ความขัดแย้งระหว่างวัย ที่ผนวกกับความเห็นต่างทางการเมือง กำลังกลายเป็นปัญหาที่ซีมลึก และปะทุขึ้นมาในทุกห้วงเวลาที่เอื้ออำนวย

ในขณะที่ผู้มีอำนาจก็สาละวนอยู่กับการแก้ไขปัญหาการเมือง เศรษฐกิจ คุณภาพชีวิตที่มองเห็นด้วยตา แต่ปัญหาที่เกิดขึ้น ความขัดแย้งแตกแยกภายในครอบครัวที่ลงลึกไปในจิตใจนั้น อาจกลายเป็นระเบิดเวลาของสังคมไทย โดยเฉพาะช่องว่างระหว่างพ่อแม่ผู้ปกครองกับเด็กและเยาวชนคนรุ่นใหม่ ที่ห่างออกไปทุกที ด้วยเทคโนโลยีที่เหมือนจะเชื่อมต่อกันได้ง่าย แต่กลับผลักไสให้ยิ่งไกลกัน

มีแง่คิดเรื่องการสื่อสารของคนสองวัย ที่ “สยามรัฐ” ขออนุญาตตัดตอนมาเผยแพร่ ซึ่งน่าจะเป็นประโยชน์สำหรับผู้ใหญ่ไม่น้อย เป็นความเห็นของ รศ.นพ.สุริยเดว ทรีปาตี กุมารแพทย์ด้านเด็กและวัยรุ่น ผู้อำนวยการศูนย์คุณธรรม (องค์การมหาชน)รายการวิทยุ "รู้ทันสื่อกับสภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ" ประจำวันเสาร์ที่ 13 สิงหาคม 2565 ออกอากาศทางคลื่น FM 100.5 อสมท. พูดคุยเรื่อง "เนื้อหาแบบไหน ที่คนรุ่นใหม่อยากได้" ตอนหนึ่งได้ระบุถึงการสื่อสารกับคนรุ่นใหม่ ภายในครอบครัวเดียวกันว่า

“คนทุกยุคทุกสมัยมีความเป็นตัวของตัวเองสูง เวลาที่เป็นวัยรุ่นก็จะมีอัตตา (Ego) แข็งแรงมาก ซึ่งเป็นภาวะปกติ ฉะนั้นผู้ใหญ่ต้องมองให้ขาด ก็คือ ต้องสื่อสารพลังบวก ทำหน้าที่เป็นผู้ฟังให้มาก เพราะทุกวันนี้ ผู้ใหญ่พูดมาก พูดเยอะ ฟังน้อย และไม่ค่อยฟังเสียงเด็ก หรือถ้าฟัง ก็มักมีธงปักไว้ในใจเรียบร้อย ไม่มีสิทธิ์คิดแบบอื่น แล้วก็พยายามครอบงำความคิด จนไม่ฟังเสียงเขา

แต่ถ้าเป็นเรื่องของสื่อ หากมีเทคนิคดี ๆ กระบวนการดี ๆ มีกุศโลบายในการนำเสนอที่ดี เช่น อาจใช้เป็นละคร ซึ่งคือวิธีการสื่อสารกับวัยรุ่นให้ได้ใจว่า แม่จะคุยกับลูกอย่างไร ญาติพี่น้องจะคุยกันอย่างไร แบบนี้วัยรุ่นชอบ เพราะแม่เองก็จะได้ศึกษาไปด้วยว่า เราเป็นอย่างนั้นหรือไม่ คือไม่ฟังเสียงเขาเลย มีแต่เราพูดมาก อยากให้ลองทบทวนตัวเองดูว่า กำลังทำหน้าที่อยู่ ถามว่าพูดเยอะไปหรือไม่ หรือฟังน้อยไปหรือไม่

แบบนี้เป็น How to หรือ Educate ครอบครัวไทยว่า เราจะต้องอยู่ร่วมกันอย่างไร แบบไหน ช่วงไหนที่พ่อแม่ควรถอย ลูกควรรุก หรือนิ่ง ๆ หรือถอยบ้าง เนื้อหาพวกนี้ จะนำพาไปสู่ความรู้ในการใช้ชีวิตอยู่ร่วมกัน ไม่ต้องไปเสียเงินพึ่งโค้ชชีวิต จริงบ้างไม่จริงบ้าง หรือไม่ยอมรับ ใช้หลักคิดง่าย ๆ ถ้าบ้านเป็นบ้านมันมีสมดุลของความสุขในบ้านเกิดขึ้นและสื่อสารกันแบบไม่ใช่พร้อมบวก แต่สื่อสารกันแบบบวก

ขอให้หลักการง่าย ๆ ที่สามารถได้ใจของวัยรุ่นได้ ประเด็นแรก 1.เราทำหน้าที่เป็นผู้ฟังที่ดี ซึ่งต้องฟังให้เป็น ฟังอย่างมีสติ ไม่ใช้สายตาจิก เหยียดหยาม ส่อแววดูถูก ดูแคลน ประชดประชัน 2.ฟังแล้วสะท้อนความรู้สึกที่ดีว่า สมัยเราเป็นวัยรุ่น คิดเหมือนกันเลย ให้ลองเล่าต่อว่าเป็นอย่างไรบ้าง บางทีก็โอบไหล่ มันจะไม่ได้ออกมาแบบเหน็บแนมประชดประชันดูถูกเหยียดหยาม หรือเปรียบเทียบ เปรียบเปรย จะไม่มีคำพูดพวกนี้หลุดออกมา นี่คือการทำหน้าที่เป็นผู้ฟัง

3.ฟังแล้วใช้คำถามปลายเปิด ว่าเราเคยเจอปัญหานี้ ถ้าเขาเจอแบบเดียวกัน จะทำอย่างไร แทนที่จะเฉลยให้เขา ก็ปรับเป็นการตั้งคำถามว่า เขาจะแก้ปัญหายังไง ถ้าเจอสถานการณ์นี้ แต่ก็ต้องไม่ใช่ถามที่กวนอารมณ์ แต่ตั้งคำถามเพื่อให้เขาหัดคิดได้แบบพอประมาณ โดยหากเห็นว่า เขาสามารถจัดการได้ก็ปล่อยเขา แต่ถ้าไม่ได้ หรือได้ไม่หมด จึงค่อยให้คำแนะนำ นี่คือวิธีการสื่อสารภายในบ้าน แต่ถ้าเราใช้วิธีอบรมสั่งสอนที่ผู้ใหญ่ชอบใช้อบรมสั่งสอน อันนี้ต้องเลือกใช้ เพราะวิธีการสั่งสอนในยุคนี้ ไม่มีทางได้ใจวัยรุ่นแน่นอน และไม่เฉพาะแต่วัยรุ่น แต่เด็กประถมวัย อนุบาลด้วย เพราะวิธีอบรมสั่งสอน คือ ผู้ใหญ่พูดฝ่ายเดียว พูดเยอะ ยิ่งถ้าเป็นครูก็ต้องกลับไปคิดด้วยเหมือนกัน

ยุคใหม่นี้ไม่ใช่ไปครอบงำทำความคิด เพราะถ้าเราครอบงำความคิด ด้วยการพูดฝ่ายเดียว เราก็จะไม่ได้ยินเสียงของเด็กเลย เช่นเดียวกับสื่อ ก็ต้องนำไปคิดต่อในการผลิตรายการอย่างไร เพื่อที่จะโดนใจคนรุ่นใหม่ และต้องตามยุคสมัยให้ทัน”