กระแสการลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัลเป็นที่สนใจของนักลงทุนรุ่นใหม่ ยิ่งในภาวะเศรษฐกิจเช่นนี้ ประกอบกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 หลายระลอกที่ผ่านมา ทำให้ตลาดคริปโตในเมืองไทยเติบโตแบบก้าวกระโดด จนตลาดหลักทรัพย์ต้องลงมากำกับดูแล โดยพบว่าในปี 2564 มีมูลค่าการซื้อขายคริปโตฯ ในไทยเฉลี่ยประมาณ 1.4 แสนล้านบาทต่อเดือน

อย่างไรก็ตาม นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เปิดเผยว่า เมื่อพิจารณาพฤติกรรมการลงทุนในตลาดคริปโตฯ ของคนไทย มีประเด็นที่น่ากังวลดังนี้ ผู้ลงทุนในคริปโตฯ ส่วนใหญ่เป็นคนรุ่นใหม่ที่ต้องการสร้างผลกำไรที่สูงในเวลาที่รวดเร็ว,1 ใน 5 ของผู้ลงทุนศึกษาหาความรู้เกี่ยวกับคริปโตฯ น้อย และ 25% ใช้สัญชาตญาณในการตัดสินใจลงทุน, มากกว่า 1 ใน 4 ของคนรุ่นใหม่ที่ลงทุนในคริปโตฯ ลงทุนเพื่อความสนุก บันเทิง และเข้าสังคม และนักลงทุนคริปโตฯ มากกว่าครึ่งหนึ่งใช้แพลตฟอร์มต่างประเทศซึ่งไม่สามารถกำกับดูแลได้ สะท้อนให้เห็นถึงความเสี่ยงในการลงทุนของนักลงทุนรุ่นใหม่ในปัจจุบัน

ทั้งนี้การลงทุนเป็นสิ่งที่ควรสนับสนุนแต่ผู้ลงทุนต้องศึกษาหาความรู้ให้รอบด้านก่อนการตัดสินใจลงทุน โดยเฉพาะสินทรัพย์ประเภทนี้ซึ่งมีความเสี่ยงการลงทุนในสินทรัพย์มากกว่าประเภทอื่นมาก โดยความเสี่ยงที่สำคัญคือ ไม่มีการกำกับดูแลตามกฎหมาย สำหรับประเทศไทยยังไม่มีการกำกับดูแลเรื่องการออกเสนอขายคริปโตฯ และคุ้มครองผู้ลงทุนในคริปโตฯ ที่ทำการซื้อ/ขายผ่านแพลตฟอร์มที่ไม่ได้ดำเนินการจดทะเบียนในประเทศไทยได้ ไม่มีสินทรัพย์ค้ำประกัน (ยกเว้น Stablecoin บางชนิด) ทำให้เมื่อเกิดการด้อยค่า ผู้ที่เป็นเจ้าของจะไม่มีหลักประกันใดๆ

ขณะเดียวกัน คริปโตฯ ยังสามารถปั่นราคาสินทรัพย์ (Pump and Dump) ได้ง่าย และควบคุมได้ยาก และตลาดคริปโตฯ มีการหลอกลวง และการโกงหลายรูปแบบ อาทิ การหลอกให้ผู้ใช้กรอกรหัสผ่านลงในเว็บไซต์ปลอมและขโมยบัญชีผู้ใช้ไปใช้งาน หรือเพื่อขโมยเหรียญคริปโตฯ การชักชวนลงทุนจูงใจว่าสามารถทำกำไรได้แบบเกินจริง ขณะที่การ rug pull ที่เป็นการโกงรูปแบบหนึ่งเกิดจาก การที่นักต้มตุ๋นทำทีว่ามีการพัฒนาโครงการเหรียญคริปโตฯ เข้ามาในตลาดเพื่อต้องการหลอกล่อให้นักลงทุนเข้ามาซื้อขายก่อนที่จะเทขาย ตลาดเพื่อต้องการหลอกล่อให้นักลงทุนเข้ามาซื้อขายก่อนที่จะเทขายทิ้ง หรือฉ้อโกงเงินในระบบและส่งผลให้เหรียญนั้นได้มูลค่า ดังนั้น ผู้ต้องการลงทุนต้องศึกษาและทำความเข้าใจตลอดจนประเมินความเสี่ยงอย่างรอบด้าน ต้องตระหนักถึงความเสี่ยงที่มี และเลือกลงทุนอย่างไม่ประมาท เพื่อไม่ให้เกิดการสูญเสียเช่นในต่างประเทศที่มีการฆ่าตัวตายจากการสูญเงินลงทุนแล้วกว่า 22 ราย

เราคาดหวังว่า เสียงเตือนจากสศช.จะดังไปถึงคนรุ่นใหม่เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการสูญเสียทรัพย์สินที่อาจนะไปสู่การสูญเสียชีวิต ทั้งนี้เราพบว่า ปัจจุบันไม่ใช่เพียงคนรุ่นใหม่ที่สนใจการลงทุนคริปโตฯ เท่านั้น แต่บรรดาคนรวยหรือบรรดาเจ้าสัวก็หันมาสนใจตลาดการลงทุนคริปโตฯ โดยอาศัยทักษะการบริหารและมีคนรุ่นใหม่เป็นตัวช่วย ด้วยมองเห็นว่าเป็นโอกาสในอนาคต

แต่ไม่ว่าจะเป็นคนรุ่นใหม่ หรือเจ้าสัวก่อนการลงทุนคริปโต หรือลงทุนใดๆ ก็ควรศึกษาข้อมูล เตรียมแผนรองรับความเสี่ยงให้พร้อม ฉีดวัคซีนสร้างภูมิคุ้มกันเพื่อช่วยลดผลกระทบจากความเสี่ยง