กรณีนายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน มีแนวคิดการเตรียมปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ เพื่อให้สอดรับกับค่าครองชีพที่ปรับตัวสูงขึ้น โดยคาดว่าจะเสนอเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรีได้ช่วงต้นเดือนกันยายน 2565 

สำหรับตัวเลขเบื้องต้นที่กำหนดจะปรับขึ้นราว 5-8% มีพื้นฐานจากคาดการณ์อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (GDP) และภาวะเงินเฟ้อ โดยนำ GDP ของแต่ละจังหวัดมาคำนวณ ซึ่งจะสามารถตอบคำถามเกี่ยวกับอัตราการการปรับขึ้ยของแต่ละจังหวัดได้ โดยสถานการณ์ค่าครองชีพจากฐานเดิมจะเห็นว่าบางพื้นที่ อย่าง กทม. ภูเก็ต และ EEC คงต้องปรับขึ้นก่อนและสูงขึ้นมากกว่าพื้นที่อื่น เพราะค่าครองชีพ และ GDP จังหวัดนั้นสูงมาก

นอกจากนั้น จากเดิมที่วางกำหนดไว้ให้มีผลบังคับใช้ช่วงต้นปี 2566 นั้น แต่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน มองว่า ส่วนตัวเห็นว่าควรจะให้มีผลบังคับใช้วันที่ 1 ตุลาคม 2565 เพราะเป็นเวลาที่เหมาะสม ซึ่งขณะนี้อยู่ในขั้นตอนหารือกับสภานายจ้างว่าเป็นไปได้หรือไม่ที่จะปรับให้ขึ้นเร็วกว่าต้นปี 66 เนื่องจากขณะนี้สินค้าอุปโภคบริโภคมีการปรับตัวขึ้นไปแล้ว

“เป็นเรื่องช่วงเวลาที่เหมาะสมมากกว่า ถ้าคิดว่าการขึ้นค่าแรงเป็นเรื่องการเมือง คงขึ้นค่าแรง 492 บาทตามข้อเรียกร้องของผู้นำแรงงานไปแล้ว ขอร้องอย่าเอาเรื่องค่าแรงเป็นเรื่องการเมือง เพราะเป็นเรื่องของเศรษฐกิจและความมั่นคงของชาติ”

ขณะที่ภาคเอกชนออกมาขานรับนโยบายดังกล่าว โดยนายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ระบุ หอการค้าไทยเห็นด้วยที่ต้องมีการปรับค่าแรงขั้นต่ำ เพราะสถานการณ์เศรษฐกิจในโดยเฉพาะเงินเฟ้อของไทยที่พุ่งสูงขึ้น ส่งผลให้ค่าครองชีพสูงตามไปด้วย ซึ่งหากไม่มีการปรับค่าแรงขั้นตำก็จะมีผลกระทบต่อคนที่มีรายได้ต่ำ ส่งผลต่อกำลังซื้อของประชาชน ที่ผ่านมาหอการค้าไทยพยายามผลักดันให้ภาครัฐออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ เช่น คนละครึ่ง ถือว่าประสบความสำเร็จทำให้เกิดการจับจ่ายใช้สอยมากขึ้น

ทั้งนี้การปรับค่าแรงขั้นต่ำตามที่กระทรวงแรงงานกำหนดเพดานไว้ที่ 5-8 % คงต้องดูตามความเหมาะสมในแต่ละพื้นที่ ซึ่งคณะกรรมการไตรภาคีจะเป็นผู้พิจารณาว่าจะปรับขึ้นเท่าไร โดยการพิจารณาก็จะดูเรื่องของอัตราเงินเฟ้อไปด้วย แต่หากจะมีการปรับค่าแรงขั้นต่ำอัตราเดียวทั่วประเทศทั่วประเทศนั้น หอการค้าฯ ไม่เห็นด้วยอย่างยิ่ง

เราเห็นด้วยกับแนวทางการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ แต่สิ่งที่ทุกฝ่ายต้องร่วมกันตระหนักและเตรียมรับมือก็คือ การปรับขึ้นของราคาสินค้า อิปุโภคและบริโภคต่างๆ ที่ขยับขึ้นมารออยู่แล้วจะมีการถีบตัวสูงขึ้นอีก และแรงงานต่างด้าวที่จะทะลักเข้ามาซึ่งจะต้องมีมาตรการที่เข้มข้น ป้องกันปัญหาการค้ามนุษย์และโรคติดต่อ