มหากาพย์ทุจริตคอร์รัปชันในประเทศไทยของบรรดานักการเมืองบ้านเรานั้น มีวิวัฒนาการเปลี่ยนแปลงไปบริบทของสังคม การตื่นตัวในการปกป้องผลประโยชน์และพลังอำนาจของโซเชียลมีเดีย ทำให้นักธุรกิจการเมืองคิดหาวิธีการโกงที่ซับซ้อนมากยิ่งขึ้น

จากโกงแบบโบราณโฉ่งฉ่างอนุมัติงบประมาณเพื่อประโยชน์ของตนเองและพวกพ้อง ก็ปรับเปลี่ยนเป็นการโกงแบบบูรณาการ หรือทุจริตเชิงนโยบาย ที่หากินกับการอนุมัติโครงการใหญ่ๆเพื่อหลีกเลี่ยงการเอาผิดทางกฎหมาย และไล่ตรวจสอบได้ยากขึ้น  ดังที่เป็นข่าวและกลายเป็นคดีในช่วง 10 กว่าปีที่ผ่านมา

แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า การโกงแบบโบราณ หรือ โกงแบบคลาสสิกนั้น จะหมดไป

ยิ่งในส่วนของท้องถิ่นนั้นพฤติกรรมการโกง แบบเก่าๆ เดิมๆ ก็ยังคงทำกันอยู่เหมือนเป็นประเพณี ที่ว่ากันว่าแม้ผู้บริหารท้องถิ่นบางคน ที่ตอนแรกเข้าไปอาจจะเป็นคนดี แต่ก็ถูกระบบเหล่านี้กลืนกินไปด้วย แต่ที่ตั้งใจเข้ามาถอนทุนคืนเลยก็มีไม่น้อย โดยอ้างหน้าตาเฉยว่า “เสียเงินซื้อเสียงไปเยอะ” ทั้งที่การซื้อเสียงคือ การโกง

การโกงแบบคลาสสิก ก็ตั้งแต่การกินหัวคิวงานโครงการต่างๆ ตั้งบริษัทขึ้นมารับงานเองหรือญาติพี่น้อง  เอางบหลวงไปจัดทริปพาหัวคะแนนเที่ยวต่างประเทศ

และในช่วงเดือนกันยายนที่ใกล้จะสิ้นสุดปีงบประมาณ ก็ถือเป็นฤดูหาเงินของบรรดาผู้บริหารท้องถิ่นบางแห่ง ที่ฉวยโอกาสต่อรองกับบรรดาลูกจ้าง ไม่ยอมต่อสัญญาให้เพื่อดึงเวลา เรียกเก็บเงินค่าหัวคิว ตั้งแต่หลักหมื่นถึงหลักแสน ถ้าไม่จ่ายก็ไม่ต่อสัญญาให้ ซึ่งมักพบในท้องถิ่นขนาดเล็ก ในอดีตเคยมีกรณีเช่นนี้ติดคุกไปก็มี

บรรทัดนี้ เห็นใจลูกจ้างที่เงินเดือนน้อยอยู่แล้ว ยิ่งในยุคค่าครองชีพสูง งานที่มีความมั่นคงมีทางเลือกน้อย ไม่อยากให้เจอกับเงื่อนไขกลโกงซ้ำซากเช่นนี้ ยิ่งเป็นการซ้ำเติมวิกฤติ จึงฝากให้รัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องและผู้ว่าราชการจังหวัดกวดขันและส่งสัญญาณป้องปรามกันไว้ก่อนก็เป็นการดี เพื่อช่วยคนตัวเล็กๆ

แต่สิ่งสำคัญคือ สังคมต้องไม่ยอมและไม่ทน ผู้เสียหายหากมีหลักฐานอย่ารอช้า ยื่นให้ คณะกรรมการป้องกันและปราบกรามการทุจริตแห่งชาติ หรือป.ป.ช.จัดการให้สิ้น