โควิดนอกจากจะส่งผลกระทบต่อปัญหาสุขภาพของเด็ก และอาการลองโควิดที่ต้องติดตามแล้ว ยังซ้ำเติมให้ปัญหา “ติดจอ” ของเด็กรุนแรงมากยิ่งขึ่น ซึ่งเสี่ยงที่จะทำให้เด็กเกิดภาวะ “ออทิสติกเทียม”  และความเสี่ยงอีกหลายโรค

ก่อนหน้านี้ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ โดย ดร.นพ.ไพโรจน์ เสาน่วม ผู้ช่วยผู้จัดการ และรักษาการผู้อำนวยการสำนักสร้างเสริมวิถีชีวิตสุขภาวะ เปิดเผยรายงานสถานการณ์กิจกรรมทางกายของเด็กและเยาวชนไทย พ.ศ. 2565 (Thailand Report Card 2022)  พบเด็กและเยาวชนไทย อายุระหว่าง 5-17 ปี มีกิจกรรมทางกาย (Physical Activity) ระดับปานกลางถึงระดับหนักสะสมได้อย่างน้อยเฉลี่ยวันละ 60 นาที เพียง 27% ของเด็กและเยาวชนไทยทั้งประเทศ แม้จะปรับตัวเพิ่มขึ้นจากระดับ 23.2% และ 26.3% เมื่อปี 2559 และ 2561 ตามลำดับ แต่ถือว่ายังอยู่ในระดับต่ำ และพบว่ามีเด็กและเยาวชนที่ใช้หน้าจอเพื่อความบันเทิงรวมต่อวัน ไม่เกิน 2 ชั่วโมง เพียง 15% ของเยาวชนทั้งหมด จึงมีความจำเป็นต้องได้รับการส่งเสริมการมีกิจกรรมทางกายอย่างเร่งด่วน เนื่องจากสร้างผลเสียต่อพัฒนาการตามช่วงวัย ความแข็งแรงของร่างกาย ความฉลาดทางอารมณ์ และการเกิดโรคไม่ติดต่อ หรือกลุ่มโรค NCDs

นอกจากนี้พบว่า เด็กและเยาวชนมีความผูกพันต่อโรงเรียนในสัดส่วน 65% ซึ่งถือเป็นระดับที่ดี ดังนั้นครูและโรงเรียนจึงเป็นส่วนสำคัญมากต่อการผลักดันและส่งเสริมการมีกิจกรรมทางกายสำหรับคนในกลุ่มนี้ โดยจำเป็นต้องยกระดับนโยบายการมีกิจกรรมทางกาย เน้นไปที่การสร้างความสุข ลดความเครียด สามารถประยุกต์ใช้แนวทางการส่งเสริมการมีกิจกรรมทางกายแบบทั้งระบบ (Whole - of - School Programmes) เพื่อช่วยเพิ่มโอกาสการมีกิจกรรมทางกายระหว่างวันให้กับนักเรียนมากยิ่งขึ้น นอกจากนี้ควรจัดให้มีการเข้าถึงสิ่งอำนวยความสะดวกด้านการมีกิจกรรมทางกายอย่างปลอดภัย รวมถึงการเพิ่มพื้นที่สุขภาวะเพื่อให้นักเรียนสามารถเคลื่อนไหวร่างกายได้มากขึ้นตลอดทั้งวันขณะอยู่ในโรงเรียน โดยสามารถศึกษาข้อมูลและนำไปประยุกต์ใช้ได้จาก www.activekidsthailand.com ซึ่ง สสส. และศูนย์พัฒนาองค์ความรู้ด้านกิจกรรมทางกายแห่งประเทศไทย (TPAK) สถาบันวิจัยประชากรและสังคมมหาวิทยาลัยมหิดล พัฒนาขึ้นมาเพื่อเป็นแนวปฏิบัติสำหรับการสนับสนุนเพิ่มกิจกรรมทางกายสำหรับกลุ่มเด็กและเยาวชนโดยเฉพาะ

“ทั้งนี้การมีกิจกรรมทางกายที่เพียงพอและสม่ำเสมออย่างน้อยเฉลี่ยวันละ 60 นาที ในกลุ่มเด็กและเยาวชน สร้างประโยชน์ต่อการเจริญเติบโตและพัฒนาการ ซึ่งสัมพันธ์กับระบบหัวใจและปอดที่แข็งแรง สภาพกล้ามเนื้อ ระบบหัวใจและหลอดเลือด สุขภาพของกระดูก รวมถึงพัฒนาการทางด้านอารมณ์ และความจำที่ดี ส่งเสริมประสิทธิภาพการเรียนรู้ สามารถคิดเชิงบริหาร การแก้ไขปัญหาเชิงสร้างสรรค์ และช่วยในเรื่องการตัดสินใจ นอกจากนั้นยังช่วยลดอาการซึมเศร้า ส่งเสริมให้มีชีวิตเป็นสุขมากขึ้นจากการหลังสารเชโรนิน สารโดพามีน และเอ็นโดรฟินออกมาเป็นสารสื่อประสาททำให้เกิดความสุข”

ดังนั้น ถึงเวลาแล้วที่ทุกฝ่าย ที่จะหันกลับมาแก้ไขปัญหาอย่างจริงจัง เครื่องมือสำคัญคือ ความรัก ความเอาใจใส่ของผู้ปกครอง ที่ต้องไม่หวังพึ่งโรงเรียน และครูเท่านั้น