ในลิ้นชักความทรงจำ / ยูร  กมลเสรีรัตน์

ถึงแม้ว่าคำพูน บุญทวีจะเริ่มเขียนหนังสือเมื่ออายุ 42  ปี และลาออกจากราชการมาประกอบอาชีพนักเขียนเมื่ออายุ 44 ปี แต่ภายในเวลาเพียง 4 ปี สามารถสร้างชื่อเสียงด้วยผลงานเรื่องที่ 3 ซึ่งเปรียบดั่งเพชรเม็ดงามคือเรื่อง “ลูกอีสาน” ซึ่งได้รับรางวัลในงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติเมื่อปี 2519 และรางวัลซีไรท์เมื่อปี 2522 ในอีก 3 ปีต่อมา

เรื่อง “ลูกอีสาน” เป็นนวนิยายที่แสดงให้เห็นถึงวิถีชีวิตและความเป็นอยู่ รวมทั้งความแห้งแล้งของภาคอีสานในอดีตอย่างมีชีวิตชีวาและใสซื่อ ไม่รู้สึกถึงความลำบากยากแค้น อันเป็นคุณลักษณะของคนอีสาน ด้วยการใช้ภาษาง่าย ๆ หากมีเสน่ห์ของภาษาเฉพาะตัว...

“47 ปีก่อนครั้งกระโน้นมีเรือนเสาไม้กลมเรือนหนึ่ง ยืนอาบแดดระอุอ้าวอยู่ใต้ต้นมะพร้าวอันสูงลิ่ว ยามลมพัดฉิวมาแรง ๆ ผู้เป็นพ่อจะบอกให้ลูกทั้งสามคนให้รีบลงไปอยู่ที่อื่น  มะพร้าวต้นนี้อาจจะหักลงมาทับเรือนก็ได้ เด็ก ๆ ที่อยู่ในเรือนก็อาจจะแขกหัก

เพชรเม็ดงามอีกเม็ดรองลงมาคือนวนิยายเรื่อง “นายฮ้อยทมิฬ” ได้รับรางวัลชมเชยในงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติในปี 2520  เป็นนวนิยายที่สร้างชื่อเสียงให้กับคำพูน บุญทวีอีกเรื่องหนึ่ง นำเสนอเรื่องราวของนายฮ้อยที่ต้อนวัวไปขายในสมัยโบราณ โดยถ่ายทอดให้เห็นถึงความองอาจและน่าเกรงขามของนายฮ้อย ด้วยสำนวนภาษาอันเป็นเอกลักษณ์ บรรยายให้เห็นบุคลิกของคนเป็นนายฮ้อยได้อย่างมีสีสันราวกับภาพนั้นวางอยู่ตรงหน้า...

 

“ชายหนุ่มที่นั่งบนหลังม้าเถิกใหญ่สีตะวันหม่นตัวนั้น  มันน่าเกรงขามยิ่งนัก หมวกปีกใหญ่ที่เขาสวมใส่อยู่นั่นก็รับกับใบหน้าเหลี่ยมพอดี สายหมวกที่รัดคางสีดำเป็นเงาอยู่วับ ๆ แต่ยังไม่วามวับเท่าลูกตาที่บ่งบอกถึงความเอาจริง ปืนแก๊ปที่สะพายอยู่บ่าขวาเป็นเงาอยู่วาบ ๆ  ดาบเล่มหนึ่งที่สะพายอยู่บ่าซ้ายสั้น ถ้าเขาชักออกมาก็เป็นเงาแสบตาอีกนั่นแหละ...”

คำพูน บุญทวี สร้างผลงานไว้เกือบ 100 เรื่อง กล่าวได้ว่าเป็นนักเขียนที่เขียนได้รอบด้าน ทั้งนวนิยาย เรื่องสั้น สารคดี สาระบันเทิง วรรณกรรมเยาวชน นิทาน โดยแต่ละเรื่องเอาความจริงล้วน ๆ มาเขียนไม่มีแต่งเติมจินตนาการเข้าไปเหมือนนักเขียนทั่ว ๆ ไป  แต่สามารถนำประสบการณ์ชีวิตมาเขียนเลี้ยงชีพได้ตลอดชีวิต  หากจะมีแต่งเติมบ้างคือ นิทานภาพและวรรณกรรมเยาวชน

คนที่ผ่านประสบการณ์ชีวิตมาอย่างโชกโชนเท่านั้น จึงจะทำเช่นนี้ได้เหมือนคำพูน  บุญทวี ซึ่งผ่านชีวิตมาหลายรูปแบบ  เขาบอกเล่าว่า...

“จะเขียนเรื่องอะไร ทุกอย่างอยู่ในหัวหมด เขียนด้วยความจำ  เป็นคนมีความจำดี นึกอะไรได้ก็เอามาเขียน ทุกเรื่อง เอามาจากชีวิตจริงหมด ไม่ต้องคิดจินตนาการ เรื่องราวดำเนินไปตามความเป็นจริงจากประสบการณ์ที่สัมผัสมาทั้งทางตรงและทางอ้อม  เว้าไปซื่อ ๆ เป็นส่วนมาก  เขียนได้ลื่นไหลมาก เพราะจำได้แม่น”

คำพูน  บุญทวี พูดตรงนี้ทำให้ผมนึกถึง อาจินต์ ปัญจพรรค์ ที่เคยกล่าวไว้ว่า “เรื่องจริงคือเสน่ห์ของความจริง” ถ้าคนมีประสบการณ์น้อย  เอาประสบการณ์ชีวิตมาเขียนเลี้ยงชีพไม่ได้หรอก เห็นมาหลายคนแล้ว  พอนำประสบการณ์มาเขียนจนหมด  ก็ตัน ไม่รู้จะเขียนอะไร  ยกเว้นคนที่มีจินตนาการสูง จะแต่งเติมหรือต่อยอดจินตนาการแบบไหนก็ได้

สมัยก่อนผมชอบไปเดินตามร้านหนังสือและแผงหนังสือ คุยกับคนขายว่าหนังสือแนวไหนขายดี ทั้งนิตยสารและพ็อกเก็ตบุ้ค  มีครั้งหนึ่งได้คุยกับพนักงานขายร้านแพร่พิทยา ย่านวังบูรพา ทำให้รู้ว่าผลงานแต่ละเรื่องของคำพูน บุญทวีได้รับความนิยมมาก  ขายได้และขายดี 

ทั้ง ๆ ที่ผลงานส่วนใหญ่เป็นเรื่องราวกลิ่นดินถิ่นอีสานแทบทั้งนั้น ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง มนต์รักแม่น้ำชี ลาบหัวเราะ หอมกลิ่นบาทา  นักเลงตราควาย  หมาหอนในหัวใจ มนุษย์ 100 คุก ฯลฯ โดยเฉพาะเรื่อง “ลูกอีสาน”ขายดีเป็นอันดับ 1 อันดับ 2 คือ “นายฮ้อยทมิฬ”

หากชีวิตในมุมส่วนตัวในยามตกอับของคำพูน  บุญทวี ครั้งที่ยังมีชีวิต จะมีใครสักกี่คนที่รู้ว่ารันทดเพียงใด  ครั้งนั้นเช่าบ้านอยู่ในซอยบางยี่ขัน หลังห้างพาต้าปิ่นเกล้า ใกล้สำนักงานฟ้าเมืองไทยกับภรรยาคู่ชีวิต-ลันนา  เจริญสิทธิชัย(ในเวลานี้กลับไปอยู่บ้านที่ฉะเชิงเทราและเป็นอัลไซเมอร์) ซึ่งพบรักในซอยเดียวกัน เพราะเป็นเจ้าของร้านเสริมสวยในซอย

ต่อมา ไปซื้อบ้านของการเคหะแห่งชาติ อยู่แถวบางขุนเทียนแบบผ่อนส่ง แต่ชีวิตช่วงนั้นไม่ค่อยมีรายได้จากการเขียน จึงเลี้ยงชีพโดยการเข็นไอศกรีมไปขาย ภรรยาเป็นคนตักไอศกรีม  ส่วนตัวเองเป็นคนล้างถ้วยไอศกรีม วันหนึ่งมีแฟนนักอ่านรู้ว่าเป็นนักเขียนซีไรท์เดินเข้ามาทัก  

ต่อมา ภรรยาป่วย ต้องเลิกขายไอศกรีม บางวันต้องไปขอเชื่อข้าวสาร  แต่ไม่เคยตากหน้าไปร้องขอความเห็นใจจากใคร เอาต้นฉบับไปเสนอที่ไหน ก็ถูกปฏิเสธ ดังที่กล่าวมาแล้วในตอนต้น ภรรยาปลอบว่า...

“ความจนคือความจริง ไม่ต้องอายใครหรอกลุงเอ๋ย  เราไม่เคยฉ้อโกงใคร ต้องตั้งตัวได้สักวันหนึ่ง ถ้านิตยสารฟ้าเมืองไทยไม่ปิด เราก็คงไม่เดือดร้อนปานนี้”

ทว่า บ้านของการเคหะฯที่ซื้อเงินผ่อน ขาดการผ่อนชำระ  2 ปี  จึงถูกยื่นคำขาดให้นำเงิน ไปชำระภายใน 3 เดือน เลยจำต้องประกาศขายบ้านที่ผ่อนชำระไปเกือบสองปีแล้ว  แล้วเช่าบ้านที่ตัวเองขายอยู่อาศัย

ความฝันที่อยากมีบ้านเป็นของตัวเอง  จึงเก็บออมเงินไปซื้อที่ดินที่หมู่บ้านรัตนาธิเบศร์ แต่ก็ต้องขายอีก เพราะมีรายได้น้อย แล้วยังต้องใช้หนี้วันละ 500 บาท  จึงย้ายไปเช่าบ้านอยู่ที่หมู่บ้านบ้านบัวทองเป็นเวลายาวนาน จนกระทั่งสามารถซื้อบ้านหลังนี้เป็นของตัวเองเป็นที่พักอาศัย จวบจนกระทั่งอำลาจากโลกนี้

เมื่อภรรยาสุขภาพดีขึ้น จึงทำปลาร้าทรงเครื่องสูตรอีสานไปขายตลาดเช้าและไปขายไอศกรีมในตอนเย็น โดยมีคำพูน บุญทวีเดินเคียงข้างภรรยาคู่ยาก  ต่อมา ไอศกรีมขายไม่ดี จึงขายน้ำปั่น ปลาร้าสับทรงเครื่อง มีคำโฆษณาว่า”ปลาร้าสับสูตรยโสธร 3 บาทก็ขาย 5 บาทก็ขาย”

คนในตลาดเห็นทุกเช้าและเย็นจนชินตา พากันซุบซิบว่าตาลุงคนนี้ไปหลอกลูกสาวคนจีนมาจากไหน เพราะมีอายุห่างกันถึง 20 ปี ไม่มีใครรู้เลยว่าเป็นนักเขียนซีไร้ท์คนแรกของประเทศไทย จนกระทั่งช่างเรียงของโรงพิมพ์ฟ้าเมืองไทยมาเจอ เข้ามาทัก คนในตลาดจึงรู้ว่า ตาลุงคนนี้คือ คนเขียนเรื่อง “ลูกอีสาน”ที่เป็นหนังใหญ่นั่นเอง

หากในที่สุดแล้ว ก็ต้องเลิกขาย  เพราะหัวใจของคำพูน บุญทวีเรียกร้องให้เขียนหนังสืออยู่ทุกโมงยาม ภรรยาจึงหันมาทำอาชีพเดิมคือช่างเสริมสวย เปิดร้านเสริมสวยชั้นล่าง  แต่ก็ต้องเลิก...

“ลุงคำพูนเขาเขียนหนังสืออยู่ชั้นบน ข้างล่างเสียงดัง เขาไม่มีสมาธิเขียนหนังสือ”ลันนา เจริญสิทธิชัยเล่าถึงชีวิตช่วงนี้ให้ฟัง“ก็เลยไปช่วยลุงเขาหาข้อมูลและติดต่อสำนักพิมพ์ให้ ค้นได้ข้อมูลมา  ก็เล่าข้อมูลที่ลุงเขาต้องการให้ฟัง  แล้วลุงเขาก็ให้อ่านหนังสือที่เขาซื้อมา”

เมื่อคำพูน  บุญทวีเห็นภรรยาอ่านหนังสือมาก ๆ เข้า วันหนึ่ง จึงพูดแกมยุว่า “อ่านแต่หนังสือ ทำไมไม่หัดเขียนบ้าง”

เมื่อถูกพูดต่อว่าแกมยุบ่อยครั้ง  ทำให้ลันนา  เจริญสิทธิชัยเกิดฮึดอยากเขียนหนังสือ  แต่ไม่รู้จะเริ่มต้นยังไงและจะเขียนเรื่องอะไร  ลันนา เจริญสิทธิชัยเล่าว่า...

“ลุงคำพูนเอาเรื่อง “คนลากรถ”(งานวรรณกรรมอันทรงพลังของนักเขียนผู้ยิ่งใหญ่คนหนึ่งของจีนคือ “เหล่อเส้อ”) อ่านไปอ่านมาหลายรอบ ฉันก็เป็นคนจีน ตอนอยู่แปดริ้ว(ฉะเชิงเทรา) บ้านฉันอยู่บ้านนอก เลี้ยงไก่ ปลูกผักช่วยแม่ตั้งแต่ยังเป็นเด็ก  ตอนยังเด็กลำบากมาก ฉันบอกลุงว่า ฉันจะเขียนเรื่องเกี่ยวกับบ้านนอกที่บ้านฉันนี่แหละ”

วิธีการแนะในการเริ่มต้นเขียนนวนิยายของคำพูน บุญทวี ที่แนะให้กับภรรยา  ก็เหมือนกับที่อาจินต์ ปัญจพรรค์แนะให้คำพูน บุญทวีไปหาอ่านเรื่อง “บ้านเล็กในป่าใหญ่”ของลอร่า อิงกัลส์ (ฉบับเก่าแปลโดย สุคนธรส)  เพื่อให้เกิดแรงบันดาลใจในการเขียนเรื่อง “ลูกอีสาน”

นั่นคือจุดสำคัญที่ทำให้ลันนา เจริญสิทธิชัย เริ่มต้นเขียนหนังสือ  แต่สำหรับคนที่ไม่เคยเขียนหนังสือมาก่อน มันไม่ใช่เรื่องง่าย  แค่ด่านแรก ก็ถือว่ายากแล้ว

กว่าจะเกิดนามปากกา “กิมหลั่น” เคียงคู่กับสำนักพิมพ์โป๊ยเซียนที่ตั้งขึ้น  เพื่อกู้สถานการณ์ของครอบครัว ต้องฝ่าด่านแห่งอุปสรรคอีกหลายอย่างด้วยความลำบากยากเย็น

(อ่านต่อตอนหน้า)

 

 

“อะไรที่ดูเหมือนเป็นความยากเย็นเข็ญใจ แท้จริงแล้วย่อมแฝงไว้ด้วยสิ่งดีๆ อยู่ภายใน”(ออสการ์  ไวลด์)