เสรี พงศ์พิศ

Fb Seri Phongphit

Animal farm ของ George Orwell เขียนมา 70 กว่าปี เปลี่ยนผู้นำจากคนไปเป็นหมู จากหมูกลับไปเป็นคน วนเวียนไปมาไม่รู้กี่รอบ ประเทศต่างๆ ยังเป็น “ฟาร์มสัตว์” ที่แย่งอำนาจกันเหมือนเดิม

ประเทศศรีลังกา เคยประกาศหลายสิบปีก่อนว่าจะพัฒนาให้เหมือนสิงคโปร์ แต่ตอนนี้ล้มละลาย ไล่ประธานาธิบดี ไล่นายกฯ ผู้นำประเทศทั้งตระกูล “ราชปักษา” ที่ถูกหาว่า “โกงทั้งโคตร” ออกนอกประเทศ

มาเลเซียจับอดีตนายกรัฐมนตรีราจิบ นาซัก ติดคุก 12 ปี  ที่อาร์เจนตินา อัยการเสนอศาลให้ลงโทษจำคุก 12 ปีรองประธานาธิบดีกริสตินา เฟร์นันเดซ เด กีร์ชเนร์ ด้วยข้อหา “คอร์รัปชัน” เมื่อครั้งเป็นประธานาธิบดีระหว่างปี 2007-2015 ต่อจากสามี

เปโดร กัสติโย ประธานาธิบดีเปรูจากพรรค “สังคมนิยม” ได้รับเลือกเพียงปีเดียว แต่ถูกลงมติ “ไล่” จากสภาสองครั้งด้วยข้อหา “คอร์รัปชัน” แต่ไม่สำเร็จ เป็นอดีตครูโรงเรียนประถม ผู้นำสหภาพ ที่นำการนัดหยุดงานประท้วงรัฐบาลเรื่องงบประมาณการศึกษาของชาติ

ละตินอเมริกายังมีปัญหาเกี่ยวกับผู้นำในอีกหลายประเทศ ไม่ว่าบราซิลที่กำลังจะเลือกตั้ง หรือเวเนซุเอลา ที่ “ซ้ายจัด” อย่างชัดเจนตั้งแต่อดีตประธานาธิบดีฮูโก ชาเวซ ที่ถึงแก่กรรม นายมาดูโร อดีตคนขับรถบัส และประธานสหภาพ ผงาดขึ้นมาทางการเมืองเมื่อปี 2000 และเป็นประธานาธิบดีตั้งแต่ปี 2013

นายมาดูโรนำเวเนซุเอลาฝ่าวิกฤติแบบฝุ่นตลบมองไม่เห็นทางมานานหลายปี ชาวบ้านอดอยากยากแค้น  อพยพหนีไปประเทศอื่น 3 ล้านคน ประเทศล้มละลาย เงินเฟ้อสี่แสนเปอร์เซ็นต์ วันนี้ลดลงมาเหลือร้อยกว่า เป็นประเทศที่มีน้ำมันและก๊าซมากที่สุดประเทศหนึ่ง แต่นายชาเวซยึดจากเอกชนมาเป็นของรัฐ อเมริการับไม่ได้ บอยคอตและหาทางโค่นนายชาเวซและนายมาดูโรหลายวิธี แต่ไม่สำเร็จ

ละตินอเมริกาได้ผู้นำประเทศ “ฝ่ายซ้าย” อย่างท่วมท้นตั้งแต่ปี 2018 จนถึงวันนี้ ที่เม็กซิโก โบลิเวีย อาร์เจนตินา ชิลี เปรู เอกวาดอร์ ล่าสุดที่โคลอมเบีย และอาจจะได้อีกคนที่บราซิลในปลายปีนี้

กระแสฝ่ายซ้ายที่กลับมาเป็นผู้นำมาจากสภาวะปัญหาเศรษฐกิจสังคมของประเทศ ความเหลื่อมล้ำ ความไม่เป็นธรรมทางสังคม ที่คนจนคนรากหญ้าเผชิญ ทำให้พรรคฝ่ายซ้ายที่ยืนอยู่ข้างคนจนได้รับโอกาส

แต่ก็ไม่สามารถแก้ปัญหาเศรษฐกิจของบ้านเมืองได้มากนัก เพราะอิทธิพลของอเมริกาและประเทศพัฒนาที่ครอบงำทวีปนี้มานาน ผลประโยชน์มหาศาลที่ไม่อาจให้หลุดไปโดยง่าย จึงเห็นบทบาทสหรัฐอเมริกาเบื้องหน้าเบื้องหลังประเทศเหล่านี้ในรูปแบบต่างๆ

นายกุสตาโว เปโตร ประธานาธิบดีคนใหม่ของโคลอมเบีย ประกาศนโยบาย 10 ข้อในวันปฏิญาณตนเข้ารับตำแหน่งเมื่อต้นเดือนสิงหาคม หนึ่งในนั้น คือ “สร้างสันติภาพถ้วนหน้า” (total paz) บอกว่า พร้อมที่จะ “พูดคุย” กับทุกฝ่าย รวมทั้งบรรดานักรบนักสู้กู้ชาติบนดินใต้ดิน ในป่าในเมือง (guerillas)

นายเปโตร ผู้นำที่น่าจับตา เป็นอดีตนักรบกู้ชาติ ที่ทิ้งปืนออกมาสู้กันทางการเมืองตั้งแต่ 30 กว่าปีก่อน ศึกษาเศรษฐศาสตร์ การบริหารในและต่างประเทศจนได้ปริญญาเอก เสนอให้ยูเอ็นทบทวนยุทธศาสตร์การปราบปรามยาเสพติด ที่เน้นแต่จัดการกับคนค้ายา แต่ไม่ได้ทำการป้องกันในบ้านเมืองตนเองเข้มแข็งพอ

เขาประกาศไม่กี่วันก่อนว่า พร้อมที่จะเจรจากับนักค้ายา บอกว่าจะไม่ส่งต่อไปให้สหรัฐเหมือนที่ทำกันมา เพราะคนเหล่านั้นส่วนใหญ่ตายในคุก แต่ถ้าหากไม่เจรจา ไม่เลิก จับได้ก็จะส่งแน่

ไม่ว่าอเมริกาจะรับแนวทางดังกล่าวหรือไม่ นายเปโตรแสดงให้เห็น “กระบวนทัศน์” ใหม่ในเรื่องการแก้ปัญหายาเสพติด และมองเห็น “การแบ่งแยกและปกครอง” ของอำนาจนอกประเทศต่อโคลอมเบีย

สถานการณ์การเมืองในประเทศต่างๆ ส่วนใหญ่ ไม่ว่ากำลังพัฒนา หรือพัฒนาแล้ว ต่างก็อยู่ในสภาวะของความแตกแยกแบ่งฝ่ายของพลเมืองเป็นสองขั้วชัดเจน หลายแห่งถึงกับออกมาเข่นฆ่าราวี หรือไม่ก็สู้กันในรูปแบบต่างๆ ทางสังคม เศรษฐกิจ และการเมือง จนประเทศชาติหยุดนิ่งถอยหลัง ไม่ก้าวหน้าพัฒนา

มีนักวิเคราะห์การเมืองในสหรัฐบอกว่า ไม่ว่านายโดนัลด์ ทรัมป์ จะกลับมาเป็นประธานาธิบดีในสมัยหน้าอีกหรือไม่ ไม่ใช่ปัญหา ใครมาก็ไม่ได้สร้างความแตกต่างให้สังคมอเมริกันที่แตกแยกหนักหน่วงอยู่แล้ว

การเติบโตของขบวนการขวาจัด จนถึง “นาซีใหม่” ในหลายรูปแบบที่ยุโรป เป็นเรื่องที่น่าติดตาม ไม่ว่าที่ฝรั่งเศส เยอรมนี และที่อิตาลี ที่กำลังจะมีการเลือกตั้ง ที่โพลยกให้พรรคขวาจัดที่มีผู้นำเป็นสตรีวัย 40 จะได้รับเลือกตั้งมากที่สุด และถ้าได้เป็นนายกรัฐมนตรี อาจนำอิตาลีไปสู่ความขัดแย้งมากกว่าเดิม

ผู้นำประเทศหลายคนใช้แนวคิด “แบ่งแยกแล้วปกครอง” แม้วันเข้ารับตำแหน่งจะประกาศเสียงดังว่า จะเป็นผู้นำของคนทั้งประเทศ ประเทศไทยก็ไม่ยกเว้น เห็นได้ตลอดมาว่าประเทศนี้มีกี่ฝักกี่ฝ่าย

หลายประเทศชื่นชมประเทศไทยที่ใช้นโยบาย 66/23 ทำให้ “คนเข้าป่า” กลับออกมาร่วมกันพัฒนาบ้านเมืองว่าเป็นผลของวิสัยทัศน์ของผู้นำ แต่ความจริง คงมาจากการ “ล่มสลาย” ของพรรคคอมนิวนิสต์ไทย มากกว่า เนื่องด้วยสถานการณ์ทางการเมืองในภูมิภาคนี้ที่เมื่อ “พคท.” ไม่ได้รับการสนับสนุนจากพันธมิตรต่างประเทศ ก็ยากที่จะคงอยู่ต่อไปได้ ผู้นำไทยจึง “รับลูก” ต้อนรับคน “กลับบ้าน” ความขัดแย้งทางสังคมไม่ได้หมดไป เปลี่ยนเพียงรูปแบบ และขบวนการเท่านั้น

ประเทศไทยได้พยายามใช้ “สุนทรียสนทนา” มานานจนคนทั่วไปลืมไปแล้ว สิ้นหวังกับสถานการณ์ที่ “พูดคุยกันไม่ได้” แบ่งฝักแบ่งฝ่ายชัดเจน แบ่งแยกแล้วปกครอง จึงมีแต่เรื่องซื้อสิทธิ ซื้อคน ซื้อนักการเมือง เรื่อง “งูเห่า” จึงเป็นเรื่อง “ธรรมดา” และสัญลักษณ์ของสังคมที่แตกแยก และแสวงประโยชน์

ผู้นำการเมืองไทยไม่มีวิสัยทัศน์ “สันติภาพถ้วนหน้า” อย่างผู้นำโคลอมเบีย ถ้ามี จังหวัดชายแดนภาคใต้ และสังคมโดยรวมไม่น่าจะอยู่ในสภาพเช่นนี้ ที่มีเสื้อเหลือง เสื้อแดง สะหลิ่ม สามกีบ ทั้งแตกต่างและแตกแยกสร้างสมความเกลียดชัง สู้กันไม่เพียงแต่ทางความคิด แต่พร้อมที่จะนองเลือดเมื่อถึงจุดเดือด

นักการเมืองสร้างได้แต่พรรคในบ้านเมืองที่แตกแยก รัฐบุรุษสร้างชาติ สร้างบ้านเมืองที่สมานฉันท์