ธุรกิจสื่อสารมวลชนเป็นอีกหนึ่งธุรกิจที่ได้รับผลกระทบหลายด้าน ทั้งจากการเปลี่ยนแปลงของยุคสมัย  การพัฒนาของเทคโนโลยีที่เป็นไปอย่างรวดเร็ว ภาวะเศรษฐกิจ  และวิกฤติการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด ที่เข้ามาเป็นสารกระตุ้นสำคัญ

ทั้งรูปแบบการทำงาน ที่เปลี่ยนแปลงไป  “ปลาเร็ว กินปลาช้า” ทำให้กระบวนการตรวจสอบจากระบบกองบรรณาธิการถูกบั่นทอนลงไปโดยปริยาย 

ในระยะที่ผ่านมา  สำนักข่าวหลักๆของประเทศมีการปรับตัวเข้าสู่สื่อดิจิทัลมากขึ้น บางสำนักยุติการพิมพ์สื่อสิ่งพิมพ์ลาจากแผงหนังสืออย่างถาวร  ทั้งปรับโครงสร้าง ลดขนาดองค์กร  แต่บางองค์กรก็ยังไปต่อไม่ไหว ต้องปิดตัวลง

ขณะที่สำนักข่าวปัจจุบันที่นอกจากจะมีเว็บไซต์ของตนเองแล้ว ยังต้องพึ่งพาแพลตฟอร์มออนไลน์ต่างๆ เสมือนเป็น “หน้าร้าน” หรือแผงหนังสือเพื่อเข้าถึงกลุ่มผู้อ่าน ทว่าก็มีข่าวในสำนักข่าวต่างประเทศที่ธุรกิจสื่อบ้านเราต้องติดตามอย่างมีนัยสำคัญ

หลังจากที่บริษัทเมตา (META) เตรียมจะปลดจำนวนพนักงานบางส่วน ทั้งในส่วนของเฟซบุ๊คและอินสตาแกรม เตรียมยกเลิกให้ทุนสนับสนุนสื่อในสหรัฐฯ เพื่อนำข่าวมาเผยแพร่บนเฟซบุ๊ค ที่น่าสนใจก็คือมีการระบุถึงเหตุผลในการตัดสินใจดังกล่าว มาจากพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป เนื่องจากทุกวันนี้คนส่วนใหญ่ไม่ได้ เข้ามาใช้เฟซบุ๊คเพื่ออ่านข่าวอีกต่อไปแล้ว

อย่างไรก็ตาม ประตูบานหนึ่งปิด ก็ยังมีอีกหลายประตูที่เปิด ยังมีแพลตฟอร์มอื่นๆ ที่ต้องการความร่วมมือกับสำนักข่าวต่างๆอยู่  โดยเฉพาะใน ติ๊กต็อก  (TikTok)  ที่เติบโตอย่างมากในช่วง3ปีที่ผ่านมา

กระนั้น นอกจากธุรกิจสื่อจะต้องมีความพร้อมในการพัฒนา ปรับตัวให้อยู่รอดกับความเปลี่ยนแปลง ของเทคโนโลยีและพฤติกรรมองผู้รับข้อมูลข่าวสารแล้ว

ที่สำคัญ ในบรรยากาศที่สังคมไทย เกิดการปะทะทางความคิดอย่างรุนแรง มีสื่อที่เป็นปัจเจกเกิดขึ้นเป็นจำนวนมาก

สำนักข่าวหลักที่มีกองบรรณาธิการที่มีบุคคลากรที่มีคุณภาพ ความเชี่ยวชาญในการตรวจสอบและมีจรรยาบรรณในการนำเสนอข่าว จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเบียดแย่งพื้นที่บนโลกออนไลน์ เพื่อทำหน้าที่เป็น “ผู้เฝ้าประตู” นำเสนอข่าวสาร ข้อมูล บนหลักการเพื่อประโยชน์สาธารณะ ที่ไม่ใช่เพียงขายข่าว