รศ.ดร.สุขุม เฉลยทรัพย์
สวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยสวนดุสิต

คนไทยทุกกลุ่มทุกวัยเพิ่งจะรู้สึกผ่อนคลายสบายใจกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 กล้าออกไปใช้ชีวิตติดต่อกับผู้คนมากขึ้นทั้งออกไปทำงาน ไปจับจ่ายซื้อของ ไปเรียนหนังสือ เดินทางทำธุระข้ามพื้นที่ ไปเที่ยว ไปต่างประเทศ หลังจากที่ต้อง ‘เก็บ กด กัก’ ความต้องการมายาวนานเกือบจะ 3 ปี และตามมาติด ๆ ด้วยกระทรวงสาธารณสุขประกาศปลดล็อกโควิด-19 จากโรคติดต่อร้ายแรงอันตรายให้เป็นโรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวังและไม่ใช่โรคประจำถิ่น ซึ่งให้มีผลตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2565 เป็นต้นไป

แต่ขณะนี้ผู้คนจำนวนไม่น้อยกลับรู้สึกหวั่นไหวและวิตกกังวลกับโรคระบาดใหม่ ‘ฝีดาษลิง’ (Monkeypox) ที่แพร่ระบาดอย่างรวดเร็ว จนองค์การอนามัยโลกได้ออกประกาศให้ ‘ฝีดาษลิง’ เป็น ‘ภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขระหว่างประเทศ’ ตั้งแต่วันที่ 23 ก.ค. ที่ผ่านมา หลังพบการแพร่ระบาดกว่า 75 ประเทศทั่วโลก ผู้ป่วยมากกว่า 17,000 คน รวมถึงประเทศไทยที่ประกาศพบผู้ป่วยติดเชื้อชาวไนจีเรียคนแรกที่ภูเก็ต ส่วนข้อมูลล่าสุดทั่วโลกมีผู้ติดเชื้อสะสมยืนยันแล้ว
28,792 ราย

โรคฝีดาษลิงตรวจพบเป็นครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. 2513 ที่สาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก เป็นโรคที่หายเองได้ ระยะแสดงอาการประมาณ 2 ถึง 4 สัปดาห์ อาการป่วยรุนแรงเกิดขึ้นในเด็กมากกว่า อาการของโรคระยะแรกคือ มีไข้ ปวดหัวมาก ต่อมน้ำเหลืองโต ปวดหลัง ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ และอ่อนเพลียมาก ต่อมาจะมีตุ่มผื่นขึ้นตามอวัยวะต่าง ๆ เช่น บริเวณใบหน้า แขนขา ฝ่ามือฝ่าเท้า เยื่อบุช่องปาก เยื่อบุตา อวัยวะเพศ เป็นต้น อัตราการป่วยตายอยู่ที่ประมาณร้อยละ 3-6

การแพร่เชื้อจากคนสู่คนติดต่อผ่านการสัมผัสรอยโรคบนผิวหนัง ของเหลวในร่างกาย ละอองน้ำจากการหายใจ และวัสดุที่ปนเปื้อน เช่น ปลอกหมอน ผ้าปูที่นอน และการแพร่เชื้อจากสัตว์สู่คนติดต่อผ่านการสัมผัสโดยตรงกับเลือด สารคัดหลั่ง น้ำหนอง ตุ่มหนองของสัตว์ ผื่นสัตว์ การถูกสัตว์ติดเชื้อกัดหรือข่วน และการรับประทานอาหารที่มีเนื้อสัตว์ติดเชื้อและปรุงไม่สุก

ด้านกระทรวงสาธารณสุขยืนยันตัวเลขอย่างเป็นทางการว่าพบผู้ป่วยในไทยเพียงแค่ 4 รายเท่านั้น และไม่ต้องตื่นตระหนกหรือกลัวหากไม่ได้เป็นผู้สัมผัสใกล้ชิดก็จะไม่มีความเสี่ยงและไม่ต้องตรวจเพิ่ม ส่วนการกินข้าวร่วมกันโอกาสติดเชื้อก็น้อยมาก ๆ และหากไม่ใช่กลุ่มเสี่ยงก็ไม่ต้องตรวจหาเชื้อ แต่กลุ่มเสี่ยงที่มีการสัมผัสใกล้ชิด แนะนำว่าควรตรวจหาเชื้อ ทั้งนี้กระทรวงสาธารณสุขได้สั่งจองวัคซีนป้องกันฝีดาษไปแล้ว และคาดว่าจะสามารถนำเข้ามาประมาณปลายเดือนสิงหาคม 2565 ขณะที่นายกฯประยุทธ์สั่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด พร้อมเน้นย้ำประชาชนต้องป้องกันตนเองตามมาตรการทางสาธารณสุขอย่างเคร่งครัด

แม้ว่าการแพร่ระบาดของโรคฝีดาษลิงของโลกช่วงนี้จะมาจากกลุ่มชายรักชายเป็นส่วนใหญ่ และการติดต่อนั้นยากกว่าโควิด-19 เป็นร้อยเท่า และยิ่งคนไทยที่เกิดก่อน พ.ศ. 2517 หรือผู้ที่มีอายุ 48 ปีขึ้นไป ถ้าเคยปลูกฝีกันไข้ทรพิษแล้วโอกาสติดโรคฝีดาษลิงเกือบเป็นศูนย์ก็ว่าได้ เพราะในร่างกายมีภูมิต้านเชื้อที่คงอยู่ยาวนานถึง 88 ปี แม้จะไม่ได้ฉีดวัคซีนกระตุ้นก็ตาม แต่คนไทยก็คงอดวิตกกังวลไม่ได้กับการระบาดของฝีดาษลิงที่คืบคลานใกล้ตัวเข้ามาโดยเฉพาะกับผู้ที่อายุน้อย ๆ

เพื่อเป็นการสะท้อนความคิดเห็นของประชาชนคนไทยทั่วประเทศว่า ‘คิดอย่างไร? กับโรคฝีดาษลิง’ สวนดุสิตโพลจึงสอบถามความคิดเห็นประชาชนคนไทยทั่วประเทศทางออนไลน์ในประเด็นต่าง ๆ ได้แก่

ระดับความวิตกกังวลที่มีต่อการรับรู้ข่าวโรคฝีดาษลิงที่สื่อนำเสนอ

ระดับความรู้และความเข้าใจเกี่ยวกับโรคฝีดาษลิง

ระดับความวิตกกังวลระหว่างโควิด-19 กับฝีดาษลิง โดยเปรียบเทียบ

แหล่งข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับโรคฝีดาษลิงที่น่าเชื่อถือมากที่สุด

ศักยภาพในการรับมือกับโรคฝีดาษลิงของรัฐบาล

ความต้องการจากรัฐบาลในการดำเนินการเรื่องโรคฝีดาษลิง

แล้วตอนนี้ท่านผู้อ่านคิดอย่างไรกันบ้าง? กับโรคฝีดาษลิง จะเหมือนหรือแตกต่างกับผลสำรวจที่จะออกสู่สาธารณะเร็ว ๆ นี้อย่างไร? คงต้องติดตามกันในสุดสัปดาห์นี้นะครับ...