การแพร่ระบาดที่ยืดเยื้อของไวรัสโควิด-19 ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อเศรษฐกิจไทย เมื่อเจ็บแต่ไม่จบ แต่ต้องเจ็บซ้ำๆ ทำให้หลายกิจการปิดตัวลง แรงงานตกงานและกลับภูมิลำเนา

เมื่อแนวโน้มสถานการณ์ที่ต้องอยู่กับโควิด ทำให้มีการปรับเปลี่ยนมาตรการในการควบคุมการแพร่ระบาดปัจจุบันเริ่มมีสัญญาณดีสำหรับเศรษฐกิจไทย ที่ค่อยๆมองเห็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ ที่สำคัญคือข่าวดีที่คนไทยว่างงานลดลง

จากรายงานของสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ พบว่าอัตราการว่างงานในช่วงไตรมาส 2/2565 อยู่ที่ 1.3% หรือมีจำนวนผู้ว่างงาน 5.5 แสนคน ปรับตัวดีขึ้นจากไตรมาสก่อนที่อัตราว่างงานอยู่ที่ 1.53% หรือมีจำนวนผู้ว่างงาน 6.07 แสนคน สอดคล้องกับผู้ว่างงานในระบบประกันสังคมที่มีจำนวน 2.45 แสนคน หรือ 2.17% ของผู้ประกันตนทั้งระบบ ปรับตัวดีขึ้นจากไตรมาสก่อนที่มีผู้ว่างงานในระบบอยู่ 3.05 แสนคน หรือ 2.72% ของผู้ประกันตนทั้งระบบ

นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒน์ เปิดเผยว่า สถานการณ์การว่างงานในกลุ่มผู้ที่เคยทำงานมาก่อนและกลุ่มไม่เคยทำงานมาก่อนปรับตัวลดลง ขณะที่ผู้ที่ว่างงานเกิน 1 ปี ปรับตัวลดลงด้วย และเมื่อพิจารณาอัตราการว่างงานตามระดับการศึกษา พบว่าอัตราการว่างงานทุกระดับการศึกษาปรับตัวลดลงทั้งหมด ซึ่งเป็นการยืนยันว่าเศรษฐกิจไทยมีการฟื้นตัวเรื่อยๆ

ขณะที่สถานการณ์ด้านแรงงานในช่วงไตรมาส 2/2565 มีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยผู้มีงานทำมีจำนวนทั้งสิ้น 39.0 ล้านคน ขยายตัว 3.1% จากการขยายตัวของการจ้างงานนอกภาคเกษตรกรรมที่มีการจ้างงาน 27.4 ล้านคน ขยายตัว 4.9% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยเฉพาะสาขาการผลิต สาขาขายส่งขายปลีก และสาขาการขนส่งหรือเก็บสินค้าที่ขยายตัวได้ 6.1% ,12.1% และ 4.9 %ตามลำดับ เป็นผลมาจากการบริโภคและการส่งออกที่ขยายตัวได้ดี

สำหรับสาขาที่มีการจ้างงานลดลง ได้แก่ สาขาก่อสร้าง สาขาโรงแรมและภัตตาคารโดยการจ้างงานหดตัว 5.4% และ 2.6 % ตามลำดับ ซึ่งการจ้างงานที่ชะลอตัวในสาขาการก่อสร้าง เนื่องจากความกังวลจากภาวะเศรษฐกิจที่แม้จะปรับตัวดีขึ้น แต่ยังมีความไม่แน่นอนสูง ขณะที่สาขาโรงแรมและภัตตาคารการจ้างงานปรับตัวลดลง เนื่องจากภาคการท่องเที่ยวยังอยู่ในช่วงเริ่มฟื้นตัว

ส่วนภาคเกษตรกรรมมีการจ้างงาน 11.7 ล้านคน ลดลง 0.8% ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการเคลื่อนย้ายแรงงานจากภาคเกษตรกรรมกลับไปทำงานในสาขาเดิมตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ ชั่วโมงการทำงานปรับตัวดีขึ้นใกล้เคียงกับช่วงปกติ โดยภาพรวมและภาคเอกชนอยู่ที่ 42.3 และ 46.1 ชั่วโมง/สัปดาห์ เพิ่มขึ้นต่อเนื่องและใกล้เคียงกับช่วงเดียวกันของปี 2562 ที่เป็นช่วงก่อนการแพร่ระบาดของโควิด-19

เราเห็นว่า แม้สถานการณ์ด้านแรงงานจะมีแนวโน้มดีขึ้น โอกาสการจ้างงานเพิ่มขึ้น การว่างงานลดลง แต่ผู้เกี่ยวข้องต้องมีแผนสร้างงานและพัฒนาศักยภาพแรงงานในระยะยาวเพื่อให้สอดรับกับสถานการณ์การเปลี่ยนแปลง รวมทั้งดูแลกลุ่มเปราะบางให้สามารถดำรงชีวิตได้ อย่างมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น