เสือตัวที่ 6

ท่ามกลางกระแสวิพากษ์วิจารณ์อย่างรุนแรงจากทั้งประชาชนในประเทศและประชาคมโลก ซึ่งร่วมกันออกมาต่อต้านการใช้โทษประหารเพื่อกำจัดผู้เห็นต่างทางการเมืองของรัฐบาลทหารเมียนมาที่สั่งประหารชีวิตนักกิจกรรมทางการเมืองผู้เรียกร้องประชาธิปไตย 4 ราย ซึ่งถือเป็นการลงโทษประหารชีวิตครั้งแรกในรอบกว่า 30 ปี มีรายงานข่าวใน 25 กรกฎาคม 2565 ว่า นักโทษทางการเมืองทั้ง 4 คนได้ถูกลงโทษประหารชีวิตแล้ว ตามกระบวนการของเรือนจำ โดยมีฐานความผิดตามคำพิพากษาว่ากระทำความผิดร้ายแรงตามกฎหมายของเมียนมา ฐานก่อการร้ายในระหว่างการพิจารณาคดีแบบปิดเมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา ทั้งที่ก่อนหน้านี้ มีข้อมูลจากสมาคมช่วยเหลือนักโทษการเมือง (AAPP) เปิดเผยว่า นับตั้งแต่ที่กองทัพเมียนมาได้ก่อรัฐประหารเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2564 ก็มีประชาชนที่เห็นต่างทางการเมืองถูกจับกุมไปแล้วจำนวนมาก กว่า 14,847 ราย ในจำนวนดังกล่าวมีประชาชน 11,759 รายที่ยังถูกคุมขังอยู่ และมีนักโทษที่ถูกประหารชีวิตแล้วถึง 76 ราย 

จากสถานการณ์ที่เลวร้ายลงดังกล่าวในเมียนมา ทำให้ผู้นำของนานาประเทศต่างประณามการกระทำของรัฐบาลทหารเมียนมาอย่างกว้างขวาง สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า นางมิเชล บาเชเลต์ ข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ เรียกการสั่งประหารฝ่ายตรงข้ามทางการเมืองดังกล่าวอย่างรุนแรงว่าเป็น ก้าวย่างที่โหดร้ายและล้าหลัง ขณะที่นายอันโตนิโอ กูเตร์เรส เลขาธิการสหประชาชาติ ประณามการกระทำดังกล่าวอย่างรุนแรงเช่นกัน พร้อมกับเรียกร้องทางการเมียนมาอีกครั้งในการปล่อยนักโทษทางการเมือง รวมทั้ง นางอองซาน ซูจี โดยเร็วที่สุด ขณะที่อีกหลายประเทศทั่วโลก อาทิ สหภาพยุโรป ออสเตรเลีย แคนาดา ญี่ปุ่น นิวซีแลนด์ นอร์เวย์ เกาหลีใต้ สหราชอาณาจักร และสหรัฐอเมริกา ร่วมกันออกแถลงการณ์ร่วมประณามการสั่งประหารครั้งนี้ของรัฐบาลเมียนมาว่า เป็นการกระทำรุนแรงที่เลวทราม ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่ารัฐบาลเมียนมาไม่ได้สนใจต่อสิทธิมนุษยชนและหลักนิติธรรม ตลอดจนเพิกเฉยต่อกติกาสากลระหว่างประเทศอย่างสิ้นเชิง

ในขณะที่ชาติมหาอำนาจของโลกอย่างสหรัฐอเมริกา โดยสภาความมั่นคงแห่งชาติสหรัฐฯ ออกแถลงการณ์ประณามการกระทำครั้งนี้ของเมียนมา โดยระบุว่า สหรัฐฯ ขอประณามการกระทำดังกล่าวของรัฐบาลทหารเมียนมาอย่างรุนแรง ที่ได้สั่งประหารชีวิตนักเคลื่อนไหวทางการเมือง และผู้ที่ได้รับเลือกตั้งจากเสียงของประชาชนส่วนใหญ่ของประทศตามระบอบประชาธิปไตย พร้อมทั้งเรียกร้องให้รัฐบาลทหารเมียนมา ปล่อยนักโทษทางการเมืองทุกรายที่ถูกจับกุมแบบไม่ยุติธรรม และคืนประชาธิปไตยให้กับประชาชนชาวเมียนมาโดยเร็ว ขณะที่ แอนโทนี บลิงเคน รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ ชี้ว่า การสังหารนักเคลื่อนไหวทางการเมืองของรัฐบาลทหารเมียนมาอย่างโหดเหี้ยม ไร้หลักสิทธิมนุษยชนครั้งนี้ เป็นการกระทำที่สหรัฐฯ ยอมรับไม่ได้ รวมทั้งจากข้อมูลตัวเลขจากกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ระบุชัดเจนว่า รัฐบาลทหารเมียนมา ได้สังหารประชาชนผู้เห็นต่างไปแล้วกว่า 2,100 ราย กว่า 700,000 ราย กลายเป็นผู้พลัดถิ่นที่ต้องอพยพย้ายถิ่นหนีตาย นักเคลื่อนไหวทางการเมือง ภาคประชาสังคม และสื่อมวลชนจำนวนไม่น้อยที่ยืนอยู่ฝั่งตรงข้ามรัฐบาลทหารต่างถูกจับกุม ในขณะเดียวกัน จีนซึ่งเป็นหนึ่งในพันธมิตรสำคัญที่ใกล้ชิดกับรัฐบาลทหารเมียนมา รวมถึงเป็นแหล่งจัดหาอาวุธให้กับรัฐบาลที่มาจากรัฐประหารชุดนี้ ยังรักษาจุดยืนในหลักการที่ว่า จีนจะไม่แทรกแซงกิจการภายในของประเทศอื่น พร้อมระบุว่า ทางการจีนขอให้ทุกฝ่ายภายในเมียนมาจัดการแก้ไขข้อขัดแย้งภายใต้กรอบของรัฐธรรมนูญและกฎหมายโดยสันติวิธี

ในภูมิภาคอาเซียนเองก็มีปฏิกิริยาที่ประณามการสังหารนักโทษการเมืองของรัฐบาลทหารเมียนมาไปในแนวทาวเดียวกับประชาคมโลก โดยกัมพูชาในฐานะประธานอาเซียนในปีนี้ ได้ออกแถลงการณ์ของอาเซียนที่เผยแพร่ใน 26 ก.ค.นี้ว่า อาเซียนรู้สึกเป็นทุกข์และเสียใจอย่างมากหลังทราบว่ารัฐบาลทหารเมียนมาสั่งประหารชีวิตนักเคลื่อนไหวเรียกร้องประชาธิปไตย 4 คน รัฐบาลทหารเมียนมาเลือกประกาศข่าวนี้เพียง 1 สัปดาห์ก่อนที่อาเซียนจะเปิดประชุมคณะรัฐมนตรีอาเซียน ครั้งที่ 55 ในสัปดาห์หน้า ซึ่งเป็นการกระทำที่ยอมรับไม่ได้อย่างยิ่ง ทั้งยังระบุว่า การตัดสินใจดังกล่าวแสดงให้เห็นว่า รัฐบาลทหารเมียนมาขาดเจตจำนงอย่างร้ายแรงในการสนับสนุนแผนสันติภาพของอาเซียนที่กำลังทุ่มเทความพยายามอย่างยิ่งตลอดมาในการแสวงหาทางออกจากความขัดแย้งในเมียนมาด้วยสันติวิธีที่ได้รับความเห็นชอบจากองค์การสหประชาชาติ

การตัดสินใจแก้ปัญหาการต่อต้านของกลุ่มคนเห็นต่างของรัฐบาลทหารเมียนมา ซึ่งก่อเหตุรัฐประหารยึดอำนาจการปกครองเมื่อวันที่ 1 ก.พ. 64 ด้วยการสั่งประหารชีวิตนักเคลื่อนไหวเรียกร้องประชาธิปไตย 4 คนที่ถูกกล่าวหาว่าช่วยเหลือการก่อการร้าย ซึ่งถือเป็นคำสั่งประหารชีวิตนักโทษครั้งแรกในรอบหลายสิบปีของเมียนมา การตัดสินใจชจัดกลุ่มคนเห็นต่างทางการเมืองดังกล่าวครั้งนี้ ทำให้นานาชาติรู้สึกไม่พอใจอย่างมาก และจะส่งผลกระทบต่อรัฐบาลทหารเมียนมาอย่างรุนแรงไม่ว่าจะเป็นรูปแบบใดที่เป็นไปได้ และแน่นอนว่า หากมีการลงโทษด้วยมาตรการใดๆ ต่อรัฐบาลทหารเมียนมาจากนานาอารยะประเทศ ประเทศเมียนมาก็จะมิอาจทัดทานได้ แม้ว่าอาจจะมียักษ์ใหญ่แห่งเอเซียแอบหนุนหลัง ประเทศเมียนมาก็จะยิ่งได้รับผลกระทบอันเลวร้ายลงไปอีกอย่างมิอาจประเมินได้ และสถานการณ์นั้นย่อมส่งผลกระทบมาถึงประเทศไทยโดยตรง เพราะมีทั้งพรมแดนทางบก ทางทะเล และทางอากาศติดกับเมียนมา อย่างน้อยผลกระทบที่ไทยได้รับจากสถานการณ์ในเมียนมาตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมาก็คือ การอพยพย้านถิ่นฐานของผู้คนชาวเมียนมาเข้าในไทยจำนวนมาก และมีแนวโน้มสูงว่า จะเป็นผลกระทบใกล้ตัวกับไทยที่มากกว่าที่ผ่านๆ มา ซึ่งจะมาถึงไทยในไม่ช้า