รัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ขัดเส้นแก้ไขปัญหาความยากจนแบบพุ่งเป้าให้เห็นผลในวันที่ 30 กันยายนนี้ โดยมอบหมายให้กระทรวงมหาดไทย ขับเคลื่อนผ่านศูนย์อำนวยการขจัดความยากจนและพัฒนาคนทุกช่วงวัยอย่างยั่งยืนตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง (ศจพ.)
ทั้งนี้ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย กล่าวในรายการ “คุยเรื่องบ้าน คุยเรื่องเมือง คุยทุกเรื่องกับรัฐมนตรี” ว่า “...รัฐบาลต้องการลดความเหลื่อมล้ำ สร้างรายได้ให้ประชาชน โดยไม่ได้ดูแค่รายได้อย่างเดียว แต่จะดู 5 มิติ คือ สุขภาพ, ชีวิตความเป็นอยู่, เรื่องการศึกษา, เรื่องรายได้ การประกอบอาชีพ และการเข้าถึงบริการภาครัฐ มีเป้าหมายในการบริหารราชการและการขจัดความยากจนแบบพุ่งเป้า ผ่านกลไกการขับเคลื่อนในรูปแบบทีมพี่เลี้ยงเป้าหมายตั้งแต่ส่วนกลาง ไปจนถึงระดับพื้นที่ส่วนท้องถิ่นเข้าไปดำเนินการแก้ไขปัญหาความยากจนให้ประชาชนแบบรายบุคคล รายครัวเรือน
ทั้งนี้จากข้อมูลบนแพลตฟอร์ม TPMap ที่รวบรวมข้อมูลความยากจนในปี 2565 พบว่ามีประชาชนที่ประสบความยากจนกระจายอยู่ทั่วประเทศขั้นต้น 1 ล้านคน หรือประมาณ 6 แสนครอบครัว โดยตั้งเป้าแก้ปัญหาแบ่งเป็น 3 ระดับ เริ่มจากช่วยให้อยู่รอดก่อนในขั้นต้น ยกตัวอย่าง ประกอบอาชีพเกษตรแล้วเป็นหนี้สิน ขาดทุนจะทำอย่างไร ให้สอบผ่านก่อนขั้นนี้ก่อน ต่อไปคืออยู่ได้แบบพอเพียง และไปสู่การยืนด้วยตัวเองอย่างยั่งยืน ได้ผ่านกลไกของ “ทีมพี่เลี้ยง” จะถือข้อมูลจาก TPMap ลงไปในพื้นที่
โดยผลการดำเนินงานแก้ไขปัญหา มิติด้านสุขภาพ สามารถดำเนินการแก้ไขแบบถึงตัวแล้วจำนวน 149,872 ครัวเรือน ช่วยเหลือแล้วคิดเป็นร้อยละ 99.57 หรือประมาณ 149,223 ครัวเรือน มิติความเป็นอยู่ จำนวน 146,741 ครัวเรือน ช่วยหลือแล้ว 146,037 ครัวเรือนคิดเป็นร้อยละ 99.52 มิติด้านการศึกษา ได้รับความช่วยเหลือแล้ว 152,418 ครัวเรือน คิดเป็นร้อยละ 99.53 มิติด้านรายได้ ได้รับความช่วยเหลือแล้วเกือบ 100 % และมิติการเข้าถึงบริหารภาครัฐ ได้รับการช่วยเหลือไปแล้ว 2,263 ครัวเรือน จากทั้งหมด 2,287 ครัวเรือน และจะเดินหน้าแก้ไขปัญหาต่อไปโดยเฉพาะกลุ่มเปราะบาง
...จะแก้จนได้จริงหรือไม่ ผมใช้คำว่าก็ต้องทำให้ได้ หมายความว่าเขาจะต้องดีขึ้นดีขึ้น เราคงไม่สามารถทำให้เขาเป็นเศรษฐีได้เลย แต่ปัญหาเขาจะได้รับการแก้ไข แล้วเขาจะต้องมีชีวิตที่ดีขึ้น เราต้องหาทุกวิถีทางเราทิ้งเขาไม่ได้ ยิ่งเขามีปัญหาเราก็ต้องหาทางแก้ เพราะฉะนั้นพี่น้องประชาชนเย็นใจได้ว่าเราจะเข้าไปแก้ไขปัญหา ...”
ทั้งนี้ เราเห็นว่า ในขณะที่รัฐบาลเดินหน้าแก้ไขปัญหาความยากจนแบบพุ่งเป้า ผ่านระบบการวิเคราะห์ด้วยข้อมูลจาก TPMap ที่มีข้อมูลของผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐร่วมอยู่ด้วย ในขณะที่รัฐบาลได้สังคยานาเริ่มลงทะเบียนบัตรสวัสดิการแห่งรัฐกันใหม่ เพื่อหาคนจนตัวจริง เมื่อพิจารณาแนวทางการดำเนินการควบคู่กันไปเช่นนี้เชื่อว่าจะได้เห็นการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นจากฐานข้อมูลนี้ เป็นสำคัญ