บรรยากาศที่พรรคการเมืองบางพรรค เริ่มขึ้นป้ายโฆษณาผลงานที่ผ่านมาในหัวมุมเมืองต่างๆ ทำให้หลายฝ่ายมองว่า เป็นการเตรียมการเพื่อการเลือกตั้งครั้งหน้า

แม้วาระของสภาผู้แทนราษฎรชุดนี้ 24 มีนาคม 2566 ครบวาระ 4 ปีตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรชุดใหม่ภายใน 45 วัน แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น มีการประเมินกันว่ารัฐบาลอาจตัดสินใจยุบสภาฯก่อนในช่วงหลังการประชุมเอเปกในช่วงปลายปี โดยก่อนหน้านี้ก็มีกระแสข่าวที่ผู้ใหญ่ในรัฐบาลได้ปรารภถึงไทม์ไลน์นี้กับบรรดาพรรคการเมืองขนาดเล็ก

ทั้งนี้หากมีการยุบสภาฯเกิดขึ้นจริงในห้วงเวลาดังกล่าว ก็อาจจะมีการเลือกตั้งเกิดขึ้นประมาณเดือนกุมภาพันธ์ หรือเดือนมีนาคม แต่กระนั้นการยุบสภาฯจะต้องดูทิศทางการเมืองเป็นหลัก และแนวโน้มหากอยู่ครบวาระได้รัฐบาลก็พยายามเดินไปสู่จุดนั้น แต่ถ้าหากประเมินกระแสช่วงหลังการประชุมเอเปกมีความเหมาะสมก็อาจตัดสินใจยุบสภาฯ

ส่วนการเลือกตั้งที่เกิดขึ้นนั้น จะต้องมีการต่อสู้กันอย่างดุเดือด ฉะนั้นจะเกิดความสุจริตเที่ยงธรรมในการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นหรือไม่ “สยามรัฐ” ขอหยิบยกข้อคิดจากการแสดงปาฐกถาของนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ในหัวข้อ “การเลือกตั้งที่สุจริตและเที่ยงธรรมกับการพัฒนาการเมืองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข”  ที่สำนักงานคณะกรรมการเลือกตั้ง (กกต.)มาแผยแพร่ ตอนหนึ่งระบุว่า “วิธีการจัดการเลือกตั้งจะกำหนดการเลือกตั้งว่าเป็นแบบใดจะกำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญหรือกฏหมายเลือกตั้ง ซึ่งจะเป็นการเลือกตั้งแบบแบ่งเขตหรือรวมเขต โดยในการเลือกตั้งเมื่อปี 62 เป็น ส.ส.เขต 350 คนมาจาก 350 เขต เขตละ 1 คน อีก 150 คน เป็น ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ แต่ขณะนี้ที่มีการแก้รัฐธรรมนูญ คือ ให้มี ส.ส.เขต 400 คน และ ส.ส.บัญชีรายชื่อ 100 คน และประชาชนต้องเลือกบัตร 2 ใบ ซึ่งวิธีการจัดการเลือกตั้งในแต่ละประเทศก็จะแตกต่างกัน และการเลือกตั้งในประเทศไทยในปัจจุบัน คือ การเลือกตั้งแบบสัดส่วน

ขณะที่ในต่างประเทศ อย่างอังกฤษเขาไม่ยุ่งยากมาก 1 คน 1 เขตจบ สหรัฐอเมริกามีพิสดารออกไป เยอรมนีก็ยิ่งพิสดารใหญ่ ไทยเคยพิสดารและกำลังพิสดารยิ่งขึ้นในไม่ช้า และกำลังย้อนกลับไปอย่างเก่าอีกหรือไม่ก็ไม่รู้ ทั้งหมดเป็นสิ่งที่เปลี่ยนแปลงได้ เราเรียกว่า พัฒนาการ

...เรื่องการแบ่งเขตเป็นอาวุธที่สำคัญที่สุดของคณะกรรมการการเลือกตั้ง และเป็นปัจจัยสำคัญที่สุดที่ทำให้การเลือกตั้งสุจริตและโปร่งใส และเป็นธรรม เที่ยงธรรม ทั้งนี้ การเลือกตั้งต้องอำนวยความสะดวกผู้ใช้สิทธิให้มากที่สุดเท่าที่ทำได้ และการเลือกตั้งที่ดีต้องประกาศผลการเลือกตั้งได้เร็ว และปัจจุบันมีการพัฒนาการเลือกตั้งให้มีความสุจริตและเที่ยงธรรมมากขึ้น แต่อาจจะยังไม่สุจริตและเที่ยงธรรมพอ ก็ต้องพัฒนาต่อไป และไม่รู้ว่าการเลือกตั้งในอนาคตอาจจะผันแปรไปเป็นอย่างไร

...การสุจริตและเที่ยงธรรมจึงเป็นหัวใจของการเลือกตั้ง แต่มันยังเป็นปริศนา ทำแบบไหน ทำอย่างไร วันนี้พัฒนามาจนถึงว่า การเลือกตั้งว่าเอา 500 หาร หรือ หาร 100 ก็เป็นตัวแปรหนึ่งในความหมายของคำว่า สุจริตและเที่ยงธรรมด้วยเหมือนกัน...”