ทวี สุรฤทธิกุล
ลิงนั้นกินผลไม้และผักอื่น ๆ ได้หลายชนิด แต่ยังสู้นักการเมืองไม่ได้ที่กินได้ทุกอย่าง
สำนวน “ลิงกินกล้วย” ได้ถูกนำมาใช้กับนักการเมืองไทย ในความหมายของการเรียกรับเงินเพื่อแลกกับคะแนนเสียงในการลงมติเรื่องต่าง ๆ และดูเหมือนจะเกิดขึ้นชุกชุมในช่วงที่มีการอภิปรายไม่ไว้วางใจในทุกครั้ง จึงเป็นเรื่องที่น่าคิดว่าทำไมจึงเกิดขึ้นในช่วงเวลาดังกล่าว จนดูเหมือนว่าเป็นเรื่องปกติของนักการเมืองไทย ในวิธีที่มาทำมาหาเงินแบบนี้
บางคนว่าสันดานเรียกร้อง “กินกล้วย” นี้น่าจะเป็นนิสัยถาวรของนักการเมืองไทยเสียแล้ว
สมัยที่ผู้เขียนทำงานอยู่กับท่านอาจารย์ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช เคยได้เห็น ส.ส.มาขอเงินท่านอยู่บ่อย ๆ แต่ละคนก็มาขอจำนวนไม่มาก ส่วนใหญ่ก็จะเป็น ส.ส.หน้าเดิม ๆ บางคนก็มาขอเอาดื้อ ๆ ว่าขาดเงิน เงินไม่พอใช้ บางคนก็อ้างบุญกุศลมาขอให้ท่านช่วยบริจาค แต่ถ้ามาขอเป็นจำนวนมาก ๆ ก็มักจะไม่ได้ตามที่ขอ ท่านก็จะอ้างว่าท่านไม่ได้มีเงินมาก และที่ให้นี้ก็เพื่อช่วยเหลือกันเล็ก ๆ น้อย ๆ แบบญาติมิตร โดยท่านจะเขียนเป็นเช็คให้ไปขึ้นเงินเอาที่ธนาคาร ซึ่งถ้าเป็นเช็คของท่านก็จะมีเจ้าหน้าที่ผู้ใหญ่ของธนาคารกับพนักงานมาดูแลให้เป็นพิเศษ ทำให้เวลาที่ ส.ส.ที่เอาเช็คไปขึ้นเงิน ก็จะมีเจ้าหน้าที่ธนาคารมารายล้อมอย่างน้อย 2-3 คน เจ้าหน้าที่ธนาคารบางคนแอบนินทาให้ผู้เขียนได้ยินว่า นี่คงเป็นวิธีประจาน ส.ส.เหล่านั้น จน ส.ส.บางคนก็ต้องมอบอำนาจให้ลูกน้องไปเบิกให้แทน แต่นั่นแหละภาพที่ ส.ส.บางคนเดินเข้ามาในธนาคาร ก็เป็นภาพที่จดจำได้ในหมู่พนักงานธนาคาร ด้วยความ “เอือมระอา” หรือ “ทุเรศ” พอ ๆ กันกับคนที่ทำงานกับท่านอาจารย์คึกฤทธิ์ที่บ้านซอยสวนพลู
ท่านอาจารย์คึกฤทธิ์เคยบ่นในเรื่องนี้อยู่เหมือนกัน แต่ท่านก็เหมือนปลงตกและต้องฝืนใจแจกจ่ายเงินเหล่านั้นอยู่เรื่อย ๆ ท่านเล่าให้ฟังว่าตอนที่ท่านเป็นนายกรัฐมนตรีใน พ.ศ. 2518 พี่สาวของท่านคือ ม.ร.ว.บุญรับ พินิจชนคดี ได้เอาเงินใส่ถุงกระดาษมาให้ทีละ “หลาย ๆ ฟ่อน” อยู่เป็นประจำ ก่อนที่จะพูดว่า “นี่เอาไว้แจก ส.ส.นะ จะได้ไม่ไปโกงหลวงมาจ่าย” ต่อมาในสมัยรัฐบาลพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ พี่สาวของท่านไม่อยู่แล้ว แต่ท่านยังเป็นหัวหน้าพรรคกิจสังคมที่มี ส.ส.อยู่ในพรรคเกือบร้อยคน แน่นอนว่า “ลิง” ก็จะมีอยู่ในพรรค เป็น “ฝูง” นั้นด้วย ก็ยิ่งทำให้ท่านต้องเดือดร้อนมาก ๆ แต่ก็ได้นายทุนหลายคนในพรรคนำเงินมาช่วย เอาไว้ให้ท่านแจกให้ ส.ส. “ลิงหิว” เหล่านั้น ซึ่งตอนนั้นผู้เขียนได้มาเป็นเลขานุการของท่านอาจารย์คึกฤทธิ์แล้ว จึงมีหน้าที่อีกอย่างหนึ่งคือนับเงินใส่ซอง ๆ ละ 1 หมื่นบ้าง 2 หมื่นบ้าง แล้วเตรียมไว้ในกระเป๋าเอกสารของท่านครั้งหนึ่ง ๆ ราว 10 กว่าซอง บางที 2-3 วันก็มี ส.ส.มาขอไปหมด ซึ่งส่วนมากก็จะมาขอในช่วงปลาย ๆ เดือน โดยจะเป็น ส.ส.หน้าเก่า ๆ ที่เป็น “เจ้าประจำ” คล้าย ๆ กับมาขอค่าใช้จ่ายรายเดือน แต่ถ้ามาขอในช่วงเวลาอื่นที่รียกว่า “ขาจร” ก็จะมาด้วยเรื่องเดือดร้อนต่าง ๆ รวมถึงที่มาขอ “ค่ายกมือ” ในการลงมติต่าง ๆ ในสภา
ส.ส.ที่มาขอเงินท่านอาจารย์คึกฤทธิ์ไม่ใช่จะนำความเดือดร้อนมาให้ท่านอาจารย์คึกฤทธิ์เพียงอย่างเดียว แต่ยังได้นำ “ข้อมูลที่เป็นประโยชน์” มาให้ท่านได้รู้และนำไปใช้ประโยชน์ในเรื่องต่าง ๆ ได้อีกด้วย นั่นก็คือความสัมพันธ์ที่แกนนำต่าง ๆ ของพรรค “ปฏิบัติ” ต่อ ส.ส.แต่ละคน ทั้งนี้ท่านผู้อ่านอย่าลืมว่า ส.ส.เขาจะอยู่กันเป็น “มุ้ง” คือรวมตัวกันเป็นกลุ่ม ๆ โดยยึดเกาะกับแกนนำแต่ละคน ส.ส.บางคนอาจจะอยู่ได้หลาย ๆ มุ้ง ด้วยการทำทีเป็นสปายสายลับให้กับแกนนำของกลุ่มหนึ่งหรือหลาย ๆ กลุ่ม ส.ส.แบบนี้ก็จะหากินได้กว้างขวาง ยิ่งไปกว่านั้นยังมี “กลุ่มซ้อนกลุ่ม” คือเป็นลูกน้องในกลุ่มหนึ่งแล้วก็มาเป็นหัวหน้าหรือแกนนำในอีกกลุ่มหนึ่ง ซึ่งเราเรียก ส.ส.แบบว่า “พวกหมัดหมา” คือพอนายของตัวหมดประโยชน์ก็เปลี่ยนไปอยู่กับนายคนอื่นต่อ ๆ ไป เหมือนตัวหมัดที่เกาะหมา พอหมาตัวนั้นตายก็กระโดดไปสูบเลือดหมาตัวอื่นต่อไป
ทีนี้ ส.ส.ที่มาหาท่านอาจารย์คึกฤทธิ์ ทุกครั้งก็จะ “คาบข่าว” ต่าง ๆ มาบอกด้วย เช่น ฟ้องว่า อาจารย์บุญชูขี้เหนียว เวลาจะขอเงินใช้ต้องไปเขียนโครงการมา อย่างกับขอเงินจากงบประมาณแผ่นดิน ท่านประธานโค้กลดเงินเดือนที่เคยจ่ายให้ลงไป คนดีศรีอยุธยากำลังสร้างกลุ่มขนาดใหญ่ขึ้นในพรรค เป็นต้น (ขออภัยที่ไม่ได้เอ่ยชื่อจริง เพราะทั้งสามท่านนี้ล่วงลับไปแล้ว จึงไม่อยากปลุกชีพท่านคืนมา) ท่านอาจารย์คึกฤทธิ์ก็จะทราบความเคลื่อนไหวของการเมืองในสภาและในพรรคอยู่โดยตลอด ที่สำคัญก็ทำให้รู้ว่าท่านต้องแก้ปัญหานั้นอย่างไร อย่างเช่นกรณี “คนดีศรีอยุธยา” ท่านเล็งรู้ว่าคงต้านพลังจ่ายของเขาคนนี้ไม่ได้ ท่านก็เลยมอบหมายพรรคให้ไปดูแลทั้งหมด แล้วท่านก็ลาออกจากหัวหน้าพรรค ซึ่งก็ประจวบเหมาะกับความประสงค์ของท่านอาจารย์คึกฤทธิ์ที่อยากจะปลดภาระต่าง ๆ ทางการเมืองนั้นอยู่แล้ว โดยเฉพาะเรื่องการจ่ายเงิน ทั้งรายประจำและรายจร อันเป็นภาระที่หนักหน่วงและอาจจะนำความล่มจมมาสู่ท่านได้ ไม่เพียงแต่จะล่มจเงินทองจนหมดสิ้นกระเป๋าแล้ว ยังอาจจะล่มจมทางชื่อเสียง เพราะคนเหล่านี้ไม่ได้มีศีลธรรมอะไรมากนัก อาจจะทรยศหักหลังได้แม้แต่คนที่จ่ายเงินให้และเลี้ยงดูกันมา
ท่านอาจารย์คึกฤทธิ์ยังเล่าให้ฟังอีกว่า การแจกเงินนั้นมีมาพร้อมกับการเกิดขึ้นของระบบรัฐสภาไทย ในสภายุคแรก ๆ ส.ส.ไม่ได้ร่ำรวยทุกคน โดยเฉพาะ ส.ส.ที่มาจากต่างจังหวัด หลายคนเป็นครู หลายคนเป็นทนายความ คนเหล่านี้ไม่ได้มีรายได้มากมาย พอเข้ามากรุงเทพฯ บางคนยังต้องอาศัยวัด บางคนต้องอาศัยญาติพี่น้องหรือคนรู้จัก หลายคนต้องอยู่บ้านเช่า บางคนโชคดีหน่อยมี “นาย” หรือแกนนำ ส.ส.ให้ที่อยู่อาศัยหรือออกค่าเช่าบ้านให้ นั่นก็คือ ส.ส.จำนวนมากต้อง “พึ่งพิง” คนอื่น ๆ แล้ว ส.ส.ที่ได้พึ่งบางคนก็ “ได้คืบจะเอาศอก” คือไม่พอใจหยุดอยู่แค่เท่าที่ได้รับ แต่ยังอยากได้มาก ๆ ขึ้นไปอีก ทำให้เริ่มมีการ “ร้องขอเงินเพิ่ม” มาตั้งแต่ครั้งมีสภาในยุคแรก ๆ นั้นแล้ว
ส่วนการ “หาเงิน” ด้วยการใช้ตำแหน่ง ส.ส.เข้าต่อรองนี้ ท่านอาจารย์คึกฤทธิ์บอกว่าน่าจะมีขึ้นในสมัยพรรคสหประชาไทยเป็นรัฐบาล ใน พ.ศ. 2512 แต่จะเป็นเพราะอะไรจะขอเอาไว้เล่าให้ฟังในสัปดาห์หน้า เพราะมันส่งผลต่อการเมืองไทยในทุกวันนี้เป็นอย่างมาก โดยเฉพาะ “ภาวะลิงท้องมาน” หรือกินไม่รู้จักอิ่มนี้
“โรคท้องมาน” นี้รักษาไม่ยาก เพียงแต่อย่าให้กินจุบกินจิบ และให้รับประทานอาหารที่มีประโยชน์