เสรี พงศ์พิศ

Fb Seri Phongphit

ผลประโยชน์กับความถูกต้องดีงาม หรือคุณค่า (interest vs value) แตกต่างกันจนเรียกว่าเป็นขั้วตรงกันข้ามเลยก็ได้ แต่ในชีวิตจริง ไม่ว่าส่วนตัวหรือส่วนรวม สองเรื่องนี้ก็เป็นความจริงที่แปลก (paradox) เพราะดูจะอยู่ร่วมกันได้ ถึงมีคำว่า “มือถือสากปากถือศีล” “ปากว่าตาขยิบ” (hypocrisy)

การเมืองในประเทศหรือระหว่างประเทศเห็นเรื่องนี้ชัดเจน ทุกฝ่ายประกาศเห็นด้วยและส่งเสริมความถูกต้องดีงาม แต่ในความเป็นจริง เอาผลประโยชน์นำหน้าทั้งนั้น ประกาศส่งเสริมประชาธิปไตย สิทธิเสรีภาพ แต่ก็ร่วมมือกันค้าขายเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น

ดังกรณีของสหรัฐฯ และประเทศในยุโรปและทั่วโลกที่เข้าไปลงทุนมหาศาล ค้าขายกับจีนกับเวียดนาม ที่ยังเป็นคอมมิวนิสต์ มักยกเอาเรื่องสิทธิเสรีภาพมาเป็นเครื่องมือในการ “ข่มขู่” ประเทศที่อ่อนแอและด้อยพัฒนา เอามาต่อรองกับประเทศที่เข้มแข็ง หรือไม่ยอมอ่อนข้อ ตั้งมาตรฐานและมาตรการประเมินเขาไปทั่ว

ประเทศที่ทำตัวเป็นผู้จัดระเบียบโลก อ้างว่ามีเสรีภาพ เป็นประชาธิปไตย ใช้หลักนิติธรรม (rule of law) อย่างอเมริกา ที่ชอบใช้คำเหล่านี้ไปปราบหรือปรามประเทศอื่น แต่ที่บ้านเมืองตนเองก็มีการละเมิดสิทธิมากมาย จนกลายเป็นความรุนแรง เหยียดผิวไม่ว่าผิวดำผิวเหลือง ใช้อาวุธปืนกราดยิงฆ่ากันตายรายวัน  

รวมไปถึงอ้างความชอบธรรมในการเข้าไปรุกรานประเทศอื่นในนามของ “ประชาธิปไตย” “สิทธิเสรีภาพ” “หลักนิติธรรม” ทั้งที่เป็นเรื่องผลประโยชน์และอำนาจในการครอบครอง คิดถึงอิรัก ที่ป่านนี้อเมริกายังหาอาวุธร้ายแรงที่อ้างไว้ไม่เจอ แต่อิรักก็ล่มสลายไปแล้ว ยังอัฟกานิสถาน ลิเบีย และอื่นๆ

การที่ประเทศร่ำรวยให้ความช่วยเหลือประเทศกำลังพัฒนา หรือประสบปัญหา ล้วนแอบแฝงไปด้วยผลประโยชน์ เอาคุณค่ามาบังหน้ามูลค่า ปีศาจในคราบนักบุญ แม้องค์กรระหว่างประเทศที่ โจเซฟ สติกลิตซ์ อดีตผู้บริหารธนาคารโลกบอกว่า การให้กู้ไปฟื้นฟูประเทศก็แอบแฝงด้วยผลประโยชน์ของประเทศที่ “คุม” องค์กรนั้น อ้างสันติภาพ แต่ก็ค้าอาวุธยุทโธปกรณ์กับทุกฝ่ายที่มีเงินซื้อ แม้เงินมาจากการค้ายาเสพติด

ผลประโยชน์และคุณค่า เป็นเรื่องที่ขัดแย้งกัน แต่ก็เป็นความจริงที่แปลก (paradox) ที่ผู้คนมักจะนำมาผสมปนกันได้เสมอ อาจเป็นเพราะ “ยอมจำนน” ต่อความเลวร้ายที่กลายเป็นเรื่องธรรมดาไปแล้ว ดังกรณีการโกงกินบ้านเมืองที่คนไทยไม่น้อยบอกว่า “โกงก็ได้ขอให้พัฒนาก็พอ”

ประชาธิปไตยบ้านเราจึงเป็นความจริงที่แปลก ที่ขัดแย้งในตัวเอง ประนีประนอมระหว่างความดีกับความชั่ว ความถูกกับความผิด อ้างสิทธิเสรีภาพ แต่มีการซื้อสิทธิขายเสียงตั้งแต่รากหญ้าไปถึงรัฐสภา

เศรษฐกิจการเมืองเป็นเรื่องอำนาจและผลประโยชน์ ไม่มีความจริงใจ ไม่สัตย์ซื่อถือคุณธรรม (integrity) ไม่โปร่งใส ไม่มีธรรมาภิบาล (governance) มีวิธีการปกปิดแอบซ่อนจนยากที่จะพบ ที่เป็นข่าวเป็นคดีก็เป็นเพียงยอดภูเขาน้ำแข็ง

ภาษาอังกฤษใช้คำเดียวว่า “value” เพื่อบอก “มูลค่า” กับ “คุณค่า” และในความเป็นจริง ฝรั่งก็เอาเรื่องสองคำนี้มาปนกันเหมือนผลประโยชน์และความถูกต้องดีงาม ภาษาไทยแยกมูลค่ากับคุณค่า (ที่ใช้แปล value ทั้งสองคำ) แต่ในความเป็นจริงก็ไม่ได้ดีไปกว่าฝรั่ง ยังคงสับสนและปะปนกันระหว่างสองคำนี้

หกสิบปีของการพัฒนาตามแผน จึงเน้นการพัฒนาเศรษฐกิจ พัฒนา “มูลค่า” แบบแยกจาก “คุณค่า” ด้วยทฤษฎีการพัฒนาที่ไม่เท่าเทียม (Unequal development theory) จึงสร้างความเหลื่อมล้ำได้สมความตั้งใจ

การพัฒนานี้มาพร้อมกับ “อำนาจนำ” (hegemony) ที่สร้างระบบคุณค่าเทียมที่ครอบงำประชาชน จนเห็นเรื่องการโกงกินเป็นเรื่องธรรมดา สร้างค่านิยมผิดๆ ที่เน้นรูปแบบภายนอก ทรัพย์สินเงินทอง ความร่ำรวย ทำให้ผู้คน “เป็นหนี้ไม่ว่า ขอให้ได้หน้าเป็นพอ” เพราะ “ดีชั่วรู้หมด แต่อดไม่ได้”

สังคมสร้างค่านิยม “รู้รักษาตัวรอดเป็นยอดดี”  คนขี่มอเตอร์ไซค์ไม่สวมหมวกกันน็อก ไม่กลัวเจ็บไม่กลัวตาย กลัวตำรวจมากกว่า  ตัวอย่างผู้ใหญ่ในบ้านเมือง จากเมืองหลวงไปถึงตำบลหมู่บ้าน เห็นแต่เรื่องมูลค่ามากกว่าคุณค่า แล้วจะให้บ้านเมืองพัฒนาด้วยฐานคุณธรรมความถูกต้องดีงามได้อย่างไร เพราะสุดท้ายคนก็เชื่อว่า “เดินตามผู้ใหญ่หมาไม่กัด” ผิดอย่างไรผู้ใหญ่ก็ปกป้องเสมอ ด้วยระบบอุปถัมภ์ที่ครอบงำสังคมทุกวงการ

เรามีศรีธนญชัยเต็มบ้านเต็มเมือง จึงมีเรื่องนาฬิกาเพื่อน มีเรื่องแป้ง ประหลาดโลก หลอกกันได้ไม่กลัวบาป เพราะวัดไหนก็ไปสาบานมาหมด ไม่กลัวคนสาปแช่ง เพราะแม้ผีก็ยังติดสินบนมาแล้ว คนไทยจึงปลอบใจตัวเองว่า กฎหมายไม่เป็นธรรม แต่กฎแห่งกรรมยุติธรรมเสมอ ไม่ชาตินี้ก็ชาติหน้า

ความจริง อีกทางหนึ่งที่ให้ความหวังได้บ้าง คงเป็นแนวคิดที่เป็นวิทยาศาสตร์ ไม่ว่าเรื่องทฤษฎีอลเวง (chaos theory) ที่ “ผีเสื้อกระพือปีก พสุธาสะท้านไหว” ที่บอกว่า การกระทำเล็กๆ อาจก่อให้เกิดปรากฏการณ์เปลี่ยนแปลงใหญ่หลวง แบบพายุทอร์นาโดในสหรัฐ หรือแบบหักโค่นทางสังคม (social disruptive) เพราะอาจเป็นลูกโซ่นิวเคลียร์ตามทฤษฎีควอนตั้มก็ได้ เหมือนการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจสังคมที่เกิดด้วยเทคโนโลยี

แม้ว่าจะไม่เห็นผลยิ่งใหญ่อย่างทฤษฎีเหล่านี้ หรือแบบที่เทคโนโลยีก่อให้เกิด เราควรเชื่อว่า แนวคิดที่ว่าด้วย “เล็กนั้นงาม” (small is beautiful) นั้น เป็นความจริงที่พิสูจน์ได้ที่ตัวเราเอง ที่ทำอะไรเล็กๆ ด้วยความจริงใจ และด้วยหัวใจยิ่งใหญ่นั้น ทำให้เราเองมีความสุข และมีผลต่อคนรอบข้าง ต่อสังคมไม่มากก็น้อย

คิดถึงความรู้ ภูมิปัญญาของคนเล็กๆ จำนวนมากในบ้านเราในระยะ 60 ปีที่ผ่านมา ที่ได้สืบทอดคุณค่าดั้งเดิมมากมายมาให้สังคมไทยวันนี้ ไม่ว่าเรื่องเกษตรผสมผสาน วนเกษตร แพทย์แผนโบราณ ปัจจัยสี่ ที่ถูกเด็ดยอดไปเป็นสินค้าโอทอป แบบอย่างของคุณธรรมของท่านเหล่านั้น และผู้ใหญ่ดีๆ อีกมากมาย

คิดถึงเรื่องราวดีๆ เหล่านี้แล้วทำให้มีกำลังใจในการทำสิ่งเล็กๆ ให้ตัวเองและคนรอบข้าง ไม่ต้องยิ่งใหญ่เพื่อสังคม แต่ทำด้วยความจริงใจ ให้คุณค่ามากกว่ามูลค่า ไม่ใช่ “ตัดช่องน้อยแต่พอตัว” แต่เพื่อร่วมกันบ่มเพาะเมตตาธรรมความดีงาม แม้เล็กน้อยปานใด ก็มีคุณค่ายิ่งใหญ่ที่ประเมินมิได้เสมอ

เป็นพลังเล็กๆ ที่สร้างจิตสำนึกใหม่  เป็นรากฐานให้เกิดสังคมใหม่ที่ดีงามได้