ณรงค์ ใจหาญ การเรียนการสอนวิชานิติศาสตร์เพื่อผลิตบัณฑิตนิติศาสตร์ออกมาทำงานในหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และเป็นนักกฎหมายที่ทำงานเกี่ยวกับกระบวนการยุติธรรมโดยตรง เป็นนักกฎหมายมหาชน นักกฎหมายธุรกิจ หรือนักกฎหมายระหว่างประเทศ ถือว่านักกฎหมายเหล่านี้มีส่วนสำคัญในการสร้างความเป็นธรรมและการบังคับใช้กฎหมายให้สอดคล้องกับหลักเกณฑ์ที่สังคมไทยกำหนด ด้วยเหตุนี้ การเรียนการสอนนิติศาสตร์ จึงไม่เพียงแต่สอนให้รู้ว่ากฎหมายเขียนว่าอย่างไร มีความหมายอย่างไร แต่ต้องชี้แนะแนวทางการใช้กฎหมายให้สามารถตอบปัญหาที่กำลังมีข้อขัดแย้งอยู่ และก่อให้เกิดความเป็นธรรมในสังคมต่อไป ในอดีตการสอนนิติศาสตร์มีสถาบันที่สอนกฎหมายไม่กี่แห่ง ส่วนใหญ่เป็นสถาบันอุดมศึกษาภาครัฐ สถานศึกษาเอกชนมีน้อยมาก แต่ในปัจจุบันการสอนนิติศาสตร์ มีอยู่หลายแห่งในประเทศไทยกล่าวได้ว่ามีมากกว่าหนึ่งร้อยแห่งทั่วประเทศ ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยภาครัฐและภาคเอกชน และเป็นทั้งระบบปิดคือ จำกัดจำนวนนักศึกษาและต้องมาเรียนในชั้นเรียนเป็นหลัก กับระบบเปิดคือ การสอนที่ใช้สื่อการสอน หรือการสอนทางไกล ไม่เน้นการฟังคำบรรยาย แต่อาจมีการสรุปคำบรรยายเพื่อทดสอบได้ในวันเสาร์อาทิตย์ ซึ่งเหมาะกับผู้ที่ทำงานแล้วแต่ต้องการศึกษาทางกฎหมายเพิ่มเติมให้มีความรู้ทางกฎหมายเพื่อนำไปใช้ในงานที่ประกอบอาชีพ ผู้ที่เข้าศึกษาส่วนใหญ่เป็นนักเรียนที่จบการศึกษาในระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย แล้วเข้าศึกษาในระดับอุดมศึกษา หลักสูตรในระดับปริญญาตรีใช้เวลาสี่ปี มีจำนวนหน่วยกิตที่เรียนประมาณ 140-148 หน่วยกิต แล้วแต่มหาวิทยาลัยจะกำหนดซึ่งถือว่าเป็นจำนวนหน่วยกิตที่มากเมื่อเทียบกับการเรียนระดับปริญญาตรีในสายสังคมศาสตร์ด้วยกัน วิธีการเรียนเน้นการทำความเข้าใจหลักกฎหมาย แนววินิจฉัยของศาล และการปรับใช้กฎหมาย รวมตลอดถึงการฝึกภาคปฏิบัติ และมีการเสริมภาษาอังกฤษเพื่อเสริมทักษะแก่นักศึกษาหลังจบไปแล้ว นอกจากนี้ ยังมีการฝึกให้นักศึกษาได้ใช้ความรู้ที่ได้เพื่อบริการสังคม อันจะทำให้เกิดความตระหนักที่จะใช้กฎหมายเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมในสังคมต่อไป เมื่อสำเร็จการศึกษาแล้ว นักกฎหมายส่วนใหญ่หากไม่ทำงาน ก็จะเรียนต่อเนติบัณฑิตหรือไม่ก็อบรมวิชาว่าความ เพื่อให้ได้ใบอนุญาตว่าความและทำงานด้านทนายความต่อไป ส่วนผู้ที่ประสงค์จะศึกษาต่อในระดับที่สูงขึ้นไปก็จะเรียนในระดับนิติศาสตรมหาบัณฑิต เพื่อจะนำไปใช้ในการทำงานหรือใช้เป็นคุณสมบัติสอบเข้าผู้พิพากษา หรือพนักงานอัยการสนามเล็กต่อไป ดังนั้นเส้นทางของการเรียนนิติศาสตร์ของไทย จึงไม่ได้หยุดเพียงระดับปริญญาตรี แต่จะต้องศึกษาต่อเนติบัณฑิต และระดับนิติศาสตรมหาบัณฑิต หรือสอบเพื่อให้ได้ใบอนุญาตว่าความเพื่อจะเป็นแนวทางในการทำงานด้านกฎหมายที่ดีต่อไป เคยมีการสอบถามผู้ใช้บัณฑิตที่จบปริญญาตรีทางนิติศาสตร์ ไม่ว่าจะเป็นสายวิชาชีพ สายธุรกิจ สายทนายความ ที่ปรึกษากฎหมาย และหน่วยงานต่างๆ ที่มีนิติกรไม่ว่าจะเป็นภาครัฐหรือภาคเอกชน พบว่าผู้ใช้บัณฑิตต้องการบัณฑิตนิติศาสตร์ที่รู้กฎหมายเป็นอย่างดี ใช้กฎหมายเป็น และคิดเป็น รวมถึงความมีคุณธรรม จริยธรรม ถือว่าเป็นคุณสมบัติที่สำคัญอย่างยิ่ง นอกจากนี้ หากนิติศาสตรบัณฑิตที่จบมานั้นมีประสบการณ์ในกฎหมายภาคปฏิบัติ หรือมีความรู้ทางภาษาต่างประเทศก็จะเป็นปัจจัยบวกที่จะเข้าทำงานได้ก่อนคนอื่น ความต้องการเหล่านี้ ถือเป็นความต้องการของตลาดแรงงานที่ต้องการผู้ที่จบกฎหมายให้เข้าไปประกอบในวิชาชีพหรือการทำงานด้านกฎหมายต่อไป ในส่วนของการตอบโจทย์การพัฒนาสังคมไทย รวมถึงการที่จะมีนักกฎหมายที่ใช้กฎหมายให้เป็นธรรม และเพื่อยังประโยชน์ให้แก่ประชาชนหรือประโยชน์สุขของสังคมเป็นหลักนั้น ถือได้ว่า นักกฎหมายมีส่วนสำคัญในการที่สร้างกลไกทางสังคมที่เหมาะสมเพื่อนำไปใช้ให้เกิดผลตามที่ผู้บริหารของประเทศ หรือประชาชนส่วนใหญ่ต้องการเพราะการผลักดันนโยบายในการพัฒนาหรือปฏิรูปประเทศ จำเป็นต้องก้าวข้ามปัญหาเดิมของประเทศ และสร้างกลไกการดำเนินงานใหม่ ๆ เพื่อให้เกิดผลในการพัฒนาต่อไป ด้วยเหตุนี้ การสร้างหรือผลิตบัณฑิตทางนิติศาสตร์ จึงต้องรองรับการพัฒนาของสังคมไทย ที่จะเข้าสู่อีกยุคหนึ่งที่มีทั้งการใช้เทคโนโลยี การติดต่อค้าขายกับต่างประเทศ และทั้งในระดับโลกและภูมิภาคอาเซียน เอเซีย ยุโรป เป็นต้น กฎหมายไทยคงจะไม่ได้ตอบโจทย์ทั้งหมด และนักกฎหมายเอง ก็จะต้องมีทัศนคติที่คำนึงถึงผลกระทบต่อการบังคับใช้กฎหมายให้เกิดความเป็นธรรม ที่เหมาะสมกับการเปลี่ยนแปลงของกระแสโลก และยังคงรักษาความเป็นธรรมในกับสังคมหรือคนที่ไม่อาจเข้าถึงความเป็นธรรมได้ควบคู่กัน ในร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ฉบับที่ผ่านประชามติ และคาดว่ากำลังจะประกาศใช้เป็นรัฐธรรมนูญฉบับถาวรในปีนี้ ได้กำหนดถึงการปฏิรูปการศึกษานิติศาสตร์ไว้ในมาตรา 258 ค (2) ซึ่งเป็นการปฏิรูปประเทศทางด้านกฎหมาย โดยให้มี"การปฏิรูปการเรียนการสอนและการศึกษาอบรมวิชากฎหมายเพื่อพัฒนาผู้ประกอบวิชาชีพกฎหมายให้มีความรอบรู้ มีนิติทัศนะ และยึดมั่นในคุณธรรม จริยธรรม ของนักกฎหมาย" จากแนวทางการปฏิรูปประเทศที่กำหนดไว้ในร่างรัฐธรรมนูญนี้เอง ทำให้เห็นว่า การเรียนการสอน ในมหาวิทยาลัย รวมถึงการอบรมวิชากฎหมายที่จะพัฒนาผู้เรียนให้เข้าสู่วิชาชีพกฎหมายไม่ว่าจะเป็นผู้พิพากษา พนักงาอัยการ ตำรวจ ราชทัณฑ์ ทนายความ หรือนิติกร ย่อมต้องมีการปฏิรูปการเรียนการสอน โดยต้องการผลผลิตที่ทำให้ผู้เรียน หรือผู้เข้ารับการอบรม ได้มีความรอบรู้ ซึ่งไม่ใช่ความรู้ทางนิติศาสตร์แต่อย่างเดียวแต่เป็นผู้ที่มีความรอบรู้ในศาสตร์อื่นที่เกี่ยวข้องกับกฎหมายที่นักกฎหมายจะต้องคำนึงถึง เพราะกฎหมายไม่ได้อยู่ได้อย่างโดดเดี่ยวในสังคม นอกจากนี้ ในด้านวิธีคิด จะต้องมีนิติทัศนะ ซึ่งมาจากคำว่า juristic method อันเป็นการคิดในเชิงระบบคิดในทางนิติศาสตร์ มีนิติวิธี และอิงหลักกฎหมาย หลักความเป็นธรรม และอยู่ในกรอบแห่งนิติธรรม ไม่ได้ตีความหรือใช้กฎหมายตามอำเภอใจหรือตามผลประโยชน์ส่วนตนหรือส่วนที่ตนเองรับผิดชอบต่อประโยชน์ของผู้นั้นอยู่ โดยไม่ได้คำนึงถึงความเป็นธรรมที่กฎหมายกำหนด ส่วนสุดท้ายคือ การสร้างให้นักนิติศาสตร์ต้องมีจิตสำนึกที่จะใช้กฎหมายโดยยึดมั่นในคุณธรรม และจริยธรรม ซึ่งทั้งสองกรณีนี้เป็นหลักที่นักกฎหมายทุกอาชีพต้องยึดมั่นไว้ประจำใจและทำให้ได้ เพราะหากไม่ได้ยึดมั่นในสองหลักนี้แล้วการใช้กฎหมายจะเอนเอียงไปไม่เป็นไปตามที่กฎหมายบัญญัติ ซึ่งจะก่อให้เกิดผลเสียแก่ทั้งคู่ความ และผลกระทบต่อสังคมส่วนรวม ดังที่ประเทศไทยเราเคยเกิดปัญหาความขัดแย้งที่แก้ไขไม่ได้มาแล้ว ส่วนหนึ่งเกิดจากการตีความกฎหมายที่ไม่ได้ตั้งอยู่ในความมีคุณธรรมและจริยธรรมนั่นเอง แนวทางการปฏิรูปการเรียนการสอนนิติศาสตร์นี้เอง นำไปสู่คำถามที่ว่า การเรียนการสอนนิติศาสตร์ทั้งในระดับปริญญาตรี ระดับที่สูงขึ้นไปทั้งด้านวิชาชีพ และวิชาการนั้น ได้ทำให้นักนิติศาสตร์ มีความรอบรู้ นิติทัศนะ และมีการยึดมั่นในคุณธรรมและจริยธรรมเพียงใด การสอนแบบบรรยาย ยกตัวอย่างคดีมาอธิบาย และสอบตามหลักกฎหมายและแนวปฏิบัติของคำพิพากษา สามารถสร้างนักกฎหมายให้ได้ครบสามคุณลักษณะที่รัฐธรรมนูญได้กำหนดไว้หรือไม่ อาจารย์ผู้สอนกฎหมายเองมีความจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนการสอนจากการใช้การบรรยายเป็นหลัก มาเป็นการยกกรณีศึกษามาให้นักศึกษาปรับบท และให้นักศึกษาวิเคราะห์ถึงผลกระทบต่อการที่กฎหมายนำไปใช้ในสังคมเพื่อจะลดปัญหาความขัดแย้ง ภายใต้กรอบของกฎหมายเพียงใด หรือหากกรอบของกฎหมายไม่เป็นธรรมแล้วจะต้องมีแนวทางในการปรับปรุงหลักเกณฑ์เพื่อก่อให้เกิดความเป็นธรรมอย่างไร สิ่งเหล่านี้คงต้องปรับเปลี่ยนเนื้อหาในการเรียนการสอน จำนวนวิชาที่ต้องมีการบูรณาการ กับศาสตร์อื่นๆ การเรียนในเชิงนิติปรัชญาและสังคมวิทยากฎหมาย เพื่อให้ทราบถึงผลกระทบต่อการนำกฎหมายมาใช้หรือการสร้างกฎหมายให้สอดคล้องกับปริบทของสังคม เศรษฐกิจ การเมืองที่เปลี่ยนแปลงเป็นพลวัตน์ ในขณะเดียวกัน การปลูกฝังจิตสำนึกของการตระหนักถึงความเป็นธรรม จริยธรรม ไม่อาจสอนได้ด้วยคำพูดหรือคำสอน แต่ต้องให้นักศึกษาได้สัมผัสกับข้อเท็จจริงในสังคมแล้วมีผู้ชี้นำเพื่อให้เกิดความตระหนักในเรื่องเหล่านี้ แนวทางการปรับปรุงหลักสูตรทั้งระบบ และความพร้อมใจกันของผู้บริหารการศึกษานิติศาสตร์ในทุกระดับทั้งทางวิชาการและทางวิชาชีพ ควรได้มีการแลกเปลี่ยนทัศนะและแนวทางในการปรับปรุง ตลอดจนวิธีการเรียนการสอนที่เน้นการฝึกภาคปฏิบัติ ฝึกการวิเคราะห์ รวมถึงการวัดผลในเชิงวิเคราะห์ คิดเป็น ตอบโจทย์ที่เป็นปัญหาสังคมได้อย่างบูรณาการ จึงเป็นเรื่องที่ต้องพัฒนาต่อไป ร่วมกัน เพื่อให้การปฏิรูปการศึกษากฎหมายเพื่อผลิตนักกฎหมายที่รอบรู้ มีนิติทัศนะ และใช้กฎหมายโดยยึดมั่นต่อหลักคุณธรรมและจริยธรรม อันจะนำประเทศในเจริญก้าวหน้าไปอย่างมั่นคงต่อไป