รศ.ดร.สุขุม เฉลยทรัพย์
สวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยสวนดุสิต

นี่คือ 1 ในรูปธรรมของปัญหาการศึกษาไทย

มิสยูนิเวิร์สไทยแลนด์ 2565 คนล่าสุด ‘แอนนา เสืองามเอี่ยม’ เคยเล่าว่า แม่ของแอนนาเรียนจบสูงสุดแค่ชั้น ป.6 ก็หมดโอกาสเรียนแล้วเพราะบ้านฐานะจนส่งไม่ไหว แม่อยากให้แอนนาเรียนหนังสือสูง ๆ ยอมทำงานหนักหลายที่เพื่อหาเงินส่ง เธอเรียน และแอนนาก็สามารถใช้ “บันไดการศึกษา” พลิกชีวิตที่ไร้ต้นทุนของเธอจนกลายเป็นหญิงเก่ง สวยที่สุดและคนรู้จักมากที่สุดคนหนึ่งในสังคมไทย แต่แอนนาก็ยังเห็นว่ามีเด็กไทยอีกจำนวนไม่น้อยที่เข้าไม่ถึงการศึกษา

ปัญหาการศึกษาไทยพยายามแก้ไขกันมานานก็ยังไม่เห็นเส้นชัยสู่ความสำเร็จเสียที ถ้ามาวิเคราะห์เจาะลึกถึงสาเหตุปัญหาการศึกษาไทยโดยรวมทั้งทางตรงและทางอ้อมในวันนี้ก็มีมากมายนับไม่ถ้วน ไล่ตั้งแต่การบริหารงานของกระทรวงศึกษาธิการ นโยบายทางการเมือง ความเหลื่อมล้ำทางสังคม สภาพเศรษฐกิจ โรคระบาด งบประมาณ นโยบายการศึกษาเปลี่ยนไปมา การปฏิรูปการศึกษา หลักสูตรการศึกษา ความสามารถและทักษะของครู ภาระงานของครูที่มีมาก หนี้สินครู ปฏิสัมพันธ์ระหว่างครูกับผู้บริหาร ครูกับนักเรียน และครูกับผู้ปกครอง ระบบการเรียนการสอน ระบบการวัดและประเมินผล ฯลฯ

ช่วงโควิด-19 ระบาดหนัก การศึกษาก็เป็นประเด็นปัญหาหนึ่งที่สร้างความยุ่งยากโดยเฉพาะด้านการจัดการเรียนรู้ เพราะทุกคนต้องมีระยะห่างทางสังคม เป็นเหตุการณ์ที่ส่งผลกระทบในวงกว้างและลึกที่ทุกคนยังรู้สึก “หลอน” เมื่อนึกถึงไม่ว่าจะเป็นโรงเรียน ผู้บริหาร ครู บุคลากรอื่นทางการศึกษา นักเรียน และผู้ปกครอง แต่ดูเหมือน ‘ครู’ จะแบกรับบทบาทหนักสุดและต้องปรับตัวมากที่สุด เพราะสังคมไทยทุกวันนี้เป็นครอบครัวเดี่ยว พ่อแม่ผู้ปกครองฝากภารกิจการเรียนรู้ การเลี้ยงดูลูกหลานไว้ในมือครู พอโควิด-19 มา ครูจะสอนแบบเผชิญหน้าในชั้นเรียนก็ไม่ได้ ครูทุกคนต้อง ‘ปรับ รับ จูน’ เอาเทคโนโลยีมาช่วยในการเรียนการสอน

แม้ว่าครูมีภาระมากกว่าการสอนเพราะโรงเรียนไม่มีนักวิชาการ ครูจะก้าวหน้าในวิชาชีพได้ตัวครูเองก็ต้อง สอนเป็น สอนเก่ง และสร้างสรรค์ผลงานวิชาการได้ ความก้าวหน้าของอาชีพครูจำเป็นต้องอาศัยหลากหลายปัจจัยที่สนับสนุนเริ่มตั้งแต่กระทรวงศึกษาธิการ การเปลี่ยนแปลงของสถานการณ์ต่าง ๆ ครูดีที่เป็นแบบอย่าง ครูใหญ่ ผู้อำนวยการ ผู้บริหารสถานศึกษา ความคิดและทัศนคติของครู เงินเดือนและค่าตอบแทน นโยบายด้านการศึกษา ผู้ปกครอง ผู้เรียน และเส้นทางความก้าวหน้าในวิชาชีพครู เป็นต้น

ทุกวันนี้สังคมคาดหวังถึงบทบาทของครูทั้งในบทบาทแบบเดิมและบทบาทแบบใหม่ตามการเปลี่ยนแปลงของโลก การเรียนรู้ที่วันนี้กับวันวานแตกต่างกันมากเหลือเกิน แต่กระนั้น ‘ตัวตนคนเป็นครู’ ไม่ว่ายุคสมัยจะเปลี่ยนผ่านอย่างไรก็ไม่ควรเปลี่ยน สำหรับบทบาทของครูที่หลายฝ่ายอยากเห็น เช่น เป็นครูที่ปฏิบัติตามหน้าที่อย่างเคร่งครัด เป็นครูที่มีจิตวิญญาณความเป็นครู เป็นครูที่ยึดมั่นในกฎระเบียบ สร้างวินัยให้กับผู้เรียน เป็นครูที่สนุก เข้าใจผู้เรียน ลดช่องว่างระหว่างวัย เป็นครูที่ให้ความรู้ เน้นการอบรมสั่งสอน เป็นโค้ช คอยสนับสนุนและให้คำแนะนำ เป็นผู้รับฟัง แลกเปลี่ยนประสบการณ์ เป็นผู้รู้กว้าง รู้รอบ รู้หลากหลาย เป็นผู้รู้ลึก รู้จริง มีประสบการณ์ในสิ่งที่ทำ และเป็นผู้อำนวยการเรียนรู้ในห้องเรียน เป็นต้น      

นอกจากนี้ สังคมยังวาดภาพอนาคตถึงลักษณะ “ครูไทยที่ดี” ในโลกยุคใหม่ว่า ครูควรที่จะกล้าที่จะทำอะไรใหม่ๆ  ไม่ยึดติดอยู่กับวิธีการแบบเดิม ๆ รักในอาชีพ มีจิตวิญญาณความเป็นครู ทำงานร่วมกับผู้อื่น บูรณาการทำงาน เรียนรู้ร่วมกัน ปรับตัวให้เข้ากับยุคสมัย ประยุกต์ความรู้มาใช้พัฒนาการเรียนการสอน มีความฉลาดทางอารมณ์ มีความอดทน มีความรอบรู้ มีความรู้เรื่องทางการเงิน มีทักษะภาษาต่างประเทศ  มีทัศนคติที่ดี มีเมตตา เข้าใจเด็ก เก่งเทคโนโลยีและการนำไปใช้ได้ สนับสนุนกระบวนการเรียนรู้ของเด็ก และสื่อสารกับผู้ปกครองได้ดี ฯลฯ                                                 

ไม่แปลกใจนักที่ครูไทยในวันนี้กลายเป็น ‘ครูของทุกสิ่ง’ สังคมไทยไม่ว่าจะดีขึ้นหรือแย่ลงทุกคนก็จะชี้นิ้วลงมาที่ครูด้วยเสมอ แต่ครูไทยจำนวนไม่น้อยกลับยังมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ไม่สะดวกสบายนัก ยิ่งเมื่อมองผลสำรวจดัชนีครูไทยล่าสุด ปี 2564 ก็สะท้อนชัดเจน เพราะดัชนีที่ได้คะแนนต่ำที่สุด คือด้านการประหยัด ไม่ฟุ้งเฟ้อ ไม่เป็นหนี้เป็นสิน เท่ากับ 6.75 คะแนน แล้ววันนี้เยาวชนไทยรุ่นใหม่ยังอยากเป็นครูกันอีกหรือไม่ก็น่าคิดอยู่เหมือนกัน

ท้ายนี้ เพื่อเป็นการสะท้อนความคิดเห็นเกี่ยวกับครูไทยในหลากหลายมิติทั้งเรื่องการปรับตัวช่วงโควิด-19 ปัจจัยที่มีผลต่อการพัฒนาครู บทบาทของครูยุคใหม่ และลักษณะครูที่ดียุคใหม่ รวมถึงความอยากเป็นครูหรือไม่ ทุกท่านสามารถติดตามผลสำรวจโพลของสวนดุสิตในสัปดาห์นี้ครับ...