วันก่อน นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้เปิดเผยข้อมูลว่า กรุงเทพมหานครเป็นสังคมผู้สูงอายุอย่างสมบูรณ์แบบ จากข้อมูลปัจจุบันมีผู้สูงอายุในกรุงเทพฯ มากกว่า 21.68 % จากจำนวนประชากรทั้งหมด 5,508,836 คน  ในการปาฐกถาเรื่อง “คนไทย ทำอย่างไรให้อยู่ดี สุขภาพดี การเงินดี ในงานสัมมนา Health & Wealth Forum : สร้างสุขก่อนสูงวัย”

ขณะที่สวนดุสิตโพล เผยผลการสำรวจชี้ให้เห็นว่าประเทศไทยเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ โดยกลุ่มตัวอย่างคิดว่าการดูแลสุขภาพ เพื่อการชะลอวัย (Anti-Aging) มีความจำเป็น และในแต่ละเดือนมีค่าใช้จ่ายในการดูแลสุขภาพของตนเอง เช่น  ฟิตเนส อาหารเสริม วิตามิน คลินิกสถาบันเสริมความงาม นวด กายภาพ  ATK มีค่าใช้จ่ายเฉลี่ยเดือนละ 2,129.07 บาท สิ่งที่ประชาชนอยากรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับการ ดูแลสุขภาพอันดับ 1 คือ การฉีดวัคซีนป้องกันโรค ต่าง ๆ ร้อยละ 52.99 รองลงมาคือ การดูแลสุขภาพแบบองค์รวม ร้อยละ 51.43

อย่างไรก็ตาม การประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 23 สิงหาคม 2565 ได้อนุมัติคืนเบี้ยยังชีพให้กับผู้สูงอายุที่ได้นำเงินมาคืนทางราชการแล้ว จำนวน 28,345 ราย เป็นเงินทั้งสิ้น 245,243,189.70 บาท (ข้อมูล ณ วันที่ 1 มิถุนายน 2565) พร้อมมอบหมายให้กระทรวงมหาดไทย กรุงเทพมหานคร เมืองพัทยา และกระทรวงการคลัง หาแนวทางการจ่ายเงินคืนให้แก่ผู้สูงอายุรับเบี้ยยังชีพซ้ำซ้อนกับสวัสดิการอื่น และได้นำเงินมาคืนให้ทางราชการ รวมทั้งแจ้งให้มีการถอนฟ้องหรือระงับการบังคับคดีในกรณีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ได้มีการดำเนินคดีเรียกคืนเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ โดยให้ดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในระยะเวลา 1 เดือน นับแต่วันที่คณะรัฐมนตรีมีมติ  (23 สิงหาคม 2565)

ทั้งนี้ คณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะพิเศษ) ได้มีคำวินิจฉัยว่า เงื่อนไขที่กำหนดว่าผู้สูงอายุที่จะได้รับเบี้ยยังชีพต้องไม่เป็นผู้รับสวัสดิการหรือสิทธิประโยชน์จากหน่วยงานของรัฐ เป็นเงื่อนไขที่ขัดแย้งต่อรัฐธรรมนูญและพระราชบัญญัติผู้สูงอายุ พ.ศ.2546 และการจ่ายเงินเบี้ยยังชีพให้แก่ผู้สูงอายุที่ไม่สอดคล้องกับเงื่อนไขดังกล่าว จึงเป็นการจ่ายเงินให้โดยชอบ ในกรณีที่ผู้สูงอายุนำเงินมาคืนราชการ หน่วยงานที่รับเงินไว้มีหน้าที่ต้องจ่ายเงินคืนให้ผู้สูงอายุ                

ดังนั้น ระเบียบของคณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติ (กผส.) และระเบียบของกระทรวงมหาดไทยที่ออกโดยอาศัย อำนาจตามระเบียบของ กผส.นั้น ที่กำ หนดเงื่อนไขว่าต้องไม่เป็นผู้รับสวัสดิการหรือสิทธิประโยชน์อื่นใดจากหน่วยงานของรัฐ ถือว่าไม่สอดคล้องกับหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยมาตรา 48 วรรค 2

กระนั้น เราเห็นว่า การเตรียมความพร้อมสำหรับสังคมผู้สูงอายุ ที่ไทยเราพูดกันมาก่อนหน้านี้ ถึงเวลานี้ทุกฝ่ายต้องเช็กความพร้อมที่แท้จริงๆ และวางแนวนโยบายในการรับมือในอนาคตด้วย