ต้องยอมรับว่าผลสำรวจความคิดเห็นหรือผลโพล มีผลต่อการเมืองไทยเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะในช่วงการเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครที่ผ่านมา ผลโพลมีความแม่นยำ ในขณะเดียวกันก็มีการตั้งคำถามกับการทำโพลอย่างมากเช่นกัน ด้วยกระบวนการจัดทำและสำรวจต่างๆ โดยยั§มีคำถามสำหรับประชาชนบางกลุ่มที่เกิดมาจนอายุ 70 ปี ยังไม่เคยมีสำนักโพลไหนมาทำการสำรวจความคิดเห็น ซึ่งก็เป็นข้อสังเกตที่น่าคิด ในเรื่องของกลุ่มตัวอย่างในการทำโพลในแต่ละหัวข้อ แต่ละประเด็นที่จะมีกระบวนการและวิธีการครอบคลุมมากน้อยแค่ไหน

 ดร.นงค์ลักษณ์ โชติวิทยธานินทร์ สวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยสวนดุสิต ให้ข้อมูลและความเห็นเกี่ยวกับการทำโพลเอาไว้ใน “สยามรัฐ”วันที่ 19 กรกฎาคม 2565 ในหัวข้อ “โพลบนเส้นทางที่ไม่เคยหยุดนิ่ง” ตอนหนึ่งระบุว่า

“นักการเมืองเอาผลโพลมากำหนดหรือปรับปรุงกลยุทธ์ในการหาเสียงเลือกตั้ง สื่อมวลชนให้ความสำคัญกับการทำโพลเมื่อถึงช่วงเวลาการเลือกตั้งใหญ่ๆ เช่นการเลือกตั้งประธานาธิบดีการเลือกตั้ง ส.ส. ทั้งนี้เพราะโพลเป็นผลรวมของความคิดเห็นของประชาชนหากนำมาใช้อย่างฉลาด ถูกทาง และทันเวลาอาจสร้างการเปลี่ยนแปลงอย่างไม่น่าเชื่อ อย่างไรก็ดีผลโพลนั้นก็ต้องคุณภาพดี มีการเก็บข้อมูล 'จริง ทั่วถึงและจำนวนมากพอ

โพลทวีความสำคัญยิ่งขึ้นๆ บนโลกใบนี้หลังการปฏิวัติใหญ่ในฝรั่งเศสและสหรัฐอเมริกา ไม่ผิดนักถ้าจะกล่าวว่ารูปแบบการปกครองแบบบ้านเมืองแบบประชาธิปไตยเป็นปัจจัยหลักที่ส่งเสริมให้โพลกลายเป็นเครื่องมือที่ทรงอิทธิพลทางการเมือง เนื่องจากผู้ปกครอง หรือผู้นำบ้านเมืองก็อยากรู้ว่าพลเมืองที่ตนปกครองอยู่คิดอะไรและลงคะแนนเสียงอย่างไร ฯลฯ

ก่อนที่โพลจะพัฒนารูปแบบการสำรวจการเก็บข้อมูล และการวิเคราะห์ผลโดยอาศัยกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ (Scientific poll) อย่างเป็นระบบ ถ้าผู้ปกครองหรือผู้นำบ้านเมือง อยากรู้ความคิดเห็นของประชาชนก็จะต้องอ่านจดหมายที่เขียนถึงบรรณาธิการหรือมองประเด็นเรียกร้องที่นำไปสู่การชุมนุมของประชาชนต่อมาโพลก็พัฒนาขึ้นมีการสร้างข้อคำถามบรรจุใส่แบบสำรวจความคิดเห็นแล้วแนบแบบสำรวจฯแทรกไว้ในนิตยสารหรือหนังสือพิมพ์ เมื่อประชาชนตอบแบบสำรวจฯก็จะส่งกลับมาตามความสมัครใจซึ่งทางนิตยสารหรือหนังสือพิมพ์อาจมีรางวัลให้ วิธีการหรือกระบวนการทำโพลแบบนี้ไม่ได้สะท้อนถึงความเป็นตัวแทนประชากรที่แท้จริงมากนัก

ช่วงศตวรรษที่ 19 วิธีการทำโพลเริ่มสะท้อนถึงความเป็นตัวแทนของประชากรยิ่งขึ้น เมื่อการเก็บข้อมูลโพลเริ่มใช้การสัมภาษณ์ทั้งแบบเผชิญหน้าและทางโทรศัพท์ แต่ผู้สัมภาษณ์ต้องผ่านการฝึกอบรมก่อน และการเก็บข้อมูล ก็เริ่มคำนึงถึงอาชีพและอายุของผู้ตอบแบบสัมภาษณ์หรือแบบสำรวจฯ ว่าจะต้องมีจำนวนพอๆ กัน ในศตวรรษนี้การทำโพลนับว่ามีบทบาทและความสำคัญมากขึ้นในประเทศสหรัฐอเมริกาจนเกิด สถาบันโพล แต่ก็ต้องรอจน ถึงต้นศตวรรษที่ 20 กว่าโพลจะเดินทางไปเติบโตในประเทศต่างๆ

ต่อมาในศตวรรษที่ 20 จอร์จ แกลลัป (George Gallup) ผู้ได้รับการยกย่อง ว่าเป็น 'บิดาแห่งการทำโพลสมัยใหม่' ที่แม้ว่าจะไม่ได้เป็นผู้ประดิษฐ์ "โพล" แต่ก็ เป็นผู้พัฒนาวิธีการหรือกระบวนการทำโพลเชิงวิทยาศาสตร์โดยใช้วิธีการทางสถิติเป็นเครื่องมือนำทางสำหรับเลือกและเก็บข้อมูล รวมถึงการสร้างข้อคำถามที่เป็นกลางไม่ชี้นำ แม้ว่าการทำโพลโดยใช้กระบวนการทางวิทยาศาสต์จะไม่ได้ ให้ผลโพลที่แม่นยำทุกครั้งไป แต่การทำโพลทุกวันนี้ก็ยังยึดวิธีการทางวิทยาศาสตร์เป็นแกนหลัก (Core methodology)

สำหรับการทำโพลในทุกวันนี้ที่โลกก้าวเข้าสู่ศตวรรษที่ 21 แล้วพบว่าการทำโพลเกิดการเปลี่ยนแปลงไปมากกว่าทุกยุคทุกสมัยที่ผ่านมาเนื่องจากความก้าวหน้าของเทคโนโลยีอินเตอร์เน็ตและดิจิทัล ประเด็น/หัวข้อการทำโพลครอบคลุมทุกเรื่องทั้งการเมือง เศรษฐกิจสังคม การศึกษา การตลาด ฯลฯ ความหลากหลายของกลุ่มผู้ตอบแบบสัมภาษณ์/แบบสำรวจฯ มีทั้งคนรุ่นเก่าที่ไม่คล่องเทคโนโลยีและคนรุ่นใหม่ที่เติบโตมาพร้อมกับเทคโนโลยี เครื่องมือที่ใช้เก็บข้อมูลทั้งแบบออฟไลน์และออนไลน์ เช่น กระดาษ แท็บเล็ตเว็บไซต์ โทรศัพท์พื้นฐาน มือถือ เป็นต้นการเก็บข้อมูลที่ใช้การสนทนากลุ่ม

ผสมผสานกับการตอบแบบสัมภาษณ์/แบบสำรวจฯ รวมถึงการประมวลผลแบบเรียลไทม์และออฟไลน์ การเผยแพร่ผลโพลผ่านสื่อเก่าและสื่อใหม่ทั้งในแบบข้อความและคลิป ยิ่งไปกว่านั้นยังเกิดคู่แข่งใหม่ที่ไม่ใช่ สำนักโพล ก็สามารถทำโพลได้

เหล่านี้ส่งผลให้สำนักโพลต้องปรับตัวให้เร็วและเรียนรู้ใหม่ เพื่อพัฒนาศักยภาพองค์กรและบุคลากรให้ก้าวทันการเปลี่ยนแปลง ทั้งนี้ก็เพื่อให้สำนักโพลยังคงอยู่เป็นกระจกสะท้อนสังคมที่แม่นย่ำ ถูกต้องและรวดเร็วต่อไป..”

อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้มีโพลสำรวจเกี่ยวกบัคะแนนนิยมของผู้ที่เหมาะสมเป็นนายกรัฐมนตรี ความแม่นยำของโพล คงต้องรอผลการเลือกตั้งครั้งหน้าเป็นเครื่องพิสูจน์