ในลิ้นชักความทรงจำ /ยูร  กมลเสรีรัตน์

ลันนา เจริญสิทธิชัย ที่ผมเรียกว่า “พี่กิมหลั่น” เป็นชาวบ้าน ไม่เคยเขียนหนังสือมาก่อนเลยในชีวิต จึงไม่รู้จะเริ่มต้นยังไง คนเขียนไม่เป็น  อย่าว่าแต่ชาวบ้านเลย มันยากนะ เขียนไม่ออกหรอก

คำพูน บุญทวี จึงแนะวิธีการให้กับภรรยา นั่นก็คือ  ให้พูดอัดเทป อยากเล่าเกี่ยวกับชีวิตตัวเองยังไง ให้พูดออกมาจากความรู้สึกตามที่นึกได้  วิธีสอนการเขียนแบบนี้  ผมว่าเป็นเทคนิคที่เข้าท่ามาก ผู้เป็นภรรยาจึงพูดอัดใส่เทป ดังคำบอกเล่า...

“ลุงเขาให้พูดใส่ม้วนเทปเล่าชีวิตตัวเองสมัยอยู่ที่พนมสารคาม แปดริ้ว(ฉะเชิงเทรา) เป็นคนจีนที่ยากจนมาก  อัดเทปตั้งหลายสิบม้วน แล้วถอดเทปเขียนออกมา ลุงช่วยดูให้อีกทีหนึ่ง”  

คำพูน บุญทวีมาอ่านดูว่าจะดำเนินเรื่องอย่างไร เอาตอนไหนขึ้นก่อน-หลัง  โยงลูกศรตรงที่เขียนวงกลมตรงนั้นตรงนี้ ลายไปหมด  แล้วให้ภรรยาเขียนเรียบเรียงใหม่

จากนั้นคำพูน บุญทวีอ่านดูอีกครั้ง พร้อมกับแก้ไขและขัดเกลาในเรื่องการใช้ภาษาให้สละสลวยขึ้น  ผลงานเรื่องนี้เป็นสารนิยายเรื่อง “เจ๊กบ้านนอก” ใช้นามปากกา “กิมหลั่น” ซึ่งเป็นชื่อเล่นในภาษาจีน บางคนคงเคยได้ยินชื่อหนังสือ

คนเราเมื่อถึงที่สุดของชีวิต  เหมือนคนจนตรอก มันก็จำเป็นต้องเสี่ยงดวง จะรอคอยโชคชะตาลอยมาหานั้น ไม่มีทางเป็นไปได้เลย  สามีภรรยาคู่นี้จึงคิดตั้งชื่อสำนักพิมพ์เองว่า ชื่อว่าสำนักพิมพ์โป๊ยเซียน เพราะลันนา เจริญสิทธิชัยชอบปลูกดอกโป๊ยเซียน ซึ่งเป็นดอกไม้นำโชคมาตั้งแต่ยังเด็ก และยังนับถือเซียนองค์หนึ่งใน 8 เซียนเป็นพิเศษ

ภายหลังในชั้นไม้ที่ชั้นบนของบ้านเช่า จะมีรูปปั้นเซียนขนาดเล็กทั้ง 8 เซียน ที่เรียกว่า โป๊ยเซียน  ตั้งเรียงรายอยู่ แต่การพิมพ์หนังสือพ็อกเก็ตบุ้คสักเล่มหนึ่ง  ต้องใช้เงินหลายหมื่นบาท  คำพูน บุญทวีท้วงติงเป็นเชิงให้ข้อคิดกับภรรยาว่า...

“การพิมพ์หนังสือพ็อกเก็ตบุ้คไม่ใช่ราคาถูกเหมือนหนังสือใบ้ห้วย ถ้าเราพิมพ์สามพันเล่ม ต้องใช้เงินอย่างต่ำสี่หมื่นหรือห้าหมื่น  ถ้าขายไม่ถึงครึ่งแปลว่าเจ๊งไปเลย  เธอบอกว่าจะไปปรึกษาสายส่งเคล็ดไทยดูก่อนว่า จะใช้เงินเท่าไหร่”

เช้าวันต่อมา ลันนา  เจริญสิทธิชัยไปที่บริษัทเคล็ดไทย กลับมาตอนบ่ายพร้อมกับบอกข่าวว่า ผู้จัดการเคล็ดไทยจะออกค่ากระดาษกับค่าพิมพ์ให้ก่อน  และจะจัดจำหน่ายให้ โดยคิดให้ 30 เปอร์เซ็นต์ ในจำนวน 3 พันเล่ม ถ้าขายได้หมด จะได้กำไรไม่ต่ำกว่า 3 หมื่นหรือ 4 หมื่นบาท ตกลง

เอาต้นฉบับหนังสือบันเทิงคดีเรื่อง “สัตว์พูดได้”ของ คำพูน บุญทวีไปให้เคล็ดไทยพิมพ์เป็นเล่มแรกก่อน ซึ่งเป็นการพิมพ์ครั้งที่ 2

ของดีย่อมดีวันยังค่ำ หนังสือดีมีคุณค่ามีหรือจะขายไม่ได้  ผลงานของนักเขียนซีไรท์คนแรกของประเทศไทยไม่มีวันตาย  หักลบกลบหนี้กับเคล็ดไทยแล้ว  “สัตว์พูดได้”ได้กำไร 3 หมื่นกว่าบาท

“ทำให้เรามีกำลังใจในการทำงานเพิ่มขึ้นเป็นทับทวีคูณ เพื่อจะได้ประกาศว่า สำนักพิมพ์โป๊ยเซียนแห่งนี้คือ คำพูน บุญทวี ที่เขาว่าตายแล้ว ให้ยืนอยู่อย่างทระนงองอาจสืบไป”

สำนักพิมพ์โป๊ยเซียนเพิ่งตั้งขึ้นใหม่ ๆ ยังไม่เป็นที่รู้จักแพร่หลาย  หนังสือเล่มต่อไปจึงจัดพิมพ์นวนิยายเรื่อง “นายหน้า แมงดา อาโก โสเภณีเด็ก”ของคำพูน บุญทวี เป็นเรื่องที่สอง แล้วจึงพิมพ์สารนิยายเรื่อง “เจ๊กบ้านนอก”ตามมา  หากเมื่อพิมพ์ “เจ๊กบ้านนอก”ออกมาแล้ว  ก็กลัวขายไม่ได้  เพราะนามปากกา “กิมหลั่น”เป็นนักเขียนใหม่ถอดด้าม

ด้วยความไม่รู้แล  ะไม่มีประสบการณ์  จึงวางแผนโฆษณาหนังสือ ด้วยการให้ “กิมหลั่น”เอาผ้าขาวพันลำตัวตามทางขวาง  เขียนด้านหลังว่า “คุณอ่านเจ๊กบ้านนอกหรือยัง” เอาปกหนังสือ “เจ๊กบ้านนอก”กับคำนำมาเขียนว่า “คุณอ่านเจ๊กบ้านนอกหรือยัง” แล้วถ่ายเอกสารทำเป็นใบปลิว จ้างนักศึกษาสองคน ๆ ละ 100 บาท เดินตามหลัง เพื่อแจกใบปลิว

“ฉันเอาเอี๊ยมจีนที่สวมทับอยู่ก่อน สวมหมวกกุ้ยเล้งของจีน แล้วเอาหนังสือวางบนแผ่นกระดาษที่มีเชือกคล้องคอและเดินขายไป  ร้องเชิญชวนไป ส่วนนักศึกษาสองคนเป็นคนแจกใบปลิวให้กับคนที่เดินผ่านไปมา ไปเดินครั้งแรกที่สนามหลวง ลุงเดินตามหลังห่าง ๆ คอยเป็นกำลังใจ”

พี่ “กิมหลั่น”สารภาพตามตรงว่า ตอนนั้นไม่รู้สึกอายอะไรอีกแล้ว  เพราะความจำเป็นมันบังคับให้ต้องทำ  ปรากฏว่าขายหนังสือไม่ได้เลย  จึงขนหนังสือไปเดินแถวถนนเจริญกรุงและเยาวราช ถึง 3 วัน  เธอเล่าว่าคนจีนย่านนั้นโกรธมาก ....

“ฉันเดินถือหนังสือไปถามคนจีนร้านหนึ่งว่า คุณอ่านเจ๊กบ้านนอกหรือยัง  เขามาต่อว่าเสียงดัง  พูดว่าเจ๊กได้ยังไง  ดูถูกดูหมิ่นคนจีน  ฉันเลยต้องชี้แจงให้ฟังว่า ฉันไม่ได้ดูถูก ฉันก็เป็นคนจีน   เรื่องที่เขียนไม่ใช่เรื่องดูถูกคนจีน เป็นชีวิตฉันตั้งเกิดจนใหญ่  พ่อแม่นั่งเรือสำเภามาจากแผ่นดินใหญ่  มาปักหลักทำมาหากินที่บ้านนอก แปดริ้ว”

หลังจากอธิบายให้เข้าใจว่าเรื่องราวเป็นยังไงและส่งภาษาจีนให้กัน คนย่านนั้นก็ซื้อหนังสือไปอ่าน แต่วิธีการนี้ไม่ได้ทำให้ยอดของหนังสือที่ฝากขายกับสายส่งเคล็ดไทยกระเตื้องขึ้นมาสักเท่าไหร่  ช่วงนั้นสามีภรรยาคู่นี้ต้องกินอยู่อย่างประหยัด ต้มจับฉ่ายหม้อหนึ่งไว้เยอะ ๆ กินได้เป็นเดือน

คำพูน บุญทวี จึงโทรศัพท์หาคนเก่าแก่ในทีมงานของนิตยสารฟ้าเมืองไทย  ผมจำชื่อไม่ได้  นานมากเหลือเกิน เพื่อเปิดตัวสารนิยายเรื่อง “เจ๊กบ้านนอก” เขาจึงเป็นคนประสานงานกับเพื่อนฝูง  ช่วยกันสมทบทุนเป็นค่าเช่าห้องของโรงแรม

“เปิดตัวหนังสือที่โรงแรมเวียงใต้ได้ เพราะการช่วยเหลือของเพื่อนพ้องน้องพี่ทั้งนั้น แล้วเชิญนักข่าวไปในงาน นักข่าวที่ไปกัน  ตอนแรกยังไม่รู้ว่า“กิมหลั่น”เป็นใคร พอรู้ว่าเป็นภรรยาของคำพูน  บุญทวี ก็เลยเขียนข่าวลงให้คึกโครม” “พี่คำพูน”เล่าด้วยรอยยิ้มอิ่มใจ

“เจ๊กบ้านนอก”ขายหมดภายในเวลา 6 เดือน สำนักพิมพ์โป๊ยเซียนจึงพิมพ์ซ้ำเป็นครั้งที่ 2

ถึงวันนี้พิมพ์ไปแล้ว 4 ครั้ง สำนักพิมพ์โป๊ยเซียนแจ้งเกิดในวงการหนังสือแล้ว  “กิมหลั่น”จึงมี

กำลังใจเขียนสารนิยายเรื่องต่อมาคือ“ลูกสาวเจ๊กบ้านนอก” ได้รับการพิมพ์ซ้ำ  2  ครั้ง จากนั้นจึงทยอยพิมพ์ผลงานของคำพูน บุญทวี ออกมา ทั้งผลงานเก่าและผลงานใหม่

หลังจากที่พิมพ์หนังสือเองในนามสำนักพิมพ์โป๊ยเซียน  ไม่ว่ามีงานเกี่ยวกับหนังสือที่ไหน  ทั้งงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ สมัยนั้นจัดที่คุรุสภา บางปีถ้าคุรุสภามีการจัดงาน ไม่มีสถานที่ ก็จะจัดที่อื่นหรืองานหนังสือย่อย ๆ   “พี่กิมหลั่น”ก็จะไปออกบู้ธขายหนังสือ ผลงานของคำพูน บุญทวีขายได้อยู่แล้ว โดยเฉพาะนวนิยายเรื่อง “ลูกอีสาน” น้อยคนมากที่จะไม่รู้จัก  

นักเขียนซีไรท์คนแรกที่ชื่อคำพูน  บุญทวี  มีชื่อเสียงระดับประเทศ  ถ้าเป็นนักเขียนต่างประเทศ ป่านนี้รวยไปสิบชาติแล้ว  “พี่กิมหลั่น” ไม่ต้องขนหนังสือไปขายตามงานต่าง ๆ ให้ลำบากหรอก  บางงานไม่เกี่ยวกับหนังสือเลยก็มี  แม้กระทั่งงานวัด ภรรยาของนักเขียนซีไรท์ก็ไปขายหนังสือมาแล้ว

(อ่านต่อตอนหน้า)

“ความสำเร็จนั้น บ่อยครั้งเกิดขึ้นจากการก้าวพลาดไปบนเส้นทางที่ถูกต้อง”(อัลเบิร์ต ไอสไตน์)