วันที่ 26 สิงหาคมนี้ หาก พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ อดีตประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษ ยังอยู่จะมีอายุครบ 102 ปี  ที่น่าสนใจก็คือในห้วงเดือนสิงหาคมนี้ ชื่อของพล.อ.เปรมถูกเอ่ยถึง และหยิบบกมาเพื่อเปรียบเทียบกับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ท่ามกลางการเมืองเขม็งเกลียวขึ้นจากกรณีการตีความสถานะของพล.อ.ประยุทธ์ ว่าดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีครบวาระ 8 ปีตามรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 158

และดูเหมือนมีการวางพล็อตให้สอดรับในท่วงทำนองและบรรยากาศให้คล้ายคลึงกัน ด้วยความเคลื่อนไหวของ 99 พลเมือง ที่ออกมาเรียกร้องให้พล.อ.ประยุทธ์ลาออกจากตำแหน่ง ก่อนวันที่ 24 สิงหาคม 2565 ด้วยตัวเลข 99 นั้นเหมือนจะล้อไปในอดีตช่วงที่พล.อ.เปรมดำรงตำแหน่งนายกฯเป็นสมัยที่ 4 ปี  ในเดือนมิถุนายน 2531 ที่มีนักวิชาการรวมตัวกัน 99 คนทูลเกล้าฯถวายฎีกาต่อ พระบาทพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 หรือที่เรียกว่า "ฎีกา99”

ก่อนที่พล.อ.เปรมจะยุติบทบาททางการเมือง ด้วยวลี “ผมพอแล้ว”...

โดยเฉพาะการแสดงความเห็นของ ศ.ดร.ไชยันต์ ไชยพร อาจารย์ประจำภาควิชาการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผ่านเพจเฟซบุ๊กว่า

 “-ป๋าเปรมเป็นนายกรัฐมนตรีมา 8 ปีถึง พ.ศ. 2531 นักวิชาการ 99 คน เข้าชื่อกันในนาม "ฎีกา 99" ป๋ายังรับฟังและยุติบทบาททางการเมือง

-ป๋าเปรมยังฟังเสียงนักวิชาการ 99 คน เมื่อปี 2531 ลุงตู่ควรฟัง 99 ปัญญาชน ชนชั้นนำ ขณะนี้ ด้วยครับ

-เรากำลังกันคิดว่า ถ้าผู้นำดี ก็ให้อยู่ไปได้โดยไม่มีวาระ ใช่ไหมครับ?

-รัฐธรรมนูญกำหนดให้เป็นนายกรัฐมนตรีไม่เกิน 8 ปี จะตีความอย่างไรไม่สำคัญเท่าลุงกำหนดตัวเอง…”

อย่างไรก็ตาม นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ฝ่ายกฎหมาย ได้ให้เห็นต่อผู้สื่อข่าวที่ถามว่า ณ เวลาที่ พล.อ.เปรม ลงจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเมื่อครบ  8 ปี และบอกว่าพอแล้ว แตกต่างจากครั้งนี้อย่างไรว่า เป็นคนละเรื่องกัน   รัฐธรรมนูญเขียนคนละอย่าง เพราะสมัย พล.อ.เปรมไม่ได้ถูกบังคับอะไร ท่านก็บอกป๋าพอแล้วลูก

ขณะที่นายสุพจน์ ไข่มุกด์ อดีตรองประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) และอดีตตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ให้สัมภาษณ์สำนักข่าวไอ.เอ็น.เอ็นระบุว่า ประเด็นนี้ในฐานะที่เป็นอดีตตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ เห็นว่า ศาลรัฐธรรมนูญ จะพิจารณาไปตามบทบัญญัติของกฎหมาย และเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ หรือความมุ่งหมายของรัฐธรรมนูญ ที่มีอยู่แล้ว ซึ่งเรื่องนี้ ทั้งหมดขึ้นอยู่กับศาลรัฐธรรมนูญจะพิจารณา

ทั้งนี้ ส่วนตัวนายสุพจน์เห็นว่า การนับวาระ 8 ปีของพล.อ.ประยุทธ์ ควรนับตั้งแต่การได้เป็นนายกรัฐมนตรีโดยสมบูรณ์ ตามรัฐธรรมนูญ 2560 คือ ตั้งแต่วันที่ 9 มิถุนายน 2562 เป็นต้นมาเพราะหากนับก่อนหน้านั้น ถือว่าเป็นนายกรัฐมนตรี แต่ไม่ใช่นายกรัฐมนตรีโดยสมบูรณ์ตามรัฐธรรมนูญ2560 ดังนั้น โดยประเพณีการปกครอง ต้องนับตั้งแต่วันที่ได้รับโปรดเกล้าฯ ลงมา หลังการเลือกตั้ง

กระนั้นก็ตาม เราเชื่อว่ากระบวนการพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญในเรื่องนี้จะดำเนินการอย่างรวดเร็ว เพื่อให้ได้ข้อยุติเพื่อสกัดปัญหาความขัดแย้งวุ่นวายในสังคม