แสงไทย เค้าภูไทย

การนิรโทษกรรมนักศึกษาและอดีตนักศึกษาอเมริกันกว่า 43 ล้านคนที่ติดหนี้ กยศ. ของสหรัฐ กระตุ้นให้หลายประเทศที่มีกองทุนลักษณะเดียวกันพากันตื่นตัวหันกลับมาพิจารณาหาทางช่วยเหลือนักศึกษาของตน บางประเทศดำริการศึกษาคือสวัสดิการรัฐ ที่ต้องให้ฟรี

การนิรโทษกรรมกองทุนเงินกู้ยืมเพื่อการศึกษา หัวละ 10,000 ดอลลาร์หรือกว่า 363,000  บาทของประธานาธิบดี โจ ไบเดน โดยรัฐบาลใช้หนี้แทน ส่งผลให้นักศึกษาและอดีตนักศึกษาที่ติดหนี้กองทุนฯไม่มีปัญญาใช้คืนกว่า 43 ล้านคน เป็นไทและสามารถประกอบอาชีพเลี้ยงตัวเองได้

คนไทยที่เป็นหนี้กยศ. ทั้งตนเองและใช้หนี้แทนลูกหลาน พี่น้องที่ไม่มีกำลังใช้หนี้เรียกร้องอยากให้รัฐบาลไทยเอาอย่างบ้าง

เหตุผลที่ไบเดนทุ่มเงินก้อนใหญ่ปลดหนี้เงินกู้ยืมเพื่อการศึกษา ก็คือ เพื่ออัดเงินเข้าไปในระบบผ่านการปลดหนี้ กยศ.

ทั้งนี้เพราะนักศึกษาหรืออดีตนักศึกษาที่เป็นหนี้กยศ.ส่วนใหญ่เมื่อจบแล้ว มีรายได้จากงานอาชีพไม่พอใช้จ่าย เพราะส่วนหนึ่งต้องใช้หนี้ทั้งต้น ทั้งดอกแก่ก.ย.ศ.

เงิน 10,000 ดอลลาร์ กลายเป็นเงินได้ทางอ้อมแม้จะเข้าไปกองใน กยศ.เฉยๆ แต่กลับ เป็นค่าใช้จ่าย ใช้ยังชีพ เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น แล้วยังเข้าไปหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ

เมื่อยุติการเป็นหนี้ โดยรัฐบาลเป็นผู้ปลดหนี้เอง เงินที่ต้องใช้หนี้กยศ. ก็จะกลายไปเป็นค่าใช้จ่ายภายในประเทศ( domestique expenditure) อันเป็นเครื่องยนต์ตัวสำคัญ เครื่องหนึ่งในสี่เครื่องยนต์ขับคลื่อนจีดีพีของชาติ

ค่าเช่าบ้าน หรือซื้อบ้าน ซื้อรถยนต์ ซื้อสินค้าและบริการต่างๆของลูกหนี้ กยศ.อเมริกัน 43  ล้านคน รวมกันแล้วเป็นเงิน 430,000 ล้านดอลลาร์

เพิ่มตัวเลขให้จีดีพีให้สหรัฐฯไม่น้อยเลย

ไม่ต่างจากการแจกเงินคนไทยไปใช้จ่ายกันทั้งในโครงการคนละครึ่งขณะนี้ ทั้งโครงการไทยชนะ และอีกหลายโครงการเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ

เป็นการยัดเงินใส่มือคนไทยไปซื้อหาสินค้าและบริการดื้อๆ เหมือนกับรัฐบาลเป็นคนซื้อเสียเองโดยผ่านมือคนไทยที่เข้าร่วมโครงการ

ต่างจากเงินนิรโทษกรรมนักศึกษากู้ยืมสหรัฐ ที่เงินใช้หนี้ กยศ.ก็คือการเอาเงินรัฐกลับมาคืนหน่วยงานรัฐ

ส่วนเงินที่นักศึกษาและอดีตนักศึกษาหามาได้ แล้วใช้จ่าย ก็เป็นไปตามวัฏจักรอุปสงค์ อุปทาน เกิดห่วงโซ่อุปสงค์(demand chain)  ห่วงโซ่อุปทาน (supply chain)  

ดีมานด์ ซัพพลายขยายตัวไปทั้งระบบ

แต่แม้จะมองว่าเป็นผลดีต่อเศรษฐกิจ ทว่าก็มีนักการเมืองบางคนมองในแง่ลบ ว่าการจ่ายหนี้แทนอดีตนักศึกษาเหล่านั้น จะก่อเกิดการใช้จ่าย เพิ่มขึ้น

ราคาสินค้าจะแพงขึ้นเมื่อมีคนซื้อเพิ่มขึ้น กลายเป็นการกระตุ้นอัตราขยายตัวของเงินเฟ้อ

และยังมีอีกกลุ่มบอกว่าไม่เป็นธรรมแก่ผู้ที่จ่ายหนี้หมดไปแล้ว

แต่ไม่ว่าจะอย่างไร แผนขั้นต่อไปที่จะแก้ไขปัญหานักศึกษายากจนที่จำเป็นต้องกู้ยืมเรียนก็มีการเตรียมการอยู่

อาจจะในรูปเรียนฟรีในสาขาวิชาที่ต้องการหรือหางานทำง่าย ไม่ได้เรียนตามใจชอบเหมือนก่อน

บิล เกตส์ อภิมหาเศรษฐีเจ้าของไมโครซอฟท์ แนะนำว่า อาชีพที่เศรษฐกิจและสังคมต้องการที่สุดในทศวรรษนี้

มี 3 สายอาชีพ คือวิทยาศาสตร์ วิศวกรรมและเศรษฐศาสตร์

เป็นสายอาชีพที่แตกแขนงไปวงกว้าง อย่างวิทยาศาสตร์นั้นครอบคลุมถึงเทคโนโลยีดิจิทัล นวัตกรรมใหม่ทางวิทยาศาสตร์ในการผลิต ฯลฯ

วิศวกรรม ไม่ได้หมายถึงการก่อสร้างอย่างเดียว หากแต่หมายถึงวิศวกรรมคอมพิวเตอร์  วิศวกรรมโรงงาน ยานยนต์ ฯลฯ

ส่วนเศรษฐศาสตร์ ครอบคลุมถึงเศรษฐกิจดิจิทัล เช่นการตลาดที่เปลี่ยนจากขายหน้าร้าน แผงค้า มาเป็นออนไลน์ ฯลฯ

ในอนาคตอันใกล้ อาจจะไม่ต้องจบมหาวิทยาลัย ก็สามารถ สร้างรายได้ให้แก่ตัวเองได้หากเลือกเรียนให้ถูกทิศ ถูกทาง ถูกกับความต้องการของตลาดงาน

ความจำเป็นที่จะต้องกู้ยืมเงินเพื่อการศึกษาสูงๆก็หมดไป

การศึกษาระดับอาชีวศึกษานั้น นักศึกษาและรัฐบาลพบกันครึ่งทาง ทั้งทุนเรียนและการเข้าถึงอาชีพหลังจบได้ง่าย

เป็นการลงทุนในทรัพยากรมนุษย์ที่ถูกและได้ผลผลิตที่งดงามที่สุด