ทวี สุรฤทธิกุล

“ซามูไรคนสุดท้าย” เปรียบได้กับนักรบที่สู้เพื่อ “บางสิ่ง” ที่เขายึดมั่น แม้จะต้องสละด้วยชีวิตนั้น

1 ปีก่อนที่น้องน้ำจะลามมาท่วมกรุงเทพฯใน พ.ศ. 2554 มีหนังฮอลลีวูดเรื่องหนึ่งที่ผู้เขียนได้ไปดูมา ด้วยความชอบในตัวดารานำของเรื่อง คือ ทอม ครูซ ในหนังเรื่อง The Last Samurai หนังเรื่องนี้ฝรั่งเป็นผู้สร้างแต่อ้างอิงเข้าไปในประวัติศาสตร์ทางการเมืองของประเทศญี่ปุ่น ในช่วง พ.ศ. 2419 ที่มีเรื่องของ “กบฏซามูไร” ต่อต้านการนำประเทศไปสู่ความเป็นฝรั่งของจักรพรรดิเมจิ ในเรื่องนี้ทอม ครูซ แสดงเป็นทหารอเมริกันขี้เมา ไปรับจ้างสอนการรบสมัยใหม่ให้กับพวกซามูไรที่กำลังเตรียมการบุกวัง แต่ก็ประสบความพ่ายแพ้ แกนนำซามูไรพากันคว้านท้อง บางส่วนสู้จนตายในที่รบ บางส่วนรอดชีวิตออกมาได้ ที่รวมถึง ทอม  ครูซ นั้นด้วย ว่ากันว่าเขากลับไปอยู่ในฐานที่มั่นของซามูไรลึกไกลเข้าไปในป่าเขาและใช้ชีวิตที่เหลือที่นั่น

ผู้เขียนในฐานะอาจารย์ที่สอนรัฐศาสตร์ได้เอาหนังเรื่องนี้มาเปิดขึ้นจอให้นักศึกษากลุ่มหนึ่งได้ดู จากนั้นก็ถามความเห็นจากนักศึกษา ว่าให้แง่คิดเกี่ยวข้องกับการเมืองไทยอย่างใดหรือไม่ บางคนให้ความเห็นที่น่าสนใจมากว่า “สถาบันกษัตริย์พัฒนาก้าวหน้ากว่าทหาร ทหารยังล้าหลังและไม่อยากเปลี่ยนแปลงสถานะของพระมหากษัตริย์” โดยเอาการรัฐประหารในประเทศไทยมาอธิบายในประเด็นนี้ โดยนักศึกษาคนนั้นเชื่อว่า การรัฐประหารหลาย ๆ ครั้ง ทหารคือผู้ถ่วงรั้งประชาธิปไตย และไม่อยากให้ประเทศไทยเป็นประชาธิปไตย เพราะถ้าเป็นประชาธิปไตย ทหารจะถูกกีดกันออกจากวงจรอำนาจทางการเมือง เหมือนอย่างสหรัฐเมริกา

ประเด็นนี้นำมาสู่การเปรียบเทียบ “ทหารกับการรัฐประหาร” ใน 2 ครั้งหลัง คือ 19 กันยายน 2549 กับ 22 พฤษภาคม 2557 ที่ผู้เขียนได้มีประสบการณ์เข้าไปเกี่ยวข้องในการรัฐประหารทั้งสองครั้ง เพราะอยู่ในกลุ่มคนเสื้อเหลืองในการรัฐประหารครั้งแรก และกลุ่ม กปปส.ในการรัฐประหารครั้งหลัง แน่นอนว่าสาเหตุที่ทหารต้องทำรัฐประหารในทั้งสองครั้งนี้ ก็เป็นด้วยนักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้งมีปัญหาขัดแย้งระหว่างกัน และไม่สามารถแก้ไขความขัดแย้งนั้นได้โดยสันติวิธีในระบอบรัฐสภา จนต้องเอากำลังมวลชนของแต่ละฝ่ายมาต่อสู้กัน ที่สุดฝ่ายที่อยู่ข้างปกป้องพระมหากษัตริย์ก็ชนะ เพราะมีทหารนั้นมาช่วย และเข้ามาทำรัฐประหารนั้นเพื่อ “รักษาประชาชนใต้ร่มพระบารมี”

ภายหลังการรัฐประหารทั้งสองครั้งนี้ ทหารได้ประกาศตนว่า “จะปฏิรูปการเมือง” โดยคณะทหารของพลเอกสนธิ บุญยรัตกลิน ได้ทำรัฐธรรมนูญเสร็จภายในเวลา 10 เดือน โดยการใช้สภาร่างรัฐธรรมนูญ ที่มีขั้นตอนที่ค่อนข้างเป็นประชาธิปไตย ในขณะที่คณะทหารของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้เข้า “ทำแท้ง” การทำรัฐธรรมนูญฉบับแรก ที่มีอาจารย์บวรศักดิ์ อุวรรณโณ เป็นประธานร่าง แล้วให้อาจารย์มีชัย ฤชุพันธุ์ มาร่างใหม่ ใช้เวลารวมกันเกือบ 3 ปี รวมถึงที่มีสาระของรัฐธรรมนูญในการสืบทอดอำนาจไว้อย่างโจ่งแจ้ง ผ่านยุทธศาสตร์ชาติและระบบ “สภาเขย่ง” ที่ใช้วุฒิสภาให้มีอำนาจร่วมกับสภาผู้แทนราษฎรในการตั้งนายกรัฐมนตรี ด้วยเหตุนี้ความเห็นที่ว่า “ทหารถ่วงรั้งประชาธิปไตย” จึงไม่เป็นจริงในคณะทหารของพลเอกสนธิ แต่ทหารในคณะต่อมาของพลเอกประยุทธ์ที่อาจจะว่าการใช้เวลาน้อยไป อย่างที่เรียกว่า “ปัสสาวะไม่สุด” น่าจะเป็นปัญหาต่อการปฏิรูปการเมือง จึงมองว่าการอยู่ในอำนาจนาน ๆ นั้นน่าจะดีกว่า อันนำมาซึ่งการจัดสินใจที่เปลี่ยนแปลงไปเรื่อย ๆ เช่นนั้น

ผู้เขียนขอตัดตอนข้อวิเคราะห์อื่น ๆ ไว้ก่อนตรงนี้ เพราะอยากจะพูดถึงประเด็นที่ว่า ทำไม่จึงอยากให้พลเอกประยุทธ์เป็น “ซามูไรคนสุดท้าย” ด้วยการทำให้สิ้นสุดยุคของทหารโบราณที่สังคมส่วนหนึ่งกำลังกล่าวหาว่า “ทหารไม่ยอมเป็นประชาธิปไตย” นั่นก็คือถ้าก่อนวันที่ 24 สิงหาคมนี้ พลเอกประยุทธ์ไม่ยอมลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ท่านก็จะได้ชื่อว่าเป็น “ซามูไรคนสุดท้าย” คนนั้นอย่างแน่นอน

ประการแรก ท่านเป็นนายทหารที่ประกาศก้องร้องออกมาเป็นเพลงว่า “ขอเวลาอีกไม่นาน” ถึงขั้นที่รัฐธรรมนูญ 2560 ก็กำหนดวาระนายกรัฐมนตรีไว้ไม่เกิน 8 ปี แสดงว่าแม้แต่คนที่ร่างรัฐธรรมนูญให้ท่านก็ไม่อยากให้ท่านอยู่นาน การที่ท่าน “ดื้อรั้น” ลากถูอยู่ในตำแหน่งต่อไป จึงเป็นการ “ตระบัดสัตย์” และ “ผิดกฎหมาย” อันผู้ปกครองที่เรียกได้ว่าเป็น “สัตบุรุษ” นี้ไม่พึงกระทำ

ประการต่อมา กาลเวลาเกือบแปดปีที่ผ่านมาได้ชี้ให้เห็นอย่างชัดเจนว่า ท่านไม่ได้ดำเนินการแก้ไขปัญหาทางการเมืองอะไรได้เลย (แม้ว่าจะมีพวกติ่งและฝ่ายประชาสัมพันธ์ของท่านบอกว่าท่านมีผลงานนับร้อยในการพัฒนาประเทศ แต่นั่นน่าจะเป็นผลงานของระบบราชการและเอกชนที่เขาต้องมีหน้าที่พัฒนานั้นอยู่แล้ว) ทั้งยังน่าจะมีการกระทำที่เป็นการ “ซ้ำเติม” เพิ่มปัญหาให้กับการเมืองไทยอีกด้วย นอกจากความไม่จริงใจในการร่างรัฐธรรมนูญเนื่องจากมีเล่ห์กลอันเป็นเผด็จการและการสืบทอดอำนาจอย่างมากมายอยู่ในนั้นแล้ว ในกระบวนการทางรัฐสภาที่เป็นหัวใจของระบอบประชาธิปไตย ก็ถูก “ด้อยค่า” ไม่มีความสำคัญ โดยเฉพาะระบบพรรคการเมืองที่ถูก “ปั้นให้เละเทะ” เพื่อรักษาสภาพให้เห็นว่านักการเมืองนั้นใช้ไม่ได้ ดังที่ได้เกิดความวุ่นวายในสภาอย่างไม่จบสิ้น เพื่อให้ทหารมีความโดดเด่นว่าต้องอยู่เหนือนักการเมืองนี้ตลอดไป

อีกประการหนึ่ง ประชาชนคนไทยภายใต้การปกครองของท่านได้กลายเป็น “สัตว์กินแกลบ” ไปทั้งประเทศ เพราะถูกปกครองด้วยพระราชกำหนดในภาวะฉุกเฉินอย่างไม่รู้จบ โดยอ้างถึงเหตุการณ์พิเศษของบ้านเมืองจนมาถึงโรคระบาดอย่างโควิด-19 นี้ ทำให้การแสดงออกทางการเมืองถูกจำกัด หรือถ้าฝืนทำก็มีความผิดทางกฎหมาย ต้องขึ้นโรงขึ้นศาลนับร้อยนับพันคดี เพิ่มภาระงานให้หน่วยงานด้านความยุติธรรม ที่พลอยทำให้องค์กรที่เกี่ยวข้องต้องเสื่อมโทรมตามไปด้วย (เช่น ถูกกล่าวหาว่าทำงานล่าช้า หรือทำงานเอาใจรัฐบาล เป็นต้น) ซึ่งการกดขี่ประชาชนเช่นนี้(โดยจงใจหรือไม่ก็ตามแต่)ย่อมไม่เป็นผลดีต่อการแก้ไขปัญหาทางการเมือง โดยเฉพาะการแก้ไขความขัดแย้ง ที่ทหารใช้เป็นเหตุผลหลักในการทำรัฐประหารเมื่อ 8 ปีก่อนนี้

“ซามูไรคนสุดท้าย” ในหนังฮอลลีวูดหัวหน้ากบฏยอมทำ “เซปปุกุ” คือการเอามีดสั้นคว้านท้อง หรือที่เคยเรียกกันว่า “ฮาราคิริ” เพื่อรักษาเกียรติของซามูไร เมื่อสำนึกได้ว่า “วัฒนธรรมจำเป็นต้องเปลี่ยนไป” อดีตนั้นซามูไรมีหน้าที่พิทักษ์เจ้านายของตัวเอง แต่ในสังคมสมัยใหม่ของญี่ปุ่นยุคเมจิ พระเจ้าจักรพรรดิได้หันไปเป็นประชาธิปไตย โดยเอาประชาชนนั่นเองมาเป็น “ผู้พิทักษ์” แทนซามูไร ถึงปัจจุบันนี้ประชาชนญี่ปุ่นทุกคนได้กลายเป็นซามูไรไปทั้งหมดแล้ว โดยได้ร่วมกันทำหน้าที่ปกป้องทั้งประชาธิปไตยและพระมหาจักรพรรคิของพวกเขาด้วยตัวของเขาเองทุกคน

“ซามูไรสมัยใหม่” เขารักในประชาชนและประเทศชาติ ไม่ใช่ปกครองกันเพียงเพื่อพี่น้อง 2-3 คน