ถือเป็นก้าวสำคัญของการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม เมื่อรัฐสภาผ่านร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ว่าด้วยการปรับเป็นพินัย พ.ศ....การพิจารณาในที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภาในวาระที่ 3 แม้ชื่อจะเข้าใจยาก แต่กฎหมายฉบับนี้จะช่วยสร้างความเป็นธรรมและลดความเหลื่อมล้ำให้กับสังคม

โดยร่าง พ.ร.บ.ปรับเป็นพินัยนี้ต้องชื่นชมรัฐบาล ที่คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตั้งแต่เมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2564 ที่ผ่านมาก่อนส่งเข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภาและผ่านวาระ 3 เมื่อวันที่ 2 สิงหาคม 2565 เป็นเวลา 18 เดือน

จากโพสต์ในเพจเฟซบุ๊กของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม อธิบายเอาไว้ให้ทราบที่มาที่ไปและมีความเข้าใจในกฎหมายฉบับนี้ไว้จึงขอยกมาเผยแพร่ ตอนหนึ่งระบุว่า “กฎหมายการปรับเป็นพินัยนี้ เป็นส่วนหนึ่งของการปฏิรูประบบการกำหนดโทษใหม่ ตามแผนการปฏิรูปประเทศด้านกฎหมาย ซึ่งผมได้มอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปทำการศึกษากฎหมายของต่างประเทศ เช่น ประเทศเยอรมนี ฝรั่งเศส อิตาลี และโปรตุเกส แล้วนำมาประยุกต์ใช้ให้เหมาะสมกับบริบทประเทศไทย อีกทั้งเพื่อให้เกิดความรอบคอบ จึงได้จัดให้มีการรับฟังความคิดเห็น และการสัมมนารับข้อสังเกต จากหน่วยงานของรัฐ ประชาชน นักเรียน นักศึกษา และผู้ที่เกี่ยวข้องอย่างกว้างขวางอีกด้วย

ทั้งนี้ สิ่งที่เป็นหัวใจของกฎหมายนี้ ที่ถือว่าเป็นการรักษาความเป็นธรรม และเคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของทุกคนบนผืนแผ่นดินไทย อย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน ก็คือ การเปลี่ยนการลงโทษ จากการทำผิดทางอาญาที่ไม่รุนแรง ไม่มีโทษถึงจำคุก (ดูกรณีตัวอย่างได้จากท้ายโพสต์นี้ครับ) ให้เป็น “โทษปรับทางพินัย” ซึ่งเป็นผลดีหลายประการ เช่น

1. ไม่ถูกบันทึกประวัติอาชญากรรม ไม่ต้องพิมพ์ลายนิ้วมือให้เสียประวัติ เสียชื่อเสียง กระทบต่อหน้าที่การงาน

2. รับโทษปรับอย่างเดียว โดยไม่มีการกักขังระหว่างพิจารณาคดี ไม่ต้องเป็นภาระในการประกันตัว

3. ค่าปรับสามารถผ่อนชำระได้ หรือเลือกทำงานบริการสังคมแทนก็ได้

4. ศาลอาจพิจารณาลดค่าปรับ หรือเพียงตักเตือนโดยไม่ต้องปรับได้ หากเป็นการทำผิดเพราะความยากจน โดยศาลจะคำนึงถึงพฤติกรรมการกระทำผิดและสถานะทางเศรษฐกิจด้วยเสมอ

ยิ่งกว่านั้น ในภาพรวมของกระบวนการยุติธรรมแล้ว ก็จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการบังคับใช้กฎหมายของประเทศ แก้ปัญหาคดีล้นศาล เพราะคดีเล็กน้อยที่ปรับเป็นพินัยแล้ว ก็จะลดภาระในกระบวนการยุติธรรม สามารถใช้เวลากับคดีใหญ่ๆ สำคัญกว่าได้มากขึ้น ก็จะเป็นการขจัดวาทกรรมที่ว่า ความยุติธรรมที่ล่าช้า คือความไม่ยุติธรรม ในทางอ้อมได้อีกด้วย”