รศ.ดร.สุขุม เฉลยทรัพย์
สวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยสวนดุสิต
ฝนตก น้ำรอการระบาย น้ำท่วม รถติด ... ปัญหาเรื้อรังซ้ำซากของกทม. ... ณ วันนี้ และวันหน้า ก็คือโจทย์ใหญ่ของผู้ว่าฯ กทม.ทุกคนที่ก้าวเข้ามา เช่นเดียวกันกับกรณีของ ‘นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์’ ผู้ว่าฯ กทม.คนใหม่ที่เพิ่งเข้ามาลุยงาน กทม.ครบ 3 เดือนเต็มไปหมาด ๆ นาที่นี้คงไม่พ้นที่ต้องแบกความรับผิดชอบเต็มสองบ่า เพราะน้ำท่วม กทม. นั้น เป็นซะยิ่งกว่า ‘ความน่าเบื่อหน่าย’ ที่นอกจากจะสร้างความเดือดร้อนด้านความเป็นอยู่ของประชาชนแล้ว อาจลุกลามขั้นเศรษฐกิจพัง และการเมืองสั่นคลอน ซึ่งขณะนี้ประเด็น “น้ำ” กำลังกลายเป็นประเด็น “น้ำร้อน”ที่อาจลวกมือใครอีกหลายคนที่ต่างก็พากันปัดโยนความรับผิดชอบกันไปมา
แม้ว่าสาเหตุหลักของปัญหาน้ำท่วม กทม. คือ ปัจจัยเชิงภูมิศาสตร์ เช่น ฝนตกหนัก น้ำทะเลหนุน แผ่นดินทรุด และการกระทำของมนุษย์ เช่น ขาดการวางผังเมืองที่เป็นระบบ ช่องทางระบายน้ำไม่พอ การจัดการขยะไม่ดี แต่อุปสรรคสำคัญของการป้องกันน้ำท่วมพื้นที่กทม. ก็มี เช่น 1) ขยะกีดขวางทางน้ำไหล 2) แผนปฏิบัติการป้องกันและแก้ไขปัญหาน้ำท่วม กทม. ยังไม่ครอบคลุม และ 3) เครื่องสูบน้ำและประตูระบายน้ำขัดข้อง เป็นต้น
แต่เมื่อส่องนโยบายการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมในพื้นที่ กทม. ของผู้ว่าฯ ชัชชาติ ช่วงหาเสียงเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. พบว่ามี 5 ข้อ คือ 1) ลดจุดเสี่ยง จุดเฝ้าระวังน้ำท่วมทันที 2) แก้ปัญหาพื้นที่ต่ำโดยจะยกระดับถนน หรือเพิ่มขนาดท่อระบายน้ำ 3) ขุดลอกและทำความสะอาดท่อระบายน้ำ 4) เพิ่มแก้มลิงธรรมชาติ และ 5) พัฒนาฐานข้อมูลดิจิทัลพื้นที่จุดเสี่ยงความปลอดภัย (BKK Risk Map) ก็ดูเข้าทีดีอยู่ แต่จะทำสำเร็จมากน้อยแค่ไหนก็ต้องรอดูผลลัพธ์จริงที่จะปรากฏให้เห็นกันจะจะ
งบประมาณแก้ไขปัญหาน้ำท่วม กทม. ปี 2565 ตามแผนปฏิบัติการป้องกันและแก้ไขปัญหาน้ำท่วม กทม. ที่มีสาเหตุจากน้ำฝนและน้ำหนุน ก็มีงบประมาณสูงเกือบ 4 พันล้านบาท ซึ่งมาจากงบประมาณประจำปีราว 3.37 พันล้านบาท และเงินอุดหนุนจากรัฐบาลอีก 519.84 ล้านบาท
ผลกระทบเชิงเศรษฐกิจจากปัญหาน้ำท่วมที่ศึกษาโดยองค์กรรณรงค์ด้านสิ่งแวดล้อม “กรีนพีซ” ที่เปิดเผยเมื่อปีที่ผ่านมา ในรายงานความเสียหายทางเศรษฐกิจที่คาดการณ์จากการเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเลแบบสภาวะสุดขีดใน 7 เมืองของเอเชีย (The Projected Economic Impact of Extreme Sea-Level Rise in Seven Asian Cities in 2030) ระบุว่า ภายในปี 2573 กทม.ซึ่งเป็นพื้นที่ลุ่มต่ำมีความเสี่ยงจากภัยน้ำท่วมหากระดับน้ำทะเลเพิ่มขึ้นมากกว่าร้อยละ 96 ของพื้นที่กรุงเทพฯ ซึ่งกรีนพีซประเมินความเสียหายจากภัยน้ำท่วมของพื้นที่กรุงเทพฯและปริมณฑลว่า จะเผชิญสภาวะจมทะเล กระทบพื้นที่ 1,521 ตารางกิโลเมตร (กทม. มีพื้นที่ทั้งหมด 1,569 ตารางกิโลเมตร) ความเสียหายเชิงเศรษฐกิจเบื้องต้น 5.12 แสนล้านดอลลาร์ หรือประมาณ 18.6 ล้านล้านบาท (อัตราแลกเปลี่ยน 36.50 บาทต่อดอลลาร์) และกระทบกับประชาชนขั้นต่ำ 10.45 ล้านคน
ปัญหาน้ำท่วม กทม. เป็นเรื่องใหญ่ที่คงใช้กำลังของผู้ว่าฯ กทม. อย่างเดียวคงรับมือไม่พอมั้งครับ คงต้องมองกัน แบบภาพใหญ่ระดับมหภาค เพราะกทม.เป็นเมืองหลวงของไทยและเป็นศูนย์กลางความเจริญในทุกด้าน
มุมมองแก้ไขปัญหาน้ำท่วม กทม. ตามทรรศนะอดีตรองนายกรมต.และอดีตรมต.กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ‘นายปลอดประสพ สุรัสวดี’ มองเป็น 2 ระดับ ระดับประเทศ เสนอว่า 1) กำหนดให้เป็นงานระดับยุทธศาสตร์ 2) ใช้ยุทธวิธีที่เหมาะสมกับเวลาและสถานการณ์ “เปิดปิดประตูระบายน้ำ” 3) บริหารจัดการน้ำแบบองค์รวม “ต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำในทุกลุ่มน้ำ” 4) ระดมความรู้ที่หลากหลายแขนงมาใช้ “อุทกศาสตร์ อุตุนิยมวิทยา วิศวกรรมศาสตร์ และสิ่งแวดล้อม ฯลฯ” 5) ผนึกกำลังการบริหารจัดการน้ำให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน “26 หน่วยงานด้านน้ำ” และ 6) เข้าใจปรากฏการณ์ลานีญาและสภาวะโลกร้อน “บริหารแบบ New normal”
ระดับท้องถิ่น เน้นพื้นที่กทม. เสนอให้ 1) ประสานขอความร่วมมือกับรัฐบาล 2) ประกาศให้ กทม. เป็นพื้นที่ประสบอุทกภัยอย่างหนัก 3) กระจายน้ำออก 3 ทิศทาง ได้แก่ ตะวันตก ตะวันออก และกลาง กทม. 4) ใช้เครื่องสูบน้ำช่วย 5) ประสานภาคเอกชนช่วยปรับปรุงระบบระบายน้ำ และ 6) เพิ่มการใช้งานประตูระบายน้ำฝั่งตะวันออก “พระโขนง”
ก็เป็นอีกมิติหนึ่งจากหลาย ๆ มิติของแต่ละฝ่าย!
เอาเข้าจริง ๆ ปัญหาน้ำท่วม กทม. แม้จะแก้ไขยากอยู่ แต่ก็ไม่ยากเกินแก้ แน่ ๆ ครับ ถ้าไม่ลากโยงเข้าสู่หมากเกมการเมืองจนกลายเป็น “น้ำการเมือง” ซึ่งเคยเห็นกันชัด ๆ ก็สมัยนายกฯยิ่งลักษณ์คราวน้ำท่วมใหญ่ปี 2554 จนมาถึงวันนี้สมัยผู้ว่าฯ ชัชชาติ ก็เข้าวังวนเก่า ๆ (หรือไม่?) ... ท่านผู้อ่านคงต้องค่อย ๆ ค้นหาคำตอบกันเองละครับ...