ในลิ้นชักความทรงจำ / ยูร  กมลเสรีรัตน์

นักเขียนเก่าก็คือ นักเขียนใหม่ในอดีต  ความรู้สึกของคนที่เป็นนักเขียนใหม่ทุกคนที่เริ่มไต่เต้าก็คือ ส่งเรื่องสั้นไปนิตยสาร แล้ว รอความหวังด้วยใจระทึกว่าเมื่อไหร่เรื่องของตนจะได้ลง ครั้งที่วัธนา บุญยังเป็นนักเขียนใหม่ ก็มีความรู้สึกไม่ต่างจากคนอื่น  หากในวันนี้ เขารอความหวังคนละแบบกับตอนที่เป็นนักเขียนใหม่ นั่นก็คือ...          

“เดี๋ยวนี้รอว่าเมื่อไหร่หนังสือจะได้พิมพ์ซ้ำ เป็นการรอด้วยความหวังของคน(เริ่ม)แก่”

วัธนา  บุญยังเอ่ยประโยคนี้กับผมที่ร้านอาหารแพพยงค์  ริมแม่น้ำบางปะกง  จังหวัดฉะเชิงเทราหรือแปดริ้ว ซึ่งเป็นชื่อเดิมที่ชาวบ้านเรียกกัน ครั้งที่ผมไปพักที่บ้านเมื่อปี 2560 ผมยังจำบรรยากาศภายในบริเวณบ้านสองชั้น  ซึ่งร่มรื่นและงามตระการด้วยต้นไม้ทั้งด้านหน้าและด้านข้างของบ้าน ไม่ว่าจะเป็นพวงครามสีม่วงงามตา  ทองอุไรเหลืองลออ  บานเย็นแดงสะพรั่ง  กระดังงา โมก  ลีลาวดี ฯลฯ โดยเฉพาะโมกที่ส่งกลิ่นหอมอ่อน ๆ รวยริน 

ตอนที่นั่งอยู่ร้านแพพยงค์  ซึ่งมีพี่‘จรัสศรี’ ผู้เป็นภรรยา กับหลานทั้งสองคนของปู่วัธนา คือ น้องณัฐและน้องกาญจน์ นั่งทานอาหารด้วยกัน  วัธนา  บุญยังที่ชี้ให้ดูอีกฝั่งที่เป็นเงาตะคุ่มครึ้มอยู่ไกล ๆ  พลางบอกว่า บ้านเกิดอยู่ในบ้านสวนริมคลองบางไผ่ที่ไหลลงมาแม่น้ำบางปะกง  มีกอจากริมคลองร่มครึ้ม  ต้นไม้ชายน้ำคือต้นลำพู  กลางคืนมีหิ่งห้อยมาเกาะ  กระพริบแสงวูบวาบสวยงามมาก

ผมจินตนาการตามคำบอกเล่าประสานักเขียนด้วยความชื่นมื่น พลางเอ่ยขึ้นว่าบรรยากาศแบบธรรมชาติน่าอยู่จัง  วัธนา บุญยังพูดขึ้นว่า  ก็เหมือนบ้านของชาวสวนทั่วไป  แต่ยุงเยอะมาก  บ้านเรือนก็ตั้งอยู่ห่าง ๆ กัน ชีวิตในวัยเด็กของเขาจึงค่อนข้างเงียบเหงา  เพราะเป็นลูกคนสุดท้อง  พี่ ๆ ห่างกันหลายปี ไปเรียนหนังสือที่อื่นหมด 

“ผมอยู่ที่บ้าน  เหงา  ทีวีก็ไม่มีดู เพราะไม่มีไฟฟ้า  มีเพียงสิ่งเดียวที่ช่วยให้คลายเหงาคืออ่านหนังสือด้วยตะเกียงรั้วเล็ก ๆ”

เพราะความเหงามิใช่หรือ ทำให้วัธนา บุญยังมีความรักในการอ่านและต่อยอดเป็นการเขียนด้วยแรงมานะและแรงศรัทธาที่ต่อการเขียน  กระทั่งกลายเป็นนักเขียนที่มีชื่อเสียงจนเป็นที่ยอมรับอย่างกว้างขวางในปัจจุบัน

เมื่อปี 2560 วัธนา บุญยังพูดกับผมที่ม้าหินอ่อนใกล้ต้นหูกระจง ที่ลูกศิษย์เอามาปลูกให้  ด้วยน้ำเสียงอันมุ่งมั่นว่า

“ถ้าผมยังไม่ตาย ผมยังไม่เลิกเขียน  จะเลิกเขียน เมื่อเมื่อผมมีผลงานครบ 50 เล่ม ตอนนั้นถึงครบแล้ว จะหยุดรึเปล่า แล้วแต่ ถ้ายังเขียนได้ ก็เขียนต่อ เป็นความตั้งใจที่ตั้งไว้นานแล้ว ตั้งแต่หนุ่ม เขียนให้ได้ 50 เล่มเป็นอย่างน้อย มันเป็นงาน ตราบใดที่ยังเขียนได้ มีความสุข มีความหวัง มีพลังใจ  เพราะยังมีแฟนนักอ่านคอยให้กำลังใจ รออ่านผลงานของผม  ไม่งั้นอยู่รอความตาย”

วัธนา  บุญยังบอกเล่าความรู้สึกที่มีต่องานเขียนของตนเอง  ซึ่งเขามีผลงานหลากหลายแนว  หากแนวพงไพรมีความโดดเด่นที่สุด จนเปรียบเสมือน “แบรนด์”ของเขาว่า...

“ส่วนตัวผมเอง ผมอยากเขียนงานที่เขียนแล้วมีความสุข  ถ้าให้เขียนงานยาก ๆ อย่างนั้น ถึงจะดี แต่ทุกข์ กลุ้มอกกลุ้มใจ ผมก็ไม่เขียน  แต่ผมยังเชื่อว่างานเรียบง่ายสวยงามของเรายังพอขายได้  อย่างน้อยงานของผมที่หลายคนดูถูกว่า ไม่ใช่วรรณกรรม  ก็ยังขายได้เรื่อย ๆ  แฟนหนังสือของผมมีทุกเพศทุกวัย  ตั้งแต่เด็ก  นักเรียน นักศึกษา ผู้ใช้แรงงาน ไปจนถึงแพทย์  วิศวกร หรือเป็นรองศาสตราจารย์ในมหาวิทยาลัยก็มี

ที่ผมกล้าพดอย่างนี้ เพราะผมมีการติดต่อกับผู้อ่านอยู่เสมอ ทางเว็บบ้าง หรือการจัดเดินป่ากับผู้อ่านปีละครั้งบ้าง ผมไม่เคยปิดบังตัวตน  ใครอยากรู้ที่อยู่ อยากรู้เบอร์ ติดต่อคุยกับผม ถามไปที่สำนักพิมพ์ได้เลย  ผมยินดีคุยด้วยทุกคน  ด้วยเหตุนี้ผมจึงกล้าพูดว่ามีเพื่อนอยู่ทั่วประเทศและคนเหล่านี้แหละที่ให้กำลังใจตลอดมา”

ผมคิดว่างานเขียนต้องมีหลากหลาย เพื่อตอบสนองความต้องการของคนอ่านที่มีหลายแบบ เพราะว่ารสนิยมในการอ่านของคนเราไม่เหมือนกัน  บางคนชอบอ่านเรื่องชีวิต ความรัก  เรื่องสะท้อนสังคม เรื่องป่า เรื่องผี  เรื่องลึกลับ ฯลฯ คนอ่านจะได้มีโอกาสเลือกอ่านงานเขียนที่เขาชอบ

ครั้งนั้นเมื่อปี 2560 ที่วัธนา  บุญยังพูดกับผม เขามีผลงาน 43 เล่ม ณ วันนี้เขามีผลงานเล่มที่  45  คือรวมเรื่องสั้น “เดียวดายในไพรกว้าง”  เขาเขียนไว้ในคำนำผลงานเล่มล่าสุดว่า...

“...พลังที่ส่งให้มีแรงเขียน แม้แก่และป่วยไข้ ไม่ใช่ใครที่ไหน แต่เป็นนักอ่านทั้งหลายที่ให้กำลังใจติดตามซื้อหนังสืออ่าน นอกจากได้สื่อสารกันผ่านจดหมายและตอนหลังทางออนไลน์แล้ว กิจกรรมเดินป่าที่จัดให้คนรักป่า รักหนังสือเรื่องป่ามาพบกันหลายสิบครั้ง ยิ่งทำให้ความผูกพันระหว่างนักเขียนกับนักอ่านใกล้ชิดสนิทสนมกันมากขึ้น

เหนือสิ่งอื่นใด ความภาคภูมิใจในงานเขียนที่ทำต่อเนื่องมาสี่สิบห้าปี มีหนังสือรวมทั้งเล่มสุดท้ายนี้ 45 เล่มพอดี ผลงานเหล่านี้มีส่วนช่วยให้นักอ่านทุกเพศทุกวัยที่มีอยู่ทั่วประเทศกลายเป็นคนสนใจธรรมชาติและวิถีชีวิตของผู้คนในอดีต นักอ่านหลายคนหันมาสนใจธรรมชาติและ สิ่งแวดล้อม กลายเป็นคนรักป่า รักธรรมชาติไปด้วย นี่คือความสุขอันยิ่งใหญ่ของคนเขียนหนังสือเล็ก ๆ คนหนึ่ง”

นักเขียนมีผลงานมากมายและหลากหลายขนาดนี้ ไม่ใช่คนเขียนหนังสือเล็ก ๆ แล้ว ไม่ง่าย...ไม่ง่ายเลยกว่าจะบ่มเพาะชื่อเสียงจนถึงวันนี้ได้  ต้องทำงานอย่างทุ่มเททั้งหัวใจเลยทีเดียว

ความสุขของวัธนา บุญยังนอกจากเขียนหนังสือแล้ว สิ่งที่ขาดไม่ได้ในชีวิต เปรียบได้กับปัจจัยที่ 5 ก็คือการเดินทางและการเดินป่า ซึ่งเขาจะเดินป่ากับคณะทุกปี  ผู้ร่วมเดินป่าล้วนเป็นแฟนหนังสือของเขา ทั้งชายและหญิงหลายวัยด้วยกัน รวมทั้งลูกศิษย์ชั้นม.6 ที่เขาเคยสอนครั้งที่เป็นครู ซึ่งมีหลากหลายอาชีพมาก

“ผมมีความสุขกับลูกศิษย์ ตั้งชุมนุมนิยมไพร พาเด็กไปเดินป่า  นอนในป่า มาเกือบทุกปีผมชอบเดินทางท่องเที่ยว ทั้งเดินทาง  เที่ยวป่าและเขียนหนังสือ  เนื่องจากสมัยเด็กเคยอดอยากมามากแล้ว ไปไหนมา ก็เอาเขียนหนังสือ  ผมหมดเงิน เพราะการเดินทาง  เงินทองหมดแล้ว ก็หาเอาใหม่ ตายแล้วเอาอะไรไปไม่ได้  แม้แต่ร่างกายก็ไม่ใช่ของเรา”

วัธนา บุญยังใช้ชีวิตโดยไม่ประมาทมาตลอดตั้งแต่รุ่นหนุ่ม ไม่ว่าจะเป็นการดื่ม การเที่ยว เรื่องนี้เขาบอกว่าอยู่ที่สติสัมปชัญญะ คนเราต้องใช้ชีวิตอย่างมีสติ  ไม่ประมาทกับชีวิต แม้กระทั่งร่างกายของเขาก็ไปบริจาคให้โรงพยาบาล

“ผมไม่อยากให้ใครเดือดร้อน จึงบริจาคร่างกายให้โรงพยาบาลธรรมศาสตร์ไว้แล้ว ตอนเป็นครูเป็นได้แค่ครูน้อย ตายแล้วขอเป็นอาจารย์ใหญ่สักที”เขาพูดอย่างติดตลก หากชวนคิดอยู่ในที

ในวันนี้สุขภาพของวัธนา บุญยังไม่อำนวย เหมือนแต่ก่อน  พยายามถนอมสุขภาพไว้ เพื่อทำงานเขียนที่เขารัก เพราะการเขียนหนังสือนอกจากเป็นความสุขแล้ว ยังเป็นยาขนานเอกที่ช่วยหล่อเลี้ยงจิตใจของเขา  ส่วนยาอีกขนานหนึ่งก็คือ เพื่อน แฟนหนังสือและลูกศิษย์

“พวกเขามาเยี่ยมบ่อยๆ  คุยไลน์  เฟซ กันทุกวัน  ถ้าผมว่างก็ไปนอนค้างบ้านเขาชะเมา  พาแฟนหนังสือและลูกศิษย์ไปด้วย  ที่นี่วิวสวยมาก มองเห็นเขาชะเมาเขียวครึ้ม บรรยากาศดีมาก  มีความสุขที่ได้นั่งดูภูเขาและป่า มีเสียงนก  เสียงชะนี ”

บ้านพักบนเขาชะเมาที่เขาสร้างไว้เป็นที่พักผ่อน อันเป็นน้ำพักน้ำแรงจากการเขียนหนังสือของเขา ตั้งอยู่ในเขตอำเภอแก่งหางแมว จังหวัดจันทบุรี เพื่อน แฟนหนังสือและลูกศิษย์ต่างรู้จักดี คนคุ้นเคยกันแวะเวียนไปพักกันหลายคน  จนติดใจในเสน่ห์อันมีมนต์ขลังของเขาชะเมา กระทั่งบางคู่ความรักลงตัวที่นี่

ไม่เพียงแต่งานเขียนแนวพงไพรของวัธนา บุญยัง ทำให้คนรักในการอ่านเท่านั้น  แต่ยังให้ให้ประโยชน์กับคนอ่านหลายอย่าง ทั้งเรื่องป่า สัตว์และวิถีชีวิตของผู้คน ที่สำคัญ ทำให้คนอ่านเกิดความรักในธรรมชาติและต้องการช่วยกันอนุรักษ์ไว้

นอกจากนี้วัธนา บุญยัง เขียนหนังสือแล้ว เขายังไปบรรยายเรื่องราวเกี่ยวกับป่าในที่ต่าง ๆ  เพื่อให้ความรู้ความเข้าใจกับคนในสังคม  นักเขียนที่สร้างผลงานที่มีประโยชน์มากมายและอายุอานามขนาดนี้  เหมาะสมเหลือเกินที่จะได้รับยกย่องให้ศิลปินแห่งชาติ 

คนเราสักกี่คนที่เลือกทำสิ่งที่ต้องการในชีวิตได้อย่างเสรีและมีความสุข แล้วยังแบ่งปันความสุขนั้นเป็นตัวหนังสือ จนผลงานเป็นเป็นที่ยอมรับเฉกเช่นนักเขียนแนวพงไพรนามกะฉ่อนที่ชื่อวัธนา บุญยัง        

 

“เมื่อคุณรักใครบางคน  สิ่งที่ดีที่สุดที่คุณสามารถให้ได้คือการมีตัวตนของคุณ  คุณจะสามารถมีความรักได้อย่างไร ถ้าคุณไม่ได้อยู่ตรงนั้น”(ติช  นัท ฮันห์)