สถาพร ศรีสัจจัง

30 กรกฎาคม 2565 

ณ วัด เสมียนนารี กรุงเทพมหานคร สหายและญาติมิตร ผู้เกี่ยวข้อง กับชีวิตของผู้ชายคนหนึ่งที่ชื่อ “ธัญญา  ชุนชฎาธาร” ไปประชุมแทบจะโดยพร้อมเพรียงกัน 

เพื่อร่วมน้อมส่งจิตวิญญาณสุภาพบุรุษคนหนึ่งไปสู่อีกภพภูมิ 

ในงานนี้ มีบรรดา “นักต่อสู้” และ นักเคลื่อนไหวเพื่อความเป็นธรรมทางสังคม หลายวัยหลายรุ่น โดยเฉพาะ “รุ่น 14 ตุลาฯ 16” ไปร่วมงานกันเป็นจำนวนมาก

“ธัญญา  ชุนชฎาธาร” คือใคร ?

ถ้าจะตอบให้เห็นเป็นรูปธรรมที่สุด โดดเด่นที่สุด ก็ต้องตอบว่า เขาคือ “1 ใน 13 กบฏรัฐธรรมนูญ” !

“13 กบฏรัฐธรรมนูญ” ที่ต้องถือเป็น “ปฐมเหตุ” รูปธรรมสำคัญที่สุดประการหนึ่ง อันก่อให้เกิดเหตุการณ์ “14 ตุลาฯ 16” อันยิ่งใหญ่ขึ้น!

บันทึกไว้ ณ ที่นี้ว่า  “13 กบฏรัฐธรรมนูญ” คือผู้มีรายนามดังต่อไปนี้ 

ธีรยุทธ  บุญมี/ไขแสง  สุกใส/ประพันธศักดิ์  กมลเพชร/ทวี หมื่นนิกร/นพพร สุวรรณพานิช/ชัยวัฒน์  สุระวิชัย/วิสา คัญทัพ/บัณฑิต  เฮงนิลรัตน์/บุญส่ง  ชเลธร/ปรีดี  บุญซื่อ/มนตรี  จึงสิริอารักษ์/ก้องเกียรติ  คงคา และ อ๋า-ธัญญา  ชุนชฎาธาร !

สำหรับสังคมไทยที่ว่ากันว่า “เป็นสังคมลืมง่าย” (โดยเฉพาะเรื่องที่ “ชนชั้นผู้มีอำนาจทางสังคม” ต้องการให้ลืม) เมื่อถึงวันนี้อาจต้องมีการอรรถาธิบายกันต่อ (อย่างน้อยก็สัก 2-3 ประโยค) เพื่อให้เข้าใจตรงกันว่า “15 ตุลาฯ 16” คืออะไร?

และอย่างไร? จึงเรียกว่าเป็นเหตุการณ์อัน “ยิ่งใหญ่” เหตุการณ์หนึ่งของสังคมไทย (ที่จริงต้องพูดว่า “ของสังคมโลก”ก็น่าจะได้!)

เหตุการณ์ “14 ตุลาฯ 16” คือเหตุการณ์ที่ นักเรียนนิสิตนักศึกษาประชาชน"หลอมจิตวิญญาณรวมเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน โดยไม่มีการ “จัดตั้ง” หรือมี “อามิสสินจ้าง” ใดๆมาชักนำ พวกเขานับจำนวนหลายแสนชีวิต รวมตัวเดินขบวนประท้วงเพื่อเรียกร้อง “รัฐธรรมนูญ” จากรัฐบาลเผด็จการไทยในขณะนั้น  อย่าง “ไม่กลัวการเสียสละ ไม่กลัวตาย”

นำไปสู่การสามารถโค่นล้มรัฐบาลเผด็จการ ที่ยังเริงอำนาจ ยังปกครองประเทศโดย “กลุ่มคนเพียง 2-3 ตระกูล” อยู่ในช่วงปีพ.ศ. 2516 ลงได้สำเร็จในท้ายที่สุดอย่างไม่มีใครกล้าคาดคิดมาก่อน!

พลังขบวนการทางสังคมอันบริสุทธิ์ภายใต้การนำของ “ขบวนการนักศึกษาไทย” ในครั้งนั้นได้รับการบันทึกในประวัติศาสตร์ไว้ว่า นี่เป็นครั้งแรกของโลก! ที่ขบวนการนักศึกษาสามารถนำพาประชาชนและแนวร่วมต่างๆ  ก่อการ “ลุกขึ้นสู้”กับรัฐบาลเผด็จการ เผด็จการทหารที่มี “กองกำลังจัดตั้งติดอาวุธ” พร้อมมือหนุนอยู่เบื้องหลังได้สำเร็จอย่างน่าภาคภูมิ!

ใครอยากรู้ว่า “วีรชนคนหนุ่มสาวของเรา” ในยุคนั้นควรได้รับการยกย่องอย่างไร ก็ลองไปเปิดเพลง “นกสีเหลือง” ที่มี “วินัย  อุกฤษณ์” เป็นผู้ประพันธ์เนื้อร้อง ทำนอง และ มีสุรชัย จันทิมาธร แห่งวงดนตรี “คาราวาน” (ศิลปินแห่งชาติ) เป็นคนขับร้อง ดูเอาเองเถิด!

อ๋า-ธัญญา  ชุนชฎาธาร ที่สหายและญาติมิตรไปประชุมพร้อมเพรียงกันเพื่อส่งจิตวิญญาณของเขาสู่ภพภูมิอื่น ดังที่กล่าวมาก่อนหน้านี้ เป็น “หนึ่ง” ใน “กลุ่มหัวขบวน” ของขบวนการเรียกร้องรัฐธรรมนูญมา แต่ต้น!

ธัญญา ชุนชฎาธาร เป็นนักศึกษาคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นหนึ่งในสมาชิก “กลุ่มสภาหน้าโดม” ซึ่งเป็นกลุ่มนักศึกษาสนใจ และเคลื่อนไหวทางการเมืองที่โดดเด่นที่สุดของมหาวิทยาลัยแห่งนั้น ในขณะนั้น(ก่อนเหตุกรณ์ “14 ตุลาฯ 16”)

เป็นมือ “ทำหนังสือ” ระดับ “บรรณาธิการ” คนสำคัญในห้วงยามนั้น และในห้วงยามสืบต่อมา ทั้งในนามของ “กลุ่มวรรณกรรมเพื่อชีวิต” อันโด่งดัง และ แห่งสำนักพิมพ์ “เพื่อนชีวิต” ในภายหลัง

ในหมู่พี่ๆ “รุ่นใหญ่” และ เพื่อนพ้องนักกิจกรรมร่วมรุ่น รู้กันดีว่า “อ๋า” เป็นนักคิดนักต่อสู้ทางสังคมที่มีท่วงทำนองอันสงบเย็น ใจดี เนิบช้าแต่มั่นคง ที่สำคัญคือเป็น “กัลยาณมิตร” ผู้มีจิตใจงดงามต่อเพื่อนพ้อง น้องพี่ อย่างเสมอต้นและเสมอปลาย

เขาทำงานเคลื่อนไหวต่อสู้ทางความคิดด้วยเป้ามุ่งที่ต้องการเปลี่ยนแปลงสังคมไทยไปสู่สังคมที่เป็นธรรมและชอบธรรมอย่างจริงจังมาโดยตลอด เมื่อเกิดเหตการณ์ “วันฆ่านกพิราบ” ในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ที่รู้จักกันในชื่อ “เหตุการณ์นองเลือด 6 ตุลาฯ 19” เขาตัดสินใจเข้าร่วมกับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย เหมือนกับนักศึกษาจำนวนมากในขณะนั้น

และ ณ เขตการต่อสู้ด้วยกำลังอาวุธแถบเทือกเขาภูพาน บริเวณจังหวัดสกลนครนั่นเอง ที่เขาได้พบกับ “มาลีรัตน์ แก้วก่า” อดีตวุฒิสมาชิก (เลือกตั้ง)สาวผู้โดดเด่น (จาก ม.ขอนแก่น) ผู้กลายเป็นคู่ชีวิตในเวลาต่อมา

หลังคืนเมือง อ๋า-ธัญญา ชุนชฎาธาร ตั้งสำนักพิมพ์ “เพื่อชีวิต" ผลิตหนังสือดีมีคุณค่าให้กับสังคมไทยไม่น้อย ทั้งยังมีส่วนร่วมในการเคลื่อนไหวต่อสู้เพื่อความเป็นธรรมทางสังคมมาโดยตลอด

จึงขอบันทึกในวาระการจากพรากสู่ภพภูมิอื่นของเขาไว้ณที่นี้ว่า อ๋า-ธัญญา ชุนชฎาธารแม้กายจากแล้วแต่ชื่อจักยังคงอยู่ ยังคงอยู่ในฐานะกัลยาณมิตรที่งดงามที่สุด คนหนึ่งของประชามหาชนชาวไทยที่เขารัก!