ผลพวงจากสถานการณ์การเมืองในปัจจุบัน ทำให้มีคำถามไปถึงการเลือกตั้งครั้งหน้า ว่าโฉมหน้าการเมืองไทยจะเป็นอย่างไร

เพราะแม้ผลการเลือกตั้งที่จะมาถึง จะมีการคาดการณ์ถึงพรรคที่จะได้คะแนนเสียงมาเป็นอันดับ 1 ตรงกันของหลายฝ่าย แต่จะถึงขั้นแลนด์สไลด์หรือไม่ยังเป็นเรื่องที่ต้องติดตาม เนื่องจากคำว่า แลนด์สไลด์นั้น ตามความหมายในภาษาอังกฤษคือ ดินถล่ม หากมาในบริบทการเมือง ก็เปรียบเทียบกับปรากฎการณ์ที่ได้รับชัยชนะแบบถล่มทลาย เช่น มีชัยชนะจากการเลือกตั้งชนิดถล่มทลาย หรือได้รับคะแนนเสียงไว้วางใจแบบถล่มทลาย

คำว่าแลนด์สไลด์ จึงเทียบเคียงกับคำว่าถล่มทลาย

แต่หากคะแนนเสียงเกินครึ่งไปแบบก้ำกึ่ง ไม่น่าจะเรียกว่า “แลนด์สไลด์” หากจะเรียกแลนด์สไลด์ได้น่าจะเกิน 3 ใน 4 มากกว่า เช่น ถ้าจำนวนส.ส.มี 500 คน แล้วได้ส.ส.350 คน ถึงจะเรียกว่าแลนด์สไลด์ ไม่ใช่ 250 คน

แต่ถึงอย่างนั้น วาทกรรมแลนด์สไลด์ก็ถูกนำมาใช้เป็นแคมเปญรณรงค์ทางการเมือง ของพรรคการเมืองบางพรรคในขณะนี้

ทีนี้กลับมาดูปัจจัยที่จะพิชิตเป้าหมายแลนด์สไลด์กันบ้าง ในผลสำรวจ เรื่อง สัญญาณเลือกตั้งใหญ่ ปี 2566 ของ “สวนดุสิตโพล” มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต มีประเด็นที่หยั่งเสียงของประชาชน กลุ่มตัวอย่างที่น่าสนใจ

คือในการเลือกตั้งครั้งต่อไประหว่างผู้สมัครในพรรคฝ่ายรัฐบาล กับ ผู้สมัครในพรรคฝ่ายค้าน ประชาชนส่วนใหญ่ร้อยละ 52.75% คิดว่าพรรคฝ่ายค้านได้เปรียบกว่าผู้สมัครในพรรคฝ่ายรัฐบาล และผลการสำรวจพบว่าส่วนใหญ่มองว่าพรรคที่สังกัดมีผลต่อการตัดสินใจของประชาชนในการเลือก ส.ส. ถึงร้อยละ 70.10 รองลงมาคือ ตัวผู้สมัคร ร้อยละ 64.51 และอันดับ 3 คือเป็นคนดี ประวัติดี ซื่อสัตย์ ร้อยละ 59.98  อันดับ 4 เป็นคนรุ่นใหม่ มีวิสัยทัศน์ ร้อยละ 52.80 และอันดับ 5 ขยัน ตั้งใจทำงาน ร้อยละ 50.67

ประเด็นเหล่านี้  สะท้อนแง่มุมความคิดของคนในสังคม ที่บรรดานักการเมืองและพรรคการเมืองอาจนำไปใช้ประโยชน์ได้

แต่เหนืออื่นใด ปัจจัยต่างๆ และแม้ผลสำรวจจะยังพบว่าประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 56.56 จะคิดว่าการเลือกตั้งครั้งต่อไปจะมีการซื้อสิทธิขายเสียงมากขึ้น

ทว่าเรากลับมองว่า แม้จะมีการซื้อเสียงที่มากขึ้น แต่ประชาชนจะตัดสินใจในเชิงยุทธศาสตร์มากขึ้น จากประสบการณ์การเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครที่ผ่านมา ประเด็นนี้คือโจทย์ที่สำคัญของทุกพรรคการเมืองเช่นกัน