ทวี สุรฤทธิกุล

ถึงเวลาปฏิรูประบบราชการอีกรอบ แต่รอบนี้ต้องปฏิรูปเรื่อง “ความโปร่งโล่งของอำนาจ”

เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาได้อ่าน “ข่าวเล็ก ๆ” แต่ในความรู้สึกของผู้เขียนแล้วเป็นเรื่องที่ “ใหญ่มาก” คือข่าวตำรวจเข้าจับกุมตัวข้าราชการตำแหน่ง “วัฒนธรรมจังหวัด” ของจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ด้วยเหตุกระทำการทุจริตที่มีการเบิกเงินไปจัดพิธีบวงสรวง แต่ไม่ได้มีการจัดกิจกรรมนั้นจริง รวมทั้งมีการสืบสาวไปถึงกิจกรรมอื่น ๆ ที่แม้ว่าจะจัดขึ้นก็มีคนร่วมงานหร็อมแหร็ม และหลายครั้งน่าจะเป็นการกะเกณฑ์กันมา แต่ละงานใช้เงินหลักล้าน แต่ได้ผลงานไม่คุ้มค่า ซ้ำร้ายยังมีการโกงกิน เอาเงินไปใช้แต่ไม่มีงานจัดขึ้น

ความสนใจของข่าวนี้อยู่ที่การวิจารณ์ของผู้บริการองค์การปกครองท่านหนึ่ง คือ คุณวัชรพงศ์ ระดมลัทธิพัฒน์ นายกองค์การบริหารส่วนตำบลบ้านใหม่ อำเภอมหาราช จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ที่เขียนเฟซบุ๊กวิจารณ์ว่า มีการจัดงานด้านวัฒนธรรมและการท่องเที่ยวในจังหวัดพระนครศรีอยุธยาปีหนึ่ง ๆ หลายงานมาก ๆ โดยส่วนใหญ่จัดอยู่ในบริเวณที่เรียกว่า “เกาะเมือง” (หมายถึงบริเวณเมืองเก่าอยุธยา ที่เคยเป็นพระราชวังและมีแม่น้ำ 3 สายล้อมรอบ) โดยแยกไม่ออกว่าเป็นการจัดงานของหน่วยงานใด เพราะมีทั้งงานของการท่องเที่ยว กระทรวงการท่องเที่ยวฯ วัฒนธรรมจังหวัด และหน่วยงานต่าง ๆ จนเหมือนว่าแย่งกันจัดงานเพื่อใช้จ่ายงบประมาณให้มีผลงาน โดยที่ผู้ว่าราชการจังหวัดและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นไม่มีสิทธิเข้าไปยุ่มย่ามจัดการในเรื่องเหล่านี้

“โครงสร้างของระบบราชการควรต้องมีการสังคายนากันใหม่ โดยการกระจายอำนาจมาสู่ท้องถิ่นในระดับพื้นที่ให้มากขึ้น เช่น ท่องเที่ยว วัฒนธรรม เพราะผมมองว่าท้องถิ่นก็ทำงานพวกนี้ได้ และเป็นภารกิจด้วย แต่ท้องถิ่นก็มีทั้งพร้อมและไม่พร้อม และก็ใช่ย่อยเช่นกันในเรื่องแบบนี้ แสบสนิท ศิษย์ส่ายหน้า ... หลายท้องถิ่น เทศบาลและ อบต.ก็สามารถทำเรื่องท่องเที่ยวและเรื่องงานวัฒนธรรมประเพณีต่าง ๆ ได้ไม่อายใคร... อยุธยามี 6 อำเภอ แต่จัดกันอยู่อำเภอเดียวคือตัวเมืองอยุธยา จนเงินแทบจะปูลาดดาดเต็มถนนไปหมดแล้ว เพราะปูถมทุกปี ... กรณีที่เกิดกับวัฒนธรรมจังหวัดรอบนี้ มาจากคนภายในวางยากันแน่นอน ไม่อย่างนั้นแผลไม่เปิดขนาดนี้ สงสัยปีนี้กินรวบไม่กินแบ่ง” คือความเห็นแรง ๆ ของคุณวัชรพงศ์

ประเด็นที่ผู้เขียนสนใจก็คือ ประเทศไทยมีการกระจายอำนาจให้กับท้องถิ่นอย่างเต็มรูปแบบ(ตามกฎหมาย)มาตั้งแต่ พ.ศ. 2537 ที่การออกพระราชบัญญัติองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นลงมาถึงระดับตำบลนั้นแล้ว แต่ด้วยอิทธิพลของหน่วยราชการหลักโบราณ ที่มีกระทรวงมหาดไทยเป็นแกนนำ แล้วผนึกกำลังกับกระทรวงทบวงกรมอื่น ๆ “ดึงอำนาจ” เอาไว้ ทำให้ยังคงเห็นภาพของการทำงานทับซ้อนกับท้องถิ่นนี้มาถึงทุกวันนี้ แม้ว่าในสมัยหนึ่งตอน พ.ศ. 2545 จะมีการปฏิรูประบบราชการครั้งใหญ่ โดยการจัดแบ่งงานในกระทรวงทบวงกรมต่าง ๆ เสียใหม่ พร้อมกับระบบการบริหารราชการจังหวัดแบบบูรณาการ ที่ให้อำนาจผู้ว่าราชการจังหวัดดูแลงบประมาณและกระจายงานให้หน่วยงานต่าง ๆ แต่ต่อมาก็เข้าอีหรอบเดิม คืออำนาจได้ถูกจัดแบ่งไปอยู่ในแต่ละหน่วยงานนั้นเช่นเดิม ภาษาการปกครองเรียกว่าเป็น “ระบบรัฐอิสระ” หรือแต่ละกระทรวงทบวงกรมก็มีหน่วยงานของตนในระดับจังหวัดและอำเภอ พร้อมกับการทำงานที่ทับซ้อนกัน จนสร้างความสับสนและนำมาซึ่งการทุจริต ที่สุดก็คือความขัดแย้งระหว่างหน่วยงาน จนต้องมาเปิดโปงกันและกันแบบนี้

หลายท่านอาจจะบอกว่า องค์การบริหารส่วนท้องถิ่นก็ไม่น่าไว้วางใจนัก อย่างที่เห็นว่ามีการทุจริตในหลาย ๆ เรื่องในหลาย ๆ ท้องถิ่นอยู่เนือง ๆ ถ้าไม่นับที่ฉาวโฉ่มาก ๆ อย่างเสาไฟสวย ๆ และถนนไม่มีรถวิ่ง ก็ยังมีเรื่องที่มีการร้องเรียนอยู่มากมาย รวมถึงที่มีการลงโทษเอาผิดมาหลายร้อยคดี อย่างที่คุณวัชรพงศ์เองก็ยอมรับ แบบที่ใช้คำว่า “แสบสนิท ศิษย์ส่ายหน้า” คือในวงการองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นก็รู้ดีและยอมรับในเรื่องนี้ กระนั้นโดยหลักการและที่เห็นปฏิบัติอยู่ในประเทศที่เจริญแล้ว เมื่อมีการกระจายอำนาจให้ท้องถิ่น ก็ต้องพยายามให้ท้องถิ่นได้ทำงานต่าง ๆ เพื่อคนท้องถิ่นนั้นให้เต็มที่ ไม่ควรที่ราชการส่วนกลางยังจะไป “รุมทึ้ง” เอาผลงานและงบประมาณเหล่านั้นมา “อม” ไว้ อย่างน้อยถ้าองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจะทำทุจริต การตรวจสอบดำเนินการเอาผิดก็จะจำกัดวงลงไป ไม่ใช่ที่มีการทุจริตกันในวงกว้าง เพราะยังมีหน่วยงานราชการที่ทรงอิทธิพลในส่วนกลางมาร่วมหรือเป็นตัวนำในการกระทำทุจริตนั้นด้วยแบบที่เป็นอยู่นี้ และถ้าจะมีข้ออ้างว่าคนในท้องถิ่นคือชาวบ้านทั้งหลายนั่นเอง รู้ทั้งรู้ว่ามีการทุจริต แต่ก็ไม่กล้าอ้าปากร้องเรียน เพราะกลัวอิทธิพลของผู้บริหารท้องถิ่นที่มีอำนาจครองตำแหน่งอยู่นั้น ก็ไม่ใช่เรื่องที่จะแก้ไม่ได้ เพราะชาวบ้านในท้องที่อื่น ๆ รวมทั้งสังคมที่ช่วยกันจับตา ก็อาจจะเข้ามาช่วยเป็นแรงเสริม เอาผิดกับผู้บริหารเลว ๆ นั่นร่วมด้วย ดีกว่าที่จะปล่อยให้ผู้มีอิทธิพลจากส่วนกลาง ที่ชาวบ้านอาจจะไม่รู้จักและ “เอื้อมไม่ถึง” นั้นมาโกงกิน เพราะอย่างไรผู้บริหารท้องถิ่นนี้ก็เป็นลูกหลานหรือคนที่รู้จักกัน อย่างที่คนโบราณท่านใช้คำว่า “ถ้ามันทำผิดอะไรก็เขกกะโหลกมันได้”

ปัญหาการทุจริตนี้สมัยที่มีการปฏิรูประบบราชการใน พ.ศ. 2545 เรียกว่าเป็นปัญหาของระบบราชการที่ขาด “ความโปร่งใส” คือยังมีความอับทึบมองไม่เห็น เช่น ชาวบ้านไม่รู้กฎหมาย แต่ข้าราชการและท้องถิ่นเป็นผู้ใช้กฎหมายเหล่านั้นมาเอาเปรียบประชาชน ก็เริ่มมีองค์กรอิสระต่าง ๆ เข้ามาช่วยเหลือ เช่น ศาลปกครอง และผู้ตรวจการแผ่นดิน เป็นต้น ต่อมาก็เป็นเรื่องข้อมูลข่าวสารของทางราชการที่เข้าถึงยาก ก็มีการจัดทำกฎหมายให้ส่วนราชการต้องเปิดเผยข้อมูลให้มากที่สุด สิ่งเหล่านี้ก็สร้างความโปร่งใสให้กับการบริหารราชการได้ดีขึ้น แต่กระนั้นก็ยังถูกปิดกั้นอยู่ด้วย “อิทธิพลและผลประโยชน์” ดังนั้นจึงมีผู้เสนอว่าในการปฏิรูประบบราชการครั้งต่อไป ควรจะต้องจำกัดความอับทึบที่เกิดขึ้นจากอิทธิพลและผลประโยชน์นี้ด้วย โดยจำเป็นจะต้องหามาตรการที่จะลดอิทธิพลของผู้บริหารทั้งในราชการส่วนกลางและส่วนท้องถิ่นให้หมดสิ้นไป เพื่อสร้าง “ความโปร่งโล่ง” ในการบริหารงานต่าง ๆ ที่สุดก็คือลดการทุจริตให้หมดสิ้นไป ซึ่งวิธีการเหล่านี้ในประเทศใกล้ ๆ เรา อย่าง ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และจีน ก็ทำสำเร็จกันมาแล้ว

เขามีหลักการง่าย ๆ ว่า ข้าราชการและผู้บริการที่ทุจริตก็เหมือน “เห็บเหา” บนหัวเรา ไม่เพียงแต่ทำให้ศีรษะเราเสียหายแล้ว ยังทำให้เราหมดหล่อหมดสวยอีกด้วย ดังนั้นเราจึงต้อง “กำจัด” มันให้ได้