได้ว่ามีนวนิยายตีพิมพ์ลงกุลสตรีเรื่องแรกคือ อวสานของคุณนายฉอเลาะ ตามด้วย กะเพราไข่ดาว  แล้วมีสารคดี “ลัดเลาะรัสเซีย” 

ไมตรี ลิมปิชาติ เป็นผู้ใหญ่ที่ถ่อมตัวมาก ไม่ทะนงตัวว่าตนเป็นนักเขียนที่มีชื่อเสียง เขาพูดกับผมและบอกความจริงกับคนอื่นว่า “ยูรนี่แหละที่ทำให้ผมมีสนามได้เขียนนวนิยาย  ถ้าไม่มียูร ผมก็ไม่ได้เขียน”

ผมรู้สึกกระดาก จึงแย้งว่า “พี่อย่าพูดอย่างนั้น ผมก็แค่ทำหน้าที่ติดต่อให้พี่ พี่เป็นนักเขียนดังอยู่แล้ว”

แต่ไมตรี  ลิมปิชาติก็จะพูดย้ำประโยคเดิมดังที่กล่าวมา  ผมรู้สึกประทับใจและชื่นชมมาก ทั้งที่เป็นนักเขียนมีชื่อเสียง แต่กลับกล้าเปิดเผยความจริง  ไม่รู้สึกว่าเสียหน้าที่พูดความจริง ซ้ำบอกใคร ๆ ว่าผมเป็นคนติดต่อให้ ไม่ใช่นิตยสารติดต่อมา เพราะเคสแบบนี้ผมเคยมีประสบการณ์มาแล้ว 

ผมเคยเสนอนวนิยายของนักเขียนดังคนหนึ่งให้กับนิตยสาร แล้วเสนอนวนิยายเรื่องนี้ให้กับบริษัทละคร ตอนนั้นผมจีบเลขาฯของบริษัทนี้อยู่  แต่เขาไม่เคยปริปากกับคนอื่นเลยว่า ผมเป็นคนจัดการให้  เพราะนิสัยของเขา ใคร ๆ ก็รู้ว่าอีโก้สูง คนที่ไปประกาศบอกใคร ๆ ว่าผมเป็นคน

ติดต่อให้จนได้สร้างละครและเจรจาต่อรองจนได้ค่าเรื่อง 1 แสนคือ ณรงค์ จันทร์เรือง  ผมวางเฉย ไม่รู้สึกอะไร เพราะถือคติในการใช้ชีวิตว่า ถ้าสามารถช่วยเหลือใครได้ ก็จะทำ เพราะการเป็นผู้ให้เป็นความสุข

ธรรมเนียมปฏิบัติในวงการนักเขียนยุคก่อน นักเขียนใหม่ต้องเริ่มจากเรื่องสั้นก่อน  ซึ่งส่วนใหญ่เรื่องสั้นเรื่องแรกมักจะไม่ได้ลงและเรื่องต่อ ๆ มาอีกหลายเรื่องก็อาจจะไม่ได้ลง ในขณะที่บางคนได้ลงเรื่องสั้นเรื่องแรก เรื่องต่อ ๆ มาถูกปฏิเสธก็มี แต่ไมตรีลิมปิชาติ ไม่เข้าข่ายทั้งสองกรณี  ถือว่าเป็นข้อยกเว้นต่างจากนักเขียนคนอื่น

“ผมเป็นคนโชคดีตรงที่เรื่องไม่เคยลงตะกร้าเลย  เขียนเรื่องสั้นเรื่องแรก “หล่อนต่ำเพราะอยากสูง”ไปฟ้าเมืองไทยให้พี่อาจินต์  (อาจินต์ ปัญจพรรค์) ก็ได้ลงคอลัมน์ ‘เขาเริ่มต้นที่นี่’ เพิ่งเปิดคอลัมน์นี้เป็นฉบับแรกด้วย  จำได้แม่นจนเดี๋ยวนี้ว่าเป็นฉบับที่ 93 ปี 2513ส่งไปฉบับอื่นก็ได้ลงหมด เรื่องสั้นเรื่องนี้เมียผม(พักตร์พริ้ง  ลิมปิชาติ) เขาอ่านแล้วเห็นว่าใช้ได้ ผมก็เลยส่งไปฟ้าเมืองไทย”

แหม! มีเมียดี เอาใจใส่สามียังงี้ น่าอิจฉาจริง ๆ ผมจำได้ว่า “พี่ไมตรี”เคยเล่าให้ฟังว่าเขียนเรื่องสั้นเสร็จ ไม่กล้าส่งไปที่ไหน เพราะไม่มั่นใจในตัวเอง  เลยเก็บไว้ในลิ้นชัก  กระทั่ง “พี่พักตร์พริ้ง” ซึ่งเป็นครูภาษาไทย ไปเจอเข้า ก็เลยส่งไปฟ้าเมืองไทย

พอได้ลงฟ้าเมืองไทย ทำให้มีกำลังใจเขียนเรื่องต่อ ๆ มาจนกระทั่งได้เขียนเรื่องสั้นชุด ประปา ในฟ้าเมืองไทยในเวลาต่อมา  แล้วฟ้าเมืองไทยได้ลงง่าย ๆ ที่ไหนกัน  หากตอนที่ไมตรี ลิมปิชาติเขียนเรื่องสั้นใหม่ๆ ไปจำนวนหนึ่งแล้ว  แต่เขายังไม่รู้เลยว่าเรื่องสั้นเป็นยังไง  ดังที่เขาเปิดใจบอกเล่าความรู้สึกให้ฟัง...

“รู้อย่างเดียวว่ามันสั้น ไม่ยาว  เขียนเพราะอยากเขียน ตอนหลังถึงหาตำรามาศึกษา ก็ตรงกับที่เราคิด เพียงแต่เราไม่ได้ศึกษา”

ด้วยพลังในวัยหนุ่ม ในเวลาต่อมาไมตรี ลิมปิชาติเขียนเรื่องสั้นส่งไปตามนิตยสารต่าง ๆ อีกหลายฉบับและได้ลงตั้งแต่เรื่องแรกคือเรื่อง ทางออกที่ถูกปิด เป็นเรื่องสั้นชุดข้าราชการ ในสยามรัฐสัปดาห์วิจารณ์ นกของต้อย ในสตรีสาร ฉันคือต้นไม้ ในลลนา

“เรื่อง “ แผนของล้าน” เป็นเรื่องในชุดคนอยู่วัด ลงในชาวกรุงยุคประมูล   อุณหธูป เป็นบรรณาธิการในชาวกรุง  ผมส่งเรื่องสั้นชุดนี้ไปเป็นเรื่องที่สามนะ ถึงได้ลง หลังจากนั้นเรื่องแรกกับเรื่องที่สองก็ได้ลงตามมา”

เรื่องสั้นชุด คนอยู่วัด ลงในชาวกรุงเดือนละครั้ง  เพราะเป็นนิตยสารรายเดือน ทำให้ไม่ทันใจนักเขียนหนุ่ม จึงเอาไปเสนอนิตยสารสตรีสารและขวัญเรือน แต่นิตยสารฟ้าเมืองไทยไม่รับ ด้วยเหตุผลที่ว่า...

“พี่อาจินต์ แกบอกว่าจะเอาชุด ประปา ที่คุณเคยเขียนส่งผม มันเป็นประสบการณ์จริงของคุณ ผมจึงรู้ว่าว่านักเขียนต้องดูด้วยว่าบ.ก.เขาชอบแนวไหน อันนี้เป็นเทคนิคไม่งั้นเขาไม่เอานะ”

หลังจากเขียนเรื่องสั้นได้ประมาณ 20  เรื่อง เขาก็รวบรวมต้นฉบับจะไปเสนอให้สำนักพิมพ์ประพันธ์สาส์นเพื่อพิมพ์รวมเล่ม เขาเดินกลับไปกลับมาหน้าสำนักพิมพ์ ใจเต้นตุ้ม ๆ ต่อม ๆ ประสานักเขียนใหม่ สุดท้ายก็ไม่กล้าเข้าไป

(อ่านต่อตอนหน้า)

“รู้ว่าอะไรถูกต้องควรทำ  แต่ไม่ทำ  นับว่าขี้ขลาดตาขาวที่สุด” (ขงจื๊อ)