ในลิ้นชักความทรงจำ / ยูร  กมลเสรีรัตน์

ผมเห็นชื่อวัธนา บุญยังมาก่อนในนิตยสารฟ้าเมืองทอง ที่มีบรรณาธิการรุ่นครู-อาจินต์  ปัญจพรรค์ เจ้าของเรื่องสั้นชุด เหมืองแร่ ผู้สร้างนวนิยายอันยิ่งใหญ่ชุด “เจ้าพ่อ-เจ้าเมือง” เป็นเรื่องสั้นแนวป่าดงพงไพรที่สร้างชื่อเสียงให้เขาในเวลาต่อมา

ถัดจากนั้นมาอีกหลายปี  เมื่อนิตยสารสายทิพย์ฉบับแรกวางตลาด  ก็ราว ๆ 30 ปีก่อน  ซึ่งมีนักเขียนชื่อก้องคือ ทมยันตี นั่งเก้าอี้บรรณาธิการ  ผมเห็นเรื่องสั้น “สีดำในความมืด” นามปากกา “วัธนา  บุญยัง”ลงประเดิมเป็นคนแรก ไม่แน่ใจว่าปี 2528 หรือปี 2529 แต่ไม่น่าเกินปี 2530  น่าจะราว ๆ นั้น วิสรรชนีย์ นาคร(จิราภรณ์ เจริญเดช-ล่วงลับแล้วเมื่อปี 2556) นักเขียนสาวผู้มากฝีมือ ทั้งเรื่องสั้นและบทกวี เป็นบรรณาธิการคัดเรื่องสั้น ตอนนั้นผมจำได้ว่าเพิ่งรับราชการไม่กี่ปีและเพิ่งมีเรื่องสั้นลงสกุลไทยปี 2526

“ทมยันตี” ที่เราเรียกกันติดปากว่า “ป้าอิ๊ด” ซึ่งล่วงลับไปแล้ว ไม่เพียงแต่เป็นบรรณาธิการเท่านั้น ยังเขียนนวนิยายควบด้วยถึง 2  เรื่อง 1 ใน 2 ถ้าจำไม่ผิดเป็นเรื่อง “มงกฎหนาม”ถ้าจำผิด ต้องขออภัย มันนานมากเหลือเกิน

เรื่องนี้ถือว่าเป็นตำนานเลยล่ะที่นักเขียนใหญ่ไปนั่งเก้าอี้บรรณาธิการ ตอนนั้นบริษัทสยามสปอร์ต จ้าวแห่งหนังสือกีฬา ทุ่มทุนออกนิตยสารรายสัปดาห์ถึง 2 ฉบับคือ สายทิพย์ ประชันกับสกุลไทย และนิตยสารสุริยา ประชันกับบางกอก  พยายามนึกว่าบรรณาธิการเป็นใคร คุ้น ๆ  แต่นึกไม่ออก จำได้พอเลา ๆ ว่าพิบูลศักดิ์  ละครพล เจ้าชายโรแมนติกตลอดกาล เป็นหนึ่งในทีมงานนิตยสารสุริยา รู้สึกจะทำหน้าที่คัดเรื่องสั้น

เรื่องนี้มีเบื้องหลัง เบื้องลึกที่เปิดเผยได้ เพราะนิตยสารที่กล่าวมานั้น ไม่มีอีกแล้ว แต่จะยาวยืดเยื้อ สายทิพย์กับสุริยาหายวับไปจากแผงหนังสือภายในเวลาปีเดียว บางกอกที่ยืนยงมากว่า 50 ปี เลิกกิจการ เพราะไม่มีทายาทสืบทอด ส่วนสกุลไทยชิงเลิกกิจการ ก่อนที่ยุคโซเชียล เน็ตเวิร์คจะรุกหนัก เป็นการปิดทั้งบริษัท  เพราะมีสำนักพิมพ์ในเครือหลายสำนักพิมพ์

วัธนา บุญยังมีความอุตสาหะมาก กว่าจะเรื่องสั้นเรื่องแรก “ชีวิตป่า”จะได้ลงในนิตยสารฟ้าเมืองทองเมื่อปี 2520 ซึ่งมีอาจินต์  ปัญพรรค์ เป็นบรรณาธิการ เขาต้องใช้เวลาถึง 8 ปี  ก่อนที่จะมีเรื่องสั้นแนวป่าดงพงไพที่เขามีความถนัด จากประสบการณ์ในการท่องป่า ตีพิมพ์ในนิตยสารฉบับอื่นอีกหลายฉบับ 

นักเขียนแนวพงไพรผู้นี้เกิดในครอบครัวชาวสวนที่ตำบลบางไผ่  จังหวัดฉะเชิงเทราหรือชาวบ้านเรียกว่า แปดริ้ว  มีฐานะยากจน  ชีวิตในวัยเด็กค่อนข้างเงียบเหงา  เพราะบ้านเรือนของชาวสวนจะตั้งอยู่ห่างกัน ทางออกของเขามีเพียงสิ่งเดียวคืออ่านหนังสือ  เขาอ่านหนังสือของพี่ ๆ ทุกเล่มตั้งอยู่ชั้นป.5 ไม่ว่าจะเป็นพล นิกร กิมหงวน ของป. อินทรปาลิต แม้กระทั่งวรรณคดีไทยเช่น ราชาธิราช,สามก๊ก,พระอภัยมณี เป็นอาทิ

หลังจากเรียนจบชั้นประถมศึกษาที่โรงเรียนวัดดอนทอง วัธนา บุญยังไปเรียนต่อชั้นมัธยมศึกษาที่โรงเรียนเบญจมราชรังสฤษฏิ์ ในตัวเมือง เขาต้องพายเรือบดลำเล็ก ๆ ไปตามลำคลองเพียงลำพังเป็นระยะทางหลายกิโลเมตร แล้วยังต้องพายข้ามแม่น้ำปางปะกงไปจอดเรือไว้  จากนั้นเดินต่ออีก 2 กิโลเมตร ช่วงน้ำขึ้น ขาไปต้องพายเรือทวนน้ำที่ไหลเชี่ยว ขากลับน้ำลง แห้งขอด ต้องเข็นเรือลุยโคลนด้วยความทุลักทุเล ไหนจะผจญยุงป่าและหนามไหน่ 

เมื่อเรียนจบชั้นมัธยมปลาย เขาสอบเรียนต่อคณะศึกษาศาสตร์  มหาวิทยาลัยเชียงใหม่  ช่วงเรียนระดับมหาวิทยาลัยนี่เอง เขาเริ่มสนใจการเขียน เพราะมีเพื่อนที่เรียนด้วยกันชอบการอ่านการเขียนเหมือนกัน หลายคนเป็นนักเขียนและนักหนังสือพิมพ์ที่มีชื่อเสียงในเวลาต่อมาได้แก่สถาพร  ศรีสัจจังหรือพนม นันทพฤกษ์,สุภาพ คลี่ขจาย,ธงชัย สุรการ,สุเมธ แสงนิ่มนวล เป็นอาทิ  

ความลำบากยากเข็ญในวัยเด็กได้หล่อหลอมให้วัธนา บุญยังเป็นคนต่อสู้ชีวิต ครั้งที่เรียนอยู่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ หลายครั้งหลายคราว แม้จะอดอยากหิวโหยเพียงใด ก็ไม่เคยย่อท้อต่ออุปสรรคในชีวิต ดังคำบอกเล่า

“ธงชัย  สุรการนี่ กินนอน เที่ยวด้วยกันตลอด บางทีไม่มีตังค์ ซื้อข้าวเหนียวคนละบาท ส้มเขียวหวานคนละลูก เดินตัดป่าขึ้นดอยสุเทพไปผจญภัยกัน มืดที่ไหนก็นอนที่นั่น....เคยไม่มีตังค์กันเป็นเดือน รอดตายมาได้ด้วยหน่อไม้ สมัยนั้นในมช.มีไผ่รวกเยอะ บ่าย ๆ ก็แอบไปหาขุดหน่อไม้มาต้มกินแทนข้าวในหอ บางทีเพื่อนผู้หญิงมาเจอเข้า ถามว่าเอาไปทำอะไร ต้องแกล้งบอกว่าเอาไปทดลอง เพราะจะต้องวางฟอร์มไม่ให้สาวรู้”

หลังจากเรียนจบมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ วิชาเอกการสอนภาษาอังกฤษ  วัธนา บุญยังสอบเข้ารับราชการที่โรงเรียนสตรีนครสวรรค์  จังหวัดนครสวรรค์  อีก 5 ปีต่อมา จึงขอย้ายกลับไปสอนที่บ้านเกิดคือโรงเรียนดัดดรุณี  จังหวัดฉะเชิงเทรา  

รสชาติของความลำบากยากจนมาแต่เด็ก ทำให้เขามีพลังใจและมีความใฝ่ฝันเต็มเปี่ยม  ปี 2525 เขาสมัครสอบทุนโคลัมโบ ได้ทุนไปเรียนต่อที่มหาวิทยาลัยซิดนีย์ ประเทศออสเตรเลียเป็นเวลา 2 ปี  ช่วงที่อยู่ออสเตรเลียเขา  เขาได้ตักตวงประสบการณ์ชีวิต  ทั้งท่องเที่ยว  เดินป่า  ปีนเขาและเล่นสกีบนยอดเขาSnowy  Mountains และมีโอกาสพบปะเสวนนากับนักเขียนออสเตรเลีย 

ความใฝ่ฝันของวัธนา บุญยังไม่ได้หยุดเพียงแค่นั้น  ปี  2535 เขาสอบชิงทุนบริติชเคาน์ซิลของรัฐบาลอังกฤษ ไปเรียนต่อที่มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์  ที่เมืองผู้ดีนี่เอง  ทำให้เขามีโอกาสตักตวงประสบการณ์อย่างมากมาย โดยการท่องเที่ยวไปทั่วเกาะอังกฤษ  ข้ามไปเดินป่าและปีนเขาที่ฝรั่งเศส,เบลเยี่ยม ,ลักเซมเบิร์ก,ฮอลแลนด์,เยอรมันนี.ออสเตรีเลียและสวิตเซอร์แลนด์  ประสบการณ์เหล่านี้ได้กลายเป็นวัตถุดิบชั้นดี  ในการสร้างผลงานอันหลากหลายในเวลาต่อมา

ในด้านการเขียนนั้น วัธนา  บุญยังเริ่มเขียนหนังสือตั้งแต่เรียนอยู่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ แต่ไม่ได้ตีพิมพ์  เมื่อทำงานแล้ว จึงมีเรื่องเกี่ยวกับเด็กบ้านสวนตีพิมพ์ครั้งแรกคอลัมน์ “เขาเริ่มต้นที่นี่” ในนิตยสารฟ้าเมืองไทยของอาจินต์  ปัญพรรค์  คอลัมน์นี้มีสโลแกนที่คนในวงวรรณกรรมจำได้แม่นคือ “ตะกร้าสร้างนักเขียนมาทุกยุค”

คนอ่านมักจะรู้จักนักเขียนตอนที่มีชื่อเสียงแล้ว แต่เบื้องหลังชื่อเสียงนั้น คนส่วนใหญ่ไม่รู้หรอกว่า กว่าจะปีนป่ายจนพบกับกับความสำเร็จ จนมีชื่อเสียง นักเขียนหลายคนต้องฝ่าฟันอุปสรรค์ ทั้งในแง่ชีวิตส่วนตัวและชีวิตการเขียนด้วยความยากลำบาก บางคนเลือดตาแทบกระเด็น

วัธนา บุญยังมีความวิริยะอุตสาหะมาก  แม้ผลงานจะไม่ได้ตีพิมพ์ เขายังคงมุ่นมั่นเขียนต่อไป  จนกระทั่ง 8 ปีต่อมา จึงมีเรื่องสั้นเรื่องแรก “ชีวิตป่า”ลงในนิตยสารฟ้าเมืองทอง เมื่อปี 2520 ซึ่งมีอาจินต์  ปัญพรรค์ นั่งเก้าอี้บรรณาธิการอีกฉบับหนึ่ง ก่อนที่จะมีเรื่องสั้นแนวป่าดงพงไพที่เขามีความจัดเจน ตีพิมพ์ในนิตยสารฉบับอื่นอีกหลายฉบับ 

ผลงานรวมเล่มครั้งแรกของวัธนา บุญยัง  เป็นผลงานแปลเรื่อง“เส้นทางเถื่อน”ของ Sheila Burnford จัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์  พี. วาทินของวาทิน  ปิ่นเฉลียวหรือ ‘พี่ต่วย’แห่งต่วย’ ตูน เมื่อปี 2528 เป็นเรื่องเกี่ยวกับสัตว์และป่าเขาที่เขามีความชื่นชอบแนวนี้ส่วนตัว  พิมพ์ 4 ครั้งแล้ว  รวมเรื่องสั้นเล่มแรกคือ“สายน้ำไม่ไหลกลับ”พิมพ์ในนามสำนักพิมพ์สุธิดาที่เขาตั้งขึ้นเอง  ปรากฏว่าขายได้และพิมพ์ซ้ำเป็นครั้งที่ 2  ต่อมา สำนักพิมพ์บ้านหนังสือนำมาจัดพิมพ์เป็นครั้งที่ 3 และครั้งที่ 4 

ตอนที่ผมทำงานที่กรมสามัญศึกษา(ปัจจุบันคือ สพฐ.)  กระทรวงศึกษาธิการ  ราว ๆ  ปี 2534 หรือปี 2535 คนในวงวรรณกรรมคนหนึ่ง จำชื่อไม่ได้ เขาเป็นติดต่อขอเรื่องป่าของสังคีต  จันทนโพธิ์ นักเขียนแนวป่ารุ่นอาวุโส มาพิมพ์ เขาเล่าให้ฟังว่า เรื่อง“ใบไม้ร่วงในป่าใหญ่” ของวัธนา บุญยัง  สำนักพิมพ์ปราย ไม่จ่ายค่าเรื่อง อ้างว่าขายไม่ได้  พอได้รับรางวัล ก็ขโมยพิมพ์ครั้งที่ 2  ตอนนั้นผมยังไม่รู้จักวัธนา บุญยังหรอก แต่ได้ยินแล้ว รู้สึกเห็นใจ ในฐานะมิตรน้ำหมึก คนใหม่ต่อวงการ  ถูกเอาเปรียบมาหลายต่อหลายคนแล้ว

ต่อมาวัธนา  บุญยังเอาเรื่อง “ใบไม้ร่วงในป่าใหญ่” ไปเสนอสำนักพิมพ์ประพันธ์สาส์น กระทั่งได้รับการพิมพ์ซ้ำถึง  3 ครั้ง ภายหลังได้รู้จักกับเสกสรรค์  ประเสริฐกุล ซึ่งเป็นคนบ้านเดียวกัน  จึงแนะนำให้รู้จักขจรฤทธิ์  รักษา เจ้าของสำนักพิมพ์บ้านหนังสือ“ใบไม้ร่วงในป่าใหญ่” จึงได้พิมพ์ซ้ำอีก

เรื่อง “ใบไม้ร่วงในป่าใหญ่” นวนิยายเรื่องแรกที่ได้รับรางวัลจากสัปดาห์แห่งชาติเมื่อปี 2531 แฟนคลับมากมายชอบมาก เพราะถ่ายทอดเรื่องราวและอารมณ์ของตัวละครได้อย่างสมจริง และลึกซึ้งในอารมณ์ อ่านแล้วเกิดความหวงแหนและมีความรักในผืนป่า จัดพิมพ์เป็นครั้งที่ 11 แล้ว

 

“เมื่อคุณรักใครบางคน  สิ่งที่ดีที่สุดที่คุณสามารถให้ได้คือการมีตัวตนของคุณ  คุณจะสามารถมีความรักได้อย่างไร ถ้าคุณไม่ได้อยู่ตรงนั้น”(ติช  นัท ฮันห์)