ทีมข่าวคิดลึก เสียงวิพากษ์วิจารณ์จาก "นักการเมือง"ที่มีต่อ "กติกาใหม่" ยังคงดังอื้ออึงอยู่เป็นระยะ ทั้งโดยเปิดเผยไปจนถึงการขยายความผ่านโลกออนไลน์ ตามแนวคิด และแนวอุดมการณ์ของแต่ละฝ่ายแต่ละกลุ่ม และในบางครั้งบางคราวที่นักการเมืองในฐานะ "ผู้เล่น" อาจจะรู้สึก "รับไม่ได้" กับกฎกติกาในบางประเด็น จากการร่างรัฐธรรมนูญ จนถึงล่าสุดคือสาระ ที่กำลังจะมีการเสนอเพื่อที่ "คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ" หรือ กรธ.จะนำไปพิจารณาบรรจุเอาไว้ในกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญทั้ง 4 ฉบับ แต่ดูเหมือนว่าที่สุดแล้วการงัดง้างและเสียงท้วงติงจากนักการเมืองอาจไม่ใช่ "เงื่อนไขสำคัญ" ที่จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงอย่างใดอย่างหนึ่งได้อีก ! หลักใหญ่ใจความที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้กำหนดเอา ไว้คือการเดินหน้าไปตามโรดแมปนั่นคือการคืนอำนาจให้กับประชาชนด้วยการ ให้มีการเลือกตั้งในราวปลายปี 2560 โดยล่าสุดคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ได้ออกมาส่งสัญญาณว่าการเลือกตั้งอาจจะเร็วขึ้น โดยไม่มีการลากยาวไปถึงปี 2561 เมื่อ คสช.กำหนด "หลักไมล์"ชัดเจนเพื่อเป็น "หลักประกัน" ต่อทั้งประชาชนในประเทศ และนานาชาติให้เกิดความมั่นใจว่า คสช.จะไม่สืบทอดอำนาจตามที่มีหลายฝ่ายวิตกกังวลแล้วยังพยายามทำให้บรรยากาศในบ้านเมืองอยู่ในความสงบเพื่อให้เกิดความพร้อมสำหรับการเลือกตั้งครั้งใหม่อย่างเต็มที่ ดังนั้น นักการเมืองทุกพรรคจึงต่างมีความหวัง ไม่ว่าจะเป็นพรรคเพื่อไทย พรรคใหญ่อันดับหนึ่งที่ถือเป็นพรรคการเมืองที่อยู่ตรงข้ามกับคสช.เอง บางส่วนในพรรคก็ยังเชื่อมั่นในฐานเสียงที่ทั้ง "ทักษิณ ชินวัตร" และ "ยิ่งลักษณ์ชินวัตร"สองอดีตนายกรัฐมนตรี ได้เคยทำเอาไว้ แม้ลึกๆ แล้วหลายคน ในพรรคเองต่างรู้ดีว่า โอกาสที่พรรคจะได้เป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาลนั้น แทบเป็นไปได้ยากเต็มทีก็ตาม อย่างไรก็ดี บรรยากาศทางการเมืองเวลานี้ กำลังถูกกลบด้วยกระแสของการตรวจสอบ ทั้งการตรวจสอบโดยองค์กรและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดูแลโดยตรง ไปจนถึงการตรวจสอบระหว่างฝ่ายการเมืองด้วยกันเอง หรือแม้แต่ว่ากันว่าปฏิบัติการเขย่ากันเองระหว่าง "บิ๊กทหาร" ด้วย การนำข้อมูล"วงใน" ทั้งประเด็น "ฝายแม่ผ่องพรรณพัฒนา" ที่เชื่อมโยงไปยังภรรยา"พล.อ. ปรีชา จันทร์โอชา" อดีตปลัดกระทรวงกลาโหม น้องชาย พล.อ.ประยุทธ์จันทร์โอชานายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. จนมาถึงรายล่าสุดกรณี "บิ๊กป้อม" พล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม ใช้งบประมาณ 20.9 ล้านบาท เหมาลำเครื่องบินเดินทางไปประชุมที่ฮาวาย ประเทศ สหรัฐฯ มีเจ้าหน้าที่ร่วมคณะ 38 คน แน่นอนว่าสิ่งต่างๆเหล่านี้ หากเกิดขึ้นในห้วงใกล้ถึงวันเลือกตั้งในปี2560 ย่อมไม่เป็นการดีต่อ "คะแนนนิยม" ของ พล.อ.ประยุทธ์ และ คสช.อย่างไม่ต้องสงสัย เพราะนาทีนี้ประเด็นที่ว่าด้วยความถูกต้องเหมาะสม นั้นถือว่ามีความสำคัญมากกว่าบรรทัดฐานที่กรอบกฎหมายกำหนดเอาไว้ โดยเฉพาะต่างเป็นบุคคลสำคัญ ที่อยู่ใกล้ชิดแวดล้อม พล.อ.ประยุทธ์ทั้งสิ้น ยิ่งทำให้ทั้งฝ่ายที่สนับสนุนและฝ่ายตรงข้ามเกิดความคลางแคลงใจว่ารัฐบาลชุดนี้จะสามารถปราบทุจริตได้จริงหรือไม่ มากน้อยแค่ไหน จนที่สุดแล้ว ภาพของว่าที่นายกฯคนที่ 30 ของพล.อ.ประยุทธ์ จะกระทบไปโดยปริยาย ดังนั้นสถานการณ์ทางการเมืองณ เวลานี้ บรรดาเซียนการเมืองหลายต่อหลายคนต่างยอมรับว่า มีอีกหลายเหลี่ยมมุมที่ต้องพินิจพิเคราะห์ ว่าใครจะจับขั้วกับใครเพื่อเตรียมตัวตั้งรัฐบาลเพราะอุบัติเหตุทางการเมือง นั้นเกิดขึ้นได้เสมอ เพราะอย่างน้อยที่สุด ใครจะคาดคิดว่าเรตติ้งของ พล.อ.ประยุทธ์จะได้รับผลกระทบจาก "พี่ๆน้องๆ"เช่นนี้ !