ในลิ้นชักความทรงจำ / ยูร กมลเสรีรัตน์

การที่วัธนา บุญยังเขียนเรื่องเกี่ยวกับป่าดงพงไพร จนมีผลงานมากมายเป็นที่ประจักษ์  เนื่องจากเขาได้อ่านผลงานแนวนี้ของนักเขียนรุ่นครูหลายคนได้แก่น้อย  อินทนนท์หรือมาลัย  ชูพินิจ,น้อย  อภิรุม(หม่อมหลวงต้อย  ชุมสาย),ชาลี  เอี่ยมกระสินธุ์,สังคีต  จันทนโพธิ เป็นอาทิ  หากเขาประทับใจที่สุดคือน้อย  อินทนนท์  เพราะเขียนถึงป่าสมัยโบราณ ซึ่งเป็นป่าดงดิบ เดี๋ยวนี้ไม่มีแล้ว

“ที่ประทับใจที่สุดคือน้อย  อินทนนท์(นามปากกาของมาลัย ชูพินิจ  ผู้เขียน ล่องไพร,ลูกไพร)  เพราะคือป่าจริง ๆ เดี๋ยวนี้ไม่มีป่าแบบนั้นแล้ว  คนเขียนมีประสบการณ์จริง  มีคนเขียนเรื่องป่าที่ไม่รู้จริง ไปเขียนเรื่องป่าจากที่ได้ฟังเขาเล่ามาก็มี  อ่านแล้วมันไม่สมจริง  ผมเที่ยวป่าตั้งแต่ยังเด็ก ก่อนปี 2500 ไปกับพ่อแม่ เป็นป่าทึบ ป่าดงดิบ เสือช้างเดินเกลื่อน  เลยติดใจ รักป่ามาตั้งแต่นั้น  ผมอ่านเรื่องของน้อย  อินทนนท์ แล้วเกิดความชอบ ชอบมากขึ้น เมื่อไปเรียนมหาวิทยาลัยเชียงใหม่”

เชียงใหม่เมื่อหลายสิบปีที่แล้ว วัธนา บุญยังมีความประทับใจมาก  เพราะห้อมล้อมด้วยอากาศที่บริสุทธิ์ นั่งรถไฟลอดถ้ำขุนตาน จะมองเห็นทั้งสองฟากอุดมสมบูรณ์ด้วยต้นไม้ นั่นคือเหตุผลที่เขาอยากไปเรียนที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่...

“ผมอยากไปเรียนมช.  แต่ไม่รู้จะเลือกเรียนคณะอะไรดี สมัยนั้นไม่มีครูแนะแนว  เด็กบ้านนอกอย่างผมไม่รู้หรอกว่าคณะศึกษาศาสตร์ เป็นสาขาเกี่ยวกับอะไร เห็นชื่อคณะศึกษาศาสตร์  เพราะดี หารู้ไม่ว่าเป็นวิชาครูที่ตัวเองหนีการเรียนครูมาตั้งแต่ม.ศ. 3 แล้ว”

เขาเล่าถึงอดีตสมัยเรียนอยู่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่อย่างมีอารมณ์ขัน  เขาบอกว่าหอพักมหาวิทยาลัยอยู่เชิงดอยสุเทพ เวลามองขึ้นไปจากระเบียงหอ จะเห็นหมอกสีขาวทะมึนอยู่บนยอด “บรรยากาศซึ้งมาก  เวลาอากาศร้อน บางครั้งขับขับมอเตอร์ไซค์เก่า ๆ ขึ้นไปนอนจับเมฆเล่นบนดอย”

นับว่าเป็นความสุขใจอย่างหาที่เปรียบไม่ได้  เพราะเขาเป็นคนช่างฝัน ช่างจินตนาการมาตั้งแต่เด็กและความช่างฝันนี่เองที่ทำให้เขาอยากเขียนหนังสือ  เพราะการเขียนหนังสือทำให้เขามีความสุขที่ได้บอกเล่าเรื่องราวกับคนอื่น

“ผมหัดเขียนหนังสือตอนเรียนอยู่ ปี 1 เขียนแล้วเอาไปให้ธงชัยอ่าน  เขาหัวเราะทุกที ระหว่างเรียนอยู่มช. ผมก็พยายามเขียนอยู่เรื่อย ๆ แต่ส่งไปที่ไหนไม่เคยได้ลง  งานเขียนของผมมาเริ่มจริง ๆ หลังจากจบมหาวิทยาลัยแล้วตั้งหลายปี”

นั่นคือคำบอกเล่าที่ได้กล่าวถึงอย่างละเอียดแล้วในตอนที่ 1  จากแรงบันดาลใจในการอ่านผลงานแนวป่าดงพงไพรของนักเขียนรู่นครู ประกอบกับประสบการณ์จากการท่องป่า รวมทั้งชีวิตบ้านสวนในวัยเยาว์  ทำให้วัธนา บุญยังขับเคลื่อนออกมาเป็นงานเขียนมากมายและหลากหลาย

หากส่วนใหญ่เป็นงานเขียนแนวพงไพรที่เขามีความถนัดและชื่นชอบเป็นพิเศษได้แก่ รวมเรื่องสั้น-สายน้ำไม่ไหลกลับ,บ้านร้างกลางสวน ฯลฯ

นวนิยาย-ใบไม้ร่วงในป่าใหญ่(ได้รับรางวัลชมเชยในงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติปี 2531และรางวัลชมเชย เซเว่นบุ๊คส์อะวอร์ดปี 2546 ),ป่าเปลี่ยนสี(ได้รับรางวัลชมเชย เซเว่นบุ๊คส์อะวอร์ดปี 2546),พรานคนสุดท้าย,รางเหล็กในป่าลึก ฯลฯ

สารคดี-ใบไม้ผลิที่เคมบริดจ์,ปีนภูดูดอกไม้,รอยยิ้มในป่าใหญ่,เพื่อนเก่าและเหล้าป่า, เมฆขาวและดาวสวย,ตามหาฝันที่มัณฑะเลย์ ,เรื่องเล่าจากราวไพร, ฯลฯ  นวนิยายแปล-เส้นทางเถื่อนและป่ามหากาฬ 

ณ วันนี้ชื่อเสียงของวัธนา บุญยังเป็นที่รู้จักแพร่หลายในวงกว้าง มีแฟนคลับมากมาย หนังสือติดอันดับเบสต์เซลเลอร์  แต่เขาไม่เคยลืมบรรณาธิการคนแรก...

“ผมไม่เคยลืมว่าผมมีเรื่องสั้นเรื่องแรกลงฟ้าเมืองทองของพี่อาจินต์  ไม่เคยลืมบรรณาธิการคนแรก ผมได้เกิดเพราะพี่อาจินต์” ถ้อยคำและน้ำเสียงของเขาแสดงถึงความยกย่องระคนภาคภูมิใจ

วัธนา บุญยังออกตัวว่า  แม้เขาไม่เคยได้รับรางวัลใหญ่อะไรเหมือนคนอื่น  แต่เขาก็มีความภูมิใจที่ได้กำลังใจจากผู้อ่านเสมอมา

“ผมได้กำลังใจจากนักอ่านที่คอมเม้นท์ ทำให้อยากเขียนหนังสือต่อไป  มีแฟนหนังสือคอมเม้นท์ในเฟซบุ้คว่า Old Writer Never  Dies นักเขียนแก่ไม่มีวันตาย  หลังจากหยุดเขียนช่วงป่วย  รักการเขียนก็ต้องเขียน หนังสือของผมพิมพ์ออกมาแล้วขายได้ ถึงจะไม่ใช่ขายดี แต่อย่างน้อยคนพิมพ์ก็ไม่ขาดทุน” 

รางวัลอะไรเล่าจะมีความสำคัญเท่ากับรางวัลจากผู้อ่าน การที่ผุ้อ่านให้การต้อนรับ นั่นแหละคือรางวัลอันสูงสุดในชีวิตและเป็นรางวัลที่น่าภาคภูมิใจแล้ว ที่เขาบอกว่าผลงานของเขาขายได้ ไม่ใช่ขายดีนั้น เขาถ่อมตัวมากกกว่า

ผลงานของวัธนา บุญยังได้รับการต้อนรับจากแฟนหนังสือเพียงใด วัดได้จากผลงานแต่ละเล่มที่ได้รับการพิมพ์ซ้ำได้แก่ ใบไม้ร่วงในป่าใหญ่ พิมพ์ 11 ครั้ง รอยยิ้มในป่าใหญ่ พิมพ์ 7

ครั้งจากป่าโปร่งถึงดงดิบพิมพ์ 6 ครั้ง เรื่องเล่าจากราวไพร พิมพ์ 5 ครั้ง พรานคนสุดท้าย พิมพ์ 7 ครั้ง เพื่อนเก่าและเหล้าป่า พิมพ์ 6 ครั้ง เรื่องเล่าจากป่าช้า พิมพ์ 9 ครั้ง ผลงานของเขาส่วนใหญ่ โดยเฉลี่ยแล้วได้รับการพิมพ์ซ้ำมากกว่า 3 ครั้ง ยังงี้จะไม่เรียกว่าหนังสือขายดีได้ยังไง จนมีเงินเป็นฟ่อน ชีพจรลงเท้าอยู่บ่อยครั้ง เพราะสิ่งที่ขาดไม่ได้ในชีวิตของเขาก็คือการการเดินทางและการเดินป่า ซึ่งเขาจะจัดเดินป่ากับคณะทุกปี 

“ทั้งเดินทาง เที่ยวป่าและเขียนหนังสือ สมัยเด็กเคยอดอยากมามากแล้ว ถึงวันนี้ผมจึงไม่คิดจะเก็บเงินอีกต่อไป เงินทองหมดแล้ว ก็หาเอาใหม่ ตายแล้วเอาอะไรไปไม่ได้ แม้แต่ร่างกายก็ไม่ใช่ของเรา แต่ผมก็ไม่ประมาท ไม่อยากให้ใครเดือดร้อน จึงบริจาคร่างกายให้โรงพยาบาลรามาฯไว้แล้ว ตอนเป็นครูเป็นได้แค่ครูน้อย ตายแล้วขอเป็นอาจารย์ใหญ่สักที”เขาพูดติดตลกในประโยคท้าย

เหตุที่วัธนา บุญยังหยุดเขียนหนังสือไปช่วงหนึ่ง เพราะล้มป่วยนั้น เขาป่วยหนักเป็นเวลาถึง 4 ปีด้วยโรคมะเร็ง จนไม่คิดว่าจะรอดชีวิต แต่ก็เหมือนปาฏิหาริย์ ดังที่เขาบอกเล่า...

“ผมป่วยเป็นมะเร็ง 5  ปีเต็ม ตั้งแต่ปี 55 ถึงปี 59  ผมนอนรักษาตัวที่โรงพยาบาล คิดว่าตายแน่นอน แต่ผมก็รอดมาได้อย่างปาฏิหาริย์  ผมกลับมาเขียนหนังสืออีกครั้งปี 60 ลงต่วย’ ตูนของพี่ต่วย(วาทิน ปิ่นเฉลียว เจ้าของและบรรณาธิการ-ล่วงลับแล้ว)

ช่วงนั้นเหมือนตายแล้วเกิดใหม่และคงเป็นจังหวะของชีวิต  แดง ชารี(นักแปลชื่อดัง) เพื่อนโดม(โดม วุฒิชัย-นักเขียนและกวี) รู้จักกันที่บ้านพี่ต่วย ชมรมวันเสาร์ต่วย’ ตูน เขาชวนไปเขียนที่หนังสือแปลก 

“แดง  ชารีบอกว่าราช  เลอสรวง(นักเขียนการ์ตูนชื่อดังเช่น เรื่อง สิงห์ดำ ฯลฯ) ดูแลอยู่  ผมเขียนนิยายป่าชุด ‘ไพรมืด’ ลงแปลก พอเขียนจบ คนอ่าน ใครต่อใครไม่อยากให้จบ เลยเขียนต่อเนื่องอีกเป็น 3 ภาค จนรวมเล่มได้ 3 เล่ม หลังจาก ‘ไพรมืดจบ’ ผมยังไม่มีเรื่องใหม่ให้  ราช  เลอสรวงขอเรื่องป่าเก่า ๆ ไปลง เขาก็ลงเรื่อย ๆ ก็พอได้เงินใช้นะ”

มีคนในวงวรรณกรรมบางคนพูดกระแหนะกระแหนว่า เขาเขียนได้แต่เรื่องป่าดงพงไพร ไม่มีเรื่องเพื่อชีวิต(ไม่รู้ว่าเพื่อชีวิตใคร?) และงานเขียนของเขาไม่ใช่วรรณกรรม  แล้วคนที่พูดรู้ความหมายของคำว่า “วรรณกรรม”แค่ไหน

รวมเรื่องสั้น “สายน้ำไม่ไหลกลับ” ได้พิสูจน์ให้ถึงฝีไม้ลายมือของเขามาแล้ว พิมพ์ซ้ำถึง 4 ครั้ง  นักเขียนน้อยคนที่หนังสือรวมเรื่องสั้นจะได้รับการพิมพ์ซ้ำ อย่าว่าแต่พิมพ์ซ้ำเลย ถ้าไม่ได้รางวัลใหญ่ ขายไม่ออกด้วย

ก่อนปี 2559 วัธนา บุญยังได้แสดงฝีมือในการเขียนเรื่องสั้นสะท้อนปัญหาของสังคมเรื่อง “ปรากฏการณ์ที่บ้านนา” ลงช่อกระเกดและเป็นช่อการะเกดเล่มสุดท้าย ก่อนจะปิดตัวลง “ เรื่องสั้น

‘ปรากฏการณ์ที่บ้านนา’เป็นเรื่องที่สะท้อนให้เห็นถึงความทุกข์ยากของชาวนาที่ถูกกดราคาข้าว นักการเมืองยุคนั้นได้ยื่นมือเข้ามาช่วยแก้ปัญหาให้ชาวนาด้วยการจำนำข้าว

การที่จะผ่านด่านช่อการะเกด ซึ่งมีสุชาติ  สวัสดิ์ศรี หรือสิงห์สนามหลวง เป็นบรรณาธิการ ไม่ง่ายหรอก คนในแวดวงรู้ดีว่าเข้มเพียงใด

 

“สติปัญญาไม่ใช่ผลของการศึกษาในโรงเรียน แต่คือผลจากการแสวงหาชั่วชีวิต”(อัลเบิร์ตไอน์สไตน์)