นอกจากประเทศไทยจะต้องเผชิญกับการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 แล้ว  และยังต้องเฝ้าระวังการพบเชื้อฝีดาษลิงในประเทศ

สำหรับโรคใหม่นี้ ข้อมูลจากแพทย์หญิงนฤมล สวรรค์ปัญญาเลิศ นายแพทย์ทรงคุณวุฒิ กรมการแพทย์ เปิดเผยว่า การติดต่อและการแพร่กระจายของโรค พบว่า ส่วนมากติดต่อจากการสัมผัสสารคัดหลั่งจากตุ่มหนอง สะเก็ดแผล (Contact) ของผู้ป่วย ถ้าอยู่ใกล้ชิดกับผู้ป่วยในระยะประชิด เช่น กินข้าว หรืออยู่ห้องเดียวกัน หรืออาศัยนอนด้วยกัน การแพร่กระจายอาจติดต่อทางฝอยละออง (Droplet) ได้ ไวรัสฝีดาษลิงมีเปลือกหุ้ม ธรรมชาติเป็นไวรัสที่ไม่แข็งแรง โดนสบู่ล้างก็ตาย แต่เชื้อจะอยู่ในสิ่งแวดล้อมนานหรือไม่ ยังมีข้อมูลไม่เพียงพอ จริงๆ ไวรัสตัวนี้ไม่ได้ติดง่าย แต่ก็ไม่ยาก หากใกล้ชิดผู้ป่วยยืนยันก็มีโอกาส แต่ถ้าล้างมือบ่อยๆ ป้องกันตัวเอง สวมหน้ากาก จะลดโอกาสการสัมผัสเชื้อ ระยะฟักตัวของโรคขึ้นอยู่กับภูมิคุ้มกันของแต่ละคน โดยทั่วไปที่ระยะฟักอยู่ระหว่าง 7-21 วัน แต่บางรายก็มีระยะฟักตัวนานกว่านั้น

แพทย์หญิงนฤมล  กล่าวอีกว่า อาการที่พบในผู้ป่วยฝีดาษวานร นอกจากมีไข้ ปวดเมื่อยตามร่างการ ต่อมน้ำเหลืองโตแล้ว มีรายงานการศึกษาในวารสารทางการแพทย์ พบว่า ผู้ป่วยจะมีผื่นหรือแผลตามผิวหนอง หรือเยื่อบุในอวัยวะต่างๆ ผื่น ตุ่ม หรือแผลนั้นเกิดที่อวัยวะเพศ 56.3%, บริเวณทวารหนัก 41.6% ผู้ป่วยส่วนใหญ่ (86%) จะมีอาการอื่นๆ ร่วมด้วย เช่น ไข้ ต่อมน้ำเหลืองโต หรือปวดกล้ามเนื้อ โดยอาการเหล่านี้เกิดขึ้นก่อนมีผื่น หรือหลังผื่นขึ้นก็ได้ มีผู้ป่วยบางส่วนที่มีผื่น โดยไม่มีอาการร่วมอื่นๆ เลย อาการผิดปกติอื่นที่พบ คือ ปวดทวารหนัก เจ็บคอ แผลในช่องปาก และองคชาตบวม มีผู้ป่วยถึงหนึ่งในสามที่ติดเชื้อเอชไอวีร่วมด้วย อาการหายได้เองภายในระยะ 2-4 สัปดาห์ การรักษาเน้นการรักษาแบบประคับประคอง เป็นการรักษาตามอาการ เช่น มีไข้ ให้ยาลดไข้ ส่วนยารักษาเฉพาะ ยังไม่มียารักษาเฉพาะ มียาที่ใช้รักษาผู้ป่วยไข้ทรพิษ ในต่างประเทศนำมาศึกษาวิจัยในการดูแลผู้ป่วยฝีดาษวานรที่มีอาการรุนแรง

อย่างไรก็ตาม ในช่วงฤดูฝนนี้ ยังมีโรคที่มาพร้อมกับสภาพอากาศ และความชื้นที่เปลี่ยนไป ที่ทำให้มีไวรัสและแบคทีเรียบางชนิด ที่ทำให้เกิดโรคยอดฮิตในช่วงฤดูฝนก็คือ ไข้หวัดใหญ่ ไข้หวัดธรรมดา โรคต่อมทอนซิลอักเสบ ติดเชื้อทางระบบหายใจที่เกิดจากไวรัสหรือแบคทีเรีย โรคอุจจาระร่วงเฉียบพลัน โรคเยื่อบุตาอักเสบ โรคไข้เลือดออก และโรคฉี่หนู

ในขณะที่โรคมือเท้าปาก ที่ระบาดในผู้ป่วยกลุ่มเด็ก ซึงมีอาการ ไข้ เจ็บคอ ตุ่มน้ำในเพดานปากลิ้นไก่ ฝ่ามือ ฝ่าเท้า ก็ต้องเฝ้าระวัง

แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น การตื่นตัวในการป้องกันตนเอง ตามมาตรการสาธารณสุข ในการรักษาสุขอนามัย คือการเว้นระยะห่าง สวมหน้ากาก กินร้อน ช้อนใครช้อนมัน และล้างมือบ่อยๆ ยังคงป้องกันโรคต่างๆ ดังที่กล่าวมาได้