แม้จะผ่านศึกอภิปรายไม่ไว้วางใจมาได้ สำหรับรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา แต่ศึกใหญ่ที่รุมเร้าและอาจเป็นปัจจัยที่ฉุดความศรัทธาของพี่น้องประชาชน ก็คือ ปัญหาเศรษฐกิจ โดยเฉพาะค่าครองชีพที่สูงขึ้น จากปัญหาราคาน้ำมัน และการขึ้นราคาสินค้า

 อย่างไรก็ตาม ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคาร แห่งประเทศไทย ประเมินว่า เศรษฐกิจไทยในไตรมาส 2/2565 จะสามารถเติบโตได้มากกว่า 3% โดยมีปัจจัยสนับสนุน คือ มูลค่าการส่งออกของไทยในไตรมาส 2 ที่คาดว่าจะขยายตัวได้ 9.7% ขณะที่จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติ อยู่ที่ราว 1.5 ล้านคน ทั้งปีคาดว่าจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้าไทยราว 6 ล้านคน เศรษฐกิจไทยทั้งปีจะขยายตัวได้ 3.3% โดยยังมีความเสี่ยงด้านเงินเฟ้อคาดทั้งปีอยู่ที่ระดับ 6.2% จะขึ้นสู่จุดสูงสุดไตรมาส 3/2565 ที่ 7.5% ก่อนปรับ ลดลงมาอยู่ที่ 5.9% ในไตรมาส 4/2565 และอยู่ในกรอบเป้าหมายที่ 1-3% ช่วงไตรมาส 2/2566 ที่ระดับ 2.5% และเหลือ 1.7% ในไตรมาส 3 และไตรมาส 4/2566

ส่วนกรณีที่ค่าเงินบาทอ่อนลงมากเพราะมาจากปัจจัยเงินดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าเป็นหลัก และปกติเงินบาทมักเคลื่อนไหวจากปัจจัยภายนอก ซึ่งมีสัดส่วนถึง 86% ส่วนเงินทุนสำรองลดลงมาจากผลกระทบการ ตีมูลค่าของสินทรัพย์ (Valuation) กลับมาอยู่ในรูปดอลลาร์สหรัฐ รวมทั้งเป็นการเปลี่ยนแปลงของผลตอบแทนการลงทุนและการดำเนินนโยบายค่าเงินของ ธปท. บางส่วน ขณะที่เงินทุนสำรองของประเทศอื่นก็ปรับลดลงเช่นกัน และหลายประเทศก็ไม่ได้เข้าไปพยุงค่าเงิน โดยเงินทุนสำรองของไทยที่ 2.47 แสนล้าน ดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็น 51% ของ GDP สูงเป็นอันดับที่ 12 และอันดับ 6 ของโลกตามลำดับ

นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล กรรมการรองผู้จัดการใหญ่ และเลขานุการบริษัท ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BBL กล่าวว่าจจุบันประเทศไทยกำหนดอัตราดอกเบี้ยต่ำมาก อยู่ที่ 0.50% มาเป็นระยะเวลานาน เพื่อพยุงเศรษฐกิจในช่วงการระบาดของโควิด เมื่อเทียบกับช่วงที่เคยเกิดวิกฤติเศรษฐกิจในรอบที่ผ่านมา อัตราดอกเบี้ยนโยบายในเวลานั้นยังอยู่ที่ 1.25 %ดังนั้น ตอนนี้ปัจจัยเรื่องโควิด-19 เริ่มคลายลงแล้ว เศรษฐกิจเริ่มฟื้นคืน โดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยวจากต่างประเทศที่ฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง ขณะเดียวกันปัจจัยใหม่ที่เข้ามามีน้ำหนักมากขึ้นแทน คือ อัตราเงินเฟ้อสูง ค่าเงินบาทที่อ่อนค่าลงค่อนข้างมาก และเงินสำรองระหว่างประเทศที่เริ่มลดลงมาพอสมควร จึงน่าจะเป็นปัจจัยสำคัญในการพิจารณากำหนดอัตราดอกเบี้ยนโยบายในช่วงครึ่งหลังของปีนี้

อย่างไรก็ตาม เราเห็นว่า นโยบายการเงินจะต้องคำนึงถึงปัญปากท้องและเงินในกระเป๋าของประชาชนเป็นสำคัญ