วันที่ 10 กันยายนของทุกปี เป็นวันป้องกันกาฆ่าตัวตายโลก ซึ่งนับว่าจะกลายเป็นปัญหาที่รุนแรงมากยิ่งขึ้นในสังคมไทย จากสภาพปัญหาต่างๆ และภูมิคุ้มกันทางด้านจิตใจของผู้คน ยูนิเซฟ ประเทศไทย จัดทำรายงานการศึกษารื่องการเสริมสร้างความเข้มแข็งให้ระบบและบริการสนับสนุนทางจิตใจและจิตสังคมสำหรับเด็กและวัยรุ่นในเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก ฉบับประเทศไทยร่วมกับ กรมสุขภาพจิต สถาบันวิจัยประชากรและสังคม และสถาบันเบอร์เน็ต ประเทศออสเตรเลีย มีผลการศึกษาและข้อมูลที่น่าสนใจ มานำเสนอดังนี้

จากรายงานพบว่า วัยรุ่นไทยอายุ 10-19 ปี ประมาณ 1 ใน 7 คน และเด็กไทยอายุ 5-9 ปี ประมาณ 1 ใน 14 คน มีความผิดปกติทางจิตประสาทและอารมณ์

รายงานระบุด้วยว่า ปัจจุบัน การฆ่าตัวตายคือสาเหตุการเสียชีวิตอันดับสามของวัยรุ่นไทย โดยการสำรวจภาวะสุขภาพนักเรียนทั่วโลกในส่วนของประเทศไทยเมื่อปี 2564 (2021 Global School-based Student Health Survey) พบว่า ร้อยละ 17.6 ของวัยรุ่นอายุ 13-17 ปี มีความคิดที่จะฆ่าตัวตาย

นางคยองซอน คิม ผู้อำนวยการ องค์การยูนิเซฟ ประเทศไทย กล่าวว่า ข้อมูลดังกล่าวน่าเป็นห่วงอย่างยิ่ง แต่สิ่งที่น่าเป็นห่วงกว่าคือมันอาจเป็นเพียงเศษเสี้ยวของปัญหาที่ใหญ่ยิ่งกว่า เด็กและวัยรุ่นหลายล้านคนในประเทศไทยกำลังได้รับผลกระทบจากปัญหาสุขภาพจิต ทั้งโรคเครียด โรควิตกกังวล และโรคซึมเศร้า ซึ่งเกิดจากปัจจัยมากมาย เช่น ความรุนแรง การถูกกลั่นแกล้ง ความโดดเดี่ยว ความไม่แน่นอน รวมทั้งผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 แต่น่าเสียดายที่ปัญหาดังกล่าวมักถูกบดบังเอาไว้ เนื่องจากการตีตราทางสังคมและการเข้าไม่ถึงข้อมูล การคัดกรอง การสนับสนุน ตลอดจนบริการด้านสุขภาพจิตที่เหมาะสม

ปัญหาสุขภาพจิตอาจก่อผลกระทบรุนแรงในระยะยาวต่อสุขภาพ การเรียนรู้ และการมีส่วนร่วมของเด็กและเยาวชน รวมทั้งเป็นการจำกัดความสามารถของพวกเขาในการพัฒนาตัวเองอย่างเต็มศักยภาพ

พร้อมเสนอแนะให้ประเทศไทยต้องเร่งจัดสรรงบประมาณเพิ่มเติมเพื่อยกระดับคุณภาพและความรวดเร็วของบริการสุขภาพจิตสำหรับเด็กและวัยรุ่น เพื่อหลีกเลี่ยงผลกระทบร้ายแรงต่อสุขภาพ พัฒนาการ และอนาคตของพวกเขา

เราเห็นด้วยว่า ปัญหาการฆ่าตัวตายในวัยรุ่นนั้นเป็นปัญหาที่สำคัญ และถึงเวลาที่ทุกฝ่ายจะต้องทุ่มเทในการทำงานเชิงรุก สร้างเครือข่ายเพื่อป้องปรามก่อนสายเกินไป