หลังจากเสียแชมป์หล่นมาอยู่ที่อันดับของโลกมา 4 ปีต่อเนื่อง ล่าสุดนายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยถึงสถานการณ์การส่งออกข้าวไทยและสถานการณ์ข้าวไทย ณ เดือน ส.ค.65 โดยคณะกรรมการนโยบายและบริหารข้าวแห่งชาติ ได้รายงานปริมาณการส่งออกข้าวไทยเทียบกับประเทศผู้ส่งออกสำคัญ (อ้างอิงข้อมูลจากกรมศุลกากรและใบอนุญาตส่งออกข้าว) ว่า ในปี 2565 (ม.ค.- ส.ค.) อินเดียส่งออกข้าวได้มากเป็นอันดับ 1 ของโลก ประมาณ 11.23 ล้านตัน รองลงมาได้แก่ ไทย 4.75 ล้านตัน เวียดนาม 4.25 ล้านตัน ปากีสถาน 2.47 ล้านตัน และสหรัฐฯ 1.49 ล้านตันตามลำดับ
ทั้งนี้ เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 64 (ม.ค.-ส.ค.) ในปี 65 ไทย มีปริมาณการส่งออกข้าวเพิ่มขึ้น จาก 3.10 ล้านตัน เป็น 4.75 ล้านตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 53.23 โดยมีปัจจัยบวกจากค่าเงินบาทที่อยู่ในระดับอ่อนค่า เมื่อเทียบกับค่าเงินเหรียญสหรัฐฯ ทำให้ราคาข้าวไทยอยู่ในระดับที่แข่งขันได้ มีราคาใกล้เคียงกับประเทศคู่แข่งที่สำคัญ เช่น เวียดนาม เมียนมา ผู้นำเข้าข้าวจึงให้ความสนใจนำเข้าข้าวไทยเพิ่มขึ้น
อีกทั้งการส่งออกข้าวของไทยไปยังกลุ่มประเทศผู้นำเข้าในภูมิภาคตะวันออกกลางโดยเฉพาะอิรัก ยังมีปริมาณเพิ่มขึ้นอย่างมากเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน นอกจากนี้ การส่งออกข้าวไทยในช่วงที่ผ่านมานั้น เนื่องจากสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย-ยูเครน ทำให้มีการนำเข้าข้าวไทยไปใช้ทดแทนข้าวสาลีและข้าวโพดในอุตสาหกรรมผลิตอาหารสัตว์เพิ่มขึ้นด้วย
อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้มีความเห็นจากทางภาคเอกชนนายวันนิวัต กิติเรียงลาภ รองเลขาธิการ บริษัท พงษ์ลาภ จำกัด กล่าวในงานเสวนาเรื่อง “ข้าวไทย กับ ความต้องการของตลาดโลก” ว่า “การส่งออกข้าวไทยไปในตลาดโลกระยะ 10 ปีที่ผ่านมา ทั้งตลาดข้าวขาว ข้าวนึ่ง และข้าวหอมมะลิ ตลาดข้าวไทยสูญเสียส่วนแบ่งตลาดให้กับคู่แข่งมากขึ้น ทั้งเวียดนามและอินเดีย แม้บางประเทศยังรักษาส่วนแบ่งตลาดได้ แต่หากในอนาคตไทยยังไม่มีการพัฒนาพันธุ์ข้าว คุณภาพข้าวให้คงที่ ราคาข้าวไม่ผันผวน เพื่อแข่งขันในตลาด มองว่าไทยมีโอกาสที่จะเสียส่วนแบ่งตลาดให้กับคู่แข่งได้
โดยเฉพาะตลาดข้าวหอมมะลิในสหรัฐ เพราะที่ผ่านมาเวียดนาม มีปัญหาเรื่องสารตกค้างในข้าว ทำให้ส่งออกข้าวเข้าสหรัฐน้อยลง แต่หากเวียดนามสามารถปลดล็อกปัญหานี้ได้ เวียดนามมีโอกาสขยายตลาดส่งออกข้าวในตลาดนี้ได้ในอนาคต ซึ่งจะส่งผลให้ไทยเสียส่วนแบ่งตลาดข้าวหอมมะลิได้
หากไทยยังไม่พัฒนาและทำให้ราคาข้าวไม่ผันผวนจนต่างกับคู่แข่งเกินไป ก็ยังเชื่อว่าจะรักษาตลาดนี้ไว้ได้ เพราะตลาดข้าวหอมมะลิมีความต้องการและเติบโตทุกปี ต่างจากตลาดอื่นของไทย เช่น ตลาดมาเลเซีย ซึ่งจะดูในเรื่องของราคา หากราคาดีไม่แพงเกินไป ตลาดก็จะหันมาซื้อกับไทย ต่างจากสหรัฐ ราคาข้าวแพงก็ยังซื้อหากข้าวมีคุณภาพ” (ที่มา :เว็บไซต์ประชาชาติธุรกิจ วันที่ 28 มิถุนายน 2565)
กระนั้น เราเห็นว่า ปัญหาราคาข้าวที่แพงทำให้ส่งออกยากนั้น รัฐบาลและผู้เกี่ยวข้องจะต้องมาขับคิดและทบทวนว่า ราคาที่สูงขึ้นนั้นผลประโยชน์ไปตกกับเกษตรกรผู้ปลูกข้าว หรือตกไปที่ใคร หากลงไปที่เกษตรกรจะเสียแชมป์โลกส่งออกเพื่อประโยชน์ของพี่น้องเกษตรกรให้มีรายได้ที่ดีขึ้นอย่างแท้จริงๆ เชื่อว่าทุกฝ่ายยอมรับได้ แต่หากไม่ใช่ก็ขอให้ช่วยกันสะสางระบบนี้ ให้เหมือนกับที่ปราบสลากราคาแพง