นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือ สศช. กล่าวว่า สศช.ปรับคาดการณ์การเติบโตเศรษฐกิจไทยในปี 2565 จากก่อนหน้านี้ที่คาดการณ์ไว้ที่ 2.5 - 3.5% เป็น 2.7 - 3.2%โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากการปรับตัวดีขึ้นของการบริโภคภาคเอกชนและภาคการท่องเที่ยว รวมทั้งการส่งออกสินค้าที่ ขยายตัวในเกณฑ์ดีต่อเนื่อง โดยคาดว่ามูลค่าการส่งออกสินค้าในรูปเงินดอลลาร์จะเพิ่มขึ้น 7.9%

โดยการปรับลดประมาณการตัวบนจาก 3.5% เป็น 3.2% เนื่องจากผลจากความขัดแย้งในภูมิภาคต่างๆ และการปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย ส่วนอัตราเงินเฟ้อคาดว่าจะปรับตัวลงในช่วงครึ่งปีหลังโดยคาดว่าเงินเฟ้อเฉลี่ยในปีนี้จะอยู่ที่ 6.6%

ทั้งนี้ ยังต้องติดตามสถานการณ์ความขัดแย้งของสงครามรัสเซียและยูเครน ความขัดแย้งระหว่างสหรัฐฯ จีนและไต้หวัน รวมทั้งมาตรการการคว่ำบาตรต่างๆที่จะเกิดขึ้นต่อเนื่องที่อาจจะกระทบกับเศรษฐกิจและการค้าโลก รวมถึงความไม่แน่นอนของการแพร่ระบาดของโควิด-19 และโรคฝีดาษลิง

ในขณะที่รัฐบาล โดยน.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม พอใจที่เศรษฐกิจไทยขยายตัวได้ต่อเนื่องมา 3 ไตรมาสแล้ว เริ่มตั้งแต่ไตรมาสที่4/64 เป็นต้นมาซึ่งเป็นการฟื้นตัวภายหลังสถานการณ์โควิด-19 ในทิศทางเดียวกับต่างประเทศที่กลับมามีกิจกรรมทางเศรษฐกิจได้ใกล้เคียงกับช่วงก่อนเกิดการระบาดใหญ่ แต่เศรษฐกิจระยะต่อไปยังมีความท้าทาย ซึ่งนายกรัฐมนตรีเน้นย้ำว่า รัฐบาลจะใช้ความพยายามอย่างเต็มที่ในการผลักดันการเติบโตให้ได้ตามเป้าหมายด้วยแผนการจัดการเศรษฐกิจที่วางไว้

น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า จากที่เศรษฐกิจไทยยังเผชิญกับความเสี่ยงแม้สถานการณ์โควิด-19 จะคลี่คลายลงโดยเฉพาะจากกรณีความขัดแย้งระหว่างประเทศ ที่ได้สร้างความเสี่ยงเชิงภูมิรัฐศาสตร์ ส่งผลกระทบต่อราคาพลังงาน วัตถุดิบการผลิตทั้งภาคอุตสาหกรรมและการเกษตร ในช่วงที่ผ่านมานายกรัฐมนตรีได้ติดตามทุกปัจจัยเสี่ยง อย่างใกล้ชิดและมอบหมายหน่วยงานเกี่ยวข้องผ่านคณะกรรมการชุดต่างๆ ในการเตรียมแผนและมาตรการเพื่อสนองตอบแต่ละสถานการณ์ เพื่อบรรเทาผลกระทบต่อประชาชน และผู้ประกอบการในประเทศ ไปพร้อมกับการผลักดันเศรษฐกิจให้เติบโตให้ได้ตามเป้าหมาย

ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรี ได้กำชับทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ดำเนินการตามแผนงานที่จัดเตรียมไว้แล้ว ทั้งในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการบรรเทาผลกระทบต่อประชาชน โดยติดตามดูแลกลไกการตลาดและราคาสินค้า และการดูแลประชาชนโดยเน้นการพุ่งเป้าที่กลุ่มเปราะบาง การดูแลปัญหาหนี้สินครัวเรือนและเอสเอ็มอีในช่วงดอกเบี้ยที่กำลังปรับขึ้น ดูแลการผลิตภาคการเกษตรที่บางส่วนได้รับผลกระทบจากต้นทุนการผลิต การบริหารจัดการเพื่อป้องกันปัญหาจากอุทกภัย

อย่างไรก็ตาม แม้ตัวเลขภาพรวมเศรษฐกิจจะมีความเติบโต แต่เราคาดหวังว่ารัฐบาลจะเร่งเติมเงินในกระเป๋า ไม่ว่าจะเป็นการผลักดันการปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำเพื่อให้สอดรับกับค่าครองชีพ ซึ่งเตรียมจะเสนอเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรีในช่วงเดือนกันยายนนี้ พร้อมหวังว่ารัฐบาลจะออกมาตรการเสริมเข้าช่วยเหลือกลุ่มที่มีวินัยในการชำระหนี้ เพื่อเป็นแรงจูงใจและป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาหนี้เสีย