รศ.ดร.สุขุม เฉลยทรัพย์
สวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยสวนดุสิต
ในไม่ช้านี้มหาวิทยาลัยต่าง ๆ ในสหราชอาณาจักรจะต้องลดจำนวนนักศึกษาระดับปริญญาตรี และบีบให้บุคลากรต้องออกจากงาน มหาวิทยาลัยพากันเรียกร้องให้รัฐบาลเข้าแทรกแซงกิจการมหาวิทยาลัยที่กำลังตกอยู่ในสภาวะวิกฤต สืบเนื่องจากมูลค่าที่แท้จริงของค่าเล่าเรียนตกลงฮวบฮาบและไม่สะท้อนความเป็นจริงตามเศรษฐกิจ
กลุ่มมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียง “กลุ่มรัสเซล” หรือ “Russell Group” ที่ประกอบด้วยมหาวิทยาลัยวิจัยขนาดใหญ่ 18 แห่งในสหราชอาณาจักร ต้องสูญเสียเงิน 1,750 ปอนด์ต่อปีต่อคนในการสอนนักศึกษา เพราะไม่มีการขึ้นค่าธรรมเนียมการศึกษามาเป็นเวลาเกือบ 10 ปีแล้ว และตามไม่ทันอัตราเงินเฟ้อที่สูงขึ้น
ภายในปี 2024 (2567) มหาวิทยาลัยต่าง ๆ จะสูญเงิน 4,000 ปอนด์ต่อปีต่อคน สำหรับนักศึกษาระดับปริญญาตรี ยิ่งไปกว่านั้น ผู้เชี่ยวชาญด้านมหาวิทยาลัยบางคนยังประเมินต่อไปอีกว่า มหาวิทยาลัยบางแห่งจะต้องหันมาสอนนักศึกษาต่างชาติและนักศึกษาระดับสูงกว่าปริญญาตรีทั้งหมด
เมื่อปี 2012 (2555) รัฐบาลตัดสินใจขึ้นค่าธรรมเนียมการศึกษาเป็น 9,000 ปอนด์ต่อปี และต่อมาในปี 2017 (2560) ได้อนุมัติให้ขึ้นค่าธรรมเนียมการศึกษาเป็น 9,250 ปอนด์ต่อปี อัตราค่าธรรมเนียมการศึกษานี้จะคงที่อยู่ในอัตรานี้ต่อไปอีกถึงปีการศึกษา 2024-2025 (2567-2568) ซึ่งรัฐมนตรีหลายท่านสันนิษฐานว่าไม่มีใครอยากแตะเรื่องการขึ้นค่าธรรมเนียมการศึกษาเป็นเพราะต้องการหลีกเลี่ยงการอภิปรายที่จะกลายประเด็นร้อนทางการเมืองและการเลือกตั้งทั่วไปต่อไป
ผู้บริหารมหาวิทยาลัยเห็นพ้องกันว่าการแก้ปัญหาด้วย ‘ระบบเงินทุน’ (Funding system) นั้นล้มเหลว รัฐบาลต้องเร่งหาทางออกใหม่ ๆ เพื่อให้การช่วยเหลือมหาวิทยาลัย เช่น ยกเครื่องเรื่องการจ่ายเงิน การขยายขนาดชั้นเรียนให้ใหญ่ขึ้นแต่ใช้บุคลากรน้อยลง การรับสอนแต่นักศึกษาต่างชาติและนักศึกษาที่สูงกว่าปริญญาตรีเพราะมหาวิทยาลัยสามารถกำหนดอัตราค่าธรรมเนียมการสอนได้เอง
หากกลุ่มมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียง “กลุ่มรัสเซล” ไม่สามารถบริหารจัดการปัญหาการเงินได้จะกระทบต่อผลการจัดอันดับมหาวิทยาลัยในระดับนานาชาติต่อไป โดยเฉพาะในสาขาวิชาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และวิศวกรรมศาสตร์ อย่างไรก็ตาม ดูเหมือนว่ารัฐบาลยังไม่ส่งสัญญาณความช่วยเหลือใด ๆ ต่อภาวะวิกฤตของมหาวิทยาลัยในขณะนี้ ทั้งที่รัฐบาลจะต้องรับผิดชอบเกี่ยวกับกรอบเงินทุน (Funding framework) ที่นำมาใช้ไม่ได้ผล
ภาพรวมรายได้ของมหาวิทยาลัยในสหราชอาณาจักรลดลงปีละประมาณ 40 พันล้านปอนด์ หรือราว 1.8% ของรายได้ประชาชาติ แต่รายได้นี้ยังมีแนวโน้มลดลงต่อไปเนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 จนทำให้มีการประเมินกันว่ามหาวิทยาลัยในสหราชอาณาจักรอย่างน้อย 13 แห่ง ต้องเผชิญกับสภาวะล้มละลายโดยรัฐบาลไม่ยอมกระโดดเข้าไปโอบอุ้มหรือช่วยปรับโครงสร้างหนี้ใด ๆ ยิ่งกว่านั้น การหวังพึ่งนักศึกษาต่างชาติมาเข้าเรียนก็
ยากมากภายใต้ความผันผวนต่าง ๆ นานา
สถานการณ์ของมหาวิทยาลัยในสหราชอาณาจักรเป็นสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในหลายประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกา แคนาดา ออสเตรเลีย ญี่ปุ่น และไทย เป็นต้น กล่าวได้ว่ามหาวิทยาลัยทุกวันนี้อยู่อย่างลำบากมากจริง ๆ เพราะมีปัจจัยทั้งภายในและปัจจัยภายนอกที่ยากแก่การควบคุมถึงขั้นเข้าข่ายวิกฤตซ้อนวิกฤตทีเดียว
เมื่อมหาวิทยาลัยทั่วโลกต่างต้องเผชิญชะตากรรมเดียวกันทั้งปัญหาสงคราม โรคระบาด เงินเฟ้อ ประชากรวัยเรียนลดลง พ่อแม่เงินขาดมือส่งลูกเรียนมหาวิทยาลัยไม่ไหว ฯลฯ ขณะเดียวกันมหาวิทยาลัยก็ก้าวไม่ทันกับโลกการทำงานจริงภายนอก
ณ เวลานี้จึงเป็นบททดสอบศักยภาพและภาวะผู้นำในทุกมิติทั้งของผู้บริหารและบุคลากรมหาวิทยาลัยว่าจะร่วมกันก้าวข้ามวิกฤตนี้อย่างไร?