14 จังหวัดในพื้นที่ภาคใต้ คือ เค้กชิ้นโต สำหรับทุกพรรคการเมือง ที่ประเมินกำลังแล้วว่า ฝ่ายตัวเองมีพลังมากพอที่จะสู้ศึกเลือกตั้งรอบหน้า ไม่ว่าจะมีกระแส หรือกระสุนตุนเอาไว้ในมือ มากน้อยแตกต่างกันก็ตาม  พรรคภูมิใจไทย เปิดเกมบุกตั้งเป้ากวาดส.ส.ในพื้นที่ 14 จังหวัดอย่างชัดเจน นับตั้งแต่หลังการเลือกตั้งเมื่อปี 2562 เป็นต้นมา เพราะเห็น ช่องทาง แล้วว่าภาคใต้ไม่มีใครเป็นเจ้าของอีกแล้ว  แต่สำหรับพรรคประชาธิปัตย์เองปฏิเสธไม่ได้ว่า ในศึกเลือกตั้งครั้งหน้า คือโอกาสสุดท้ายที่พรรคจะต้องรักษาพื้นที่เอาไว้ให้จงได้ หลังจากที่บาดเจ็บอย่างหนักจากการเลือกตั้งเมื่อปี 2562  และถือเป็นความเสียหายอย่างรุนแรง สำหรับพรรคประชาธิปัตย์ที่ต้องสูญเสียที่นั่งส.ส.ไปกว่า 20 ที่นั่ง เช่นเดียวกับพื้นที่กทม. ที่พรรคประชาธิปัตย์ไม่ได้ที่นั่งในกทม.สักที่นั่งเดียว !

 ภาพเบื้องหน้าที่เกิดขึ้นคือการที่ ส.ส.จากทั้ง 2พรรค ไม่ว่าจะเป็นภูมิใจไทย กับพรรคประชาธิปัตย์ ออกมาโต้ตอบกันอย่างดุเดือด แต่สำหรับ อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯและรมว.สาธารณสุข ในฐานะหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย กับ จุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ รองนายกฯและรมว.พาณิชย์ ในฐานะหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ คือการส่งสัญญาณ เป็นมิตรกันเหมือนเดิม 

 ทว่าในทางการเมืองแล้ว เมื่อการใดที่การต่อสู้เริ่มต้นขึ้น ทุกคน ย่อมไม่มีใครออมมือให้กัน  โดยเฉพาะพรรคประชาธิปัตย์ ที่หัวหน้าพรรคเพิ่งประกาศ ทวงปักษ์ใต้คืน  ในระหว่าที่นำพลพรรคไปเปิดตัวว่าที่ผู้สมัคร เมื่อราวกลางเดือนส.ค.ที่ผ่านมา 


 ทางด้านพรรคภูมิใจไทยเองนั้น แท้จริงแล้ว ย่อมไม่ได้ตั้งเป้าเอาไว้ที่การได้ส.ส.ในพื้นที่ 14 จังหวัดภาคใต้ไม่ต่ำกว่า 20 ที่นั่งจากทั้งหมด 58ที่นั่งในการเลือกตั้งรอบหน้า มีการแบ่งเขตส.ส.เพิ่ม  เนื่องจากพรรคภูมิใจไทยทำพื้นที่มาต่อเนื่อง 


 อีกทั้งยังวางเป้าหมายมากกว่า 14 จังหวัด นั่นคือการเพิ่มพื้นที่กินอาณาเขตมาถึงแถบจังหวัดภาคกลางตอนล่าง โดยเฉพาะอย่างยิ่งสถานการณ์ของพรรคภูมิใจไทย อาจอยู่ในสถานการณ์ที่เป็นต่อ เพราะสู้กับพรรคประชาธิปัตย์ เป็นหลัก ส่วน พรรคพลังประชารัฐ  ที่เคยทำที่นั่งส.ส.มาได้เมื่อครั้งก่อน ด้วยอาศัยกระแสของ บิ๊กตู่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นหลัก แต่เมื่อในจังหวะนี้ที่บี๊กตู่ ต้องเผชิญกับกระแสขาลงและเสียงโจมตีจากทุกทิศทุกทาง ย่อมจะส่งผลกระทบต่อพรรคพลังประชารัฐ ชนิดที่ยากจะหลีกเลี่ยงได้