เสือตัวที่ 6
การต่อสู้ทางความคิดที่แปลกแยกแตกต่างของคนในพื้นที่จากคนในพื้นที่อื่นๆ กำลังถูกขับเคลื่อนไปอย่างเข้มข้น ต่อเนื่อง เป็นระบบ ด้วยความแนบเนียน เพื่อหล่อหลอมผู้คนในกลุ่มตนให้มีวิธีคิดเป็นไปในทิศทางใดที่ผู้นำทางความคิดต้องการ และการสะสมบ่มเพาะแนวคิดแปลกแยกให้เกิดขึ้นอย่างเงียบๆ กับคนในพื้นที่ปลายด้ามขวานให้มีผลต่อคนส่วนใหญ่ของแผ่นดิน ก็สามารถกระทำได้อย่างแนบเนียนมากขึ้นอย่างยาก ที่หน่วยงานภาครัฐที่ไม่พยายามเข้าใจบริบทโลกใหม่จะหยั่งรู้และติดตามการขับเคลื่อนความคิดที่อาจเป็นภัยต่อความเป็นปึกแผ่นของชาติได้อย่างทันท่วงที สถานการณ์ที่การต่อสู้ทางความคิดอย่างเงียบๆ ผ่านเครื่องมือที่เป็นเทคโนโลยีสมัยใหม่ จึงดูเหมือนว่ามีความเป็นปกติสงบราบเรียบ หากแต่แท้ที่จริงแล้ว ความเห็นต่างกับคนส่วนใหญ่ของรัฐเหล่านั้น เพียงแต่รอการปะทุให้ปรากฏออกมาให้เห็นเมื่อโอกาสอำนวย
ปรากฏการณ์ความเห็นต่างกับคนส่วนใหญ่ของรัฐที่ยังถูกหล่อหลอมให้มีขึ้นในมโนสำนึกของเด็กและเยาวชนในพื้นที่ปลายด้ามขวานยังคงความเข้มข้นอยู่อย่างต่อเนื่อง โดยเกิดขึ้นจากกระบวนการบ่มเพาะอย่างเป็นระบบของนักสร้างมวลชนในขบวนการแบ่งแยกผู้คนในพื้นที่ ผ่านสื่อ Social ด้วยเทคโนโลยีอันก้าวหน้าในยุคปัจจุบันดังกล่าวข้างต้น เกิดขึ้นให้เห็นอย่างชัดเจน ล่าสุดในช่วงเทศกาล ฮารีรายอ อีดิ้ลอัฎฮา หรือรายอฮัจย์ ซึ่งเป็นการเฉลิมฉลองให้กับมุสลิมทั่วโลกที่ได้ไปแสวงบุญฮัจย์ ที่นครเมกกะฮ์ ประเทศซาอุดิอาระเบีย ปรากฏว่าในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ก็มีการจัดกิจกรรมขบวนแห่ในแบบแฟนซี และถูกโพสต์ในเพจเฟซบุ๊กของผู้ใช้งานในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ เพจต้นทางชื่อว่า Berita Melayu Patani โดยก่อนหน้านี้ ก็มีประเด็นเยาวชนในพื้นที่พร้อมใจกันแต่งชุดมลายูช่วงเทศกาลฮารีรายอ อีดิ้ลฟิตรี หรือรายอปอซอ ซึ่งเป็นการเฉลิมฉลองหลังสิ้นสุดเดือนรอมฎอน หรือเดือนแห่งการถือศีลอด จนฝ่ายความมั่นคงต้องตรวจสอบว่า กิจกรรมดังกล่าวข้างต้น มีเจตนาแฟงเร้นที่ต้องการแสดงออกถึงความเห็นต่างกับรัฐหรือไม่ มีเจตนาในการแสดงออกถึงการต่อสู้ทางความคิดกับรัฐซึ่งเกิดกับคนรุ่นใหม่ในพื้นที่อย่างมีนัยสำคัญหรือไม่ เพราะกิจกรรมครั้งนั้นเป็นการรวมตัวของเยาวชนจำนวนมากนับหมื่นคน ที่แต่งกายด้วยชุดมลายูตามอัตลักษณ์ท้องถิ่นอย่างพร้อมเพรียงอย่างผิดปกติ
ล่าสุดในช่วงเทศกาลฮารีรายอ อีดิ้ลอัฎฮา หรือรายอฮัจย์ ซึ่งเป็นการเฉลิมฉลองให้กับมุสลิมทั่วโลกที่ได้ไปแสวงบุญฮัจย์ ที่นครเมกกะฮ์ ประเทศซาอุดิอาระเบีย ครั้งนี้ปรากฏว่าสิ่งของที่นำมาแห่ ไม่ใช่ดอกไม้ หรือสิ่งของตกแต่งที่เป็นแนวสวยงามหรือดูเป็นสิริมงคลตามเทศกาลฮารีรายอ อีดิ้ลอัฎฮา อันเป็นเทศกาลมงคลของพี่น้องชาวมุสลิมในพื้นที่ แต่กลับเป็นอาวุธสงครามชนิดต่างๆ ทั้งเอ็ม 16 อาก้า อาร์พีจี เครื่องยิงลูกระเบิด โดยกลุ่มคนที่อยู่ในกิจกรรมขบวนแห่ครั้งนี้ส่วนใหญ่เป็นเยาวชนคนรุ่นหนุ่มสาวทั้งหญิงและชาย ใช้รถกระบะเป็นพาหนะในขบวนแห่ และเปิดเพลงภาษามลายูหรือภาษาอาหรับในกิจกรรมอย่างอึกทึกอีกด้วย
จากการตรวจสอบยืนยันว่า กิจกรรมขบวนแห่ครั้งนี้ เกิดขึ้นใน 12 ก.ค. ที่ผ่านมา เป็นการเฉลิมฉลองหลังจากฉลอง Aidil Adha (อีดิ้ลอัฎฮา) ในพื้นที่ปลายด้ามขวานของประเทศไทย โดยชุมชนท้องถิ่นในพื้นที่ ต.ดุซงยอ อ.จะแนะ จ.นราธิวาส โดยอ้างว่า เป็นกิจกรรมที่ต้องการสร้างความสามัคคีในความหลากหลาย ที่สะท้อนความเป็นจริงหลากหลายเชื้อชาติ หลายศาสนา และมุ่งเน้นความหลากหลายวัฒนธรรมของปาตานีเป็นสำคัญ อย่างไรก็ตาม กิจกรรมนี้ย่อมไม่ใช่กิจกรรมธรรมดา เพราะมีการแฝงเร้นแอบซ่อนความหมายของความขัดแย้งแตกต่างและวิธีคิดของกลุ่มคนในพื้นที่ที่เห็นชัดเจนว่า พวกเขาต้องการสื่อสารความหมายที่แฝงไว้ซึ่งการดำรงอยู่ของการต่อสู้ทางความคิดกับรัฐอย่างเหนียวแน่นเข้มข้นบนความแนบเนียนยิ่ง
กิจกรรมล่าสุดนี้ ยังถูกตีความให้เห็นถึงความต้องการที่แอบซ่อนอยู่โดยแกนนำคนหนึ่งของกลุ่มด้วยใจ ซึ่งเป็นองค์กรภาคประชาสังคมที่ทำงานด้านเด็กและผู้ใหญ่ในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่เห็นว่ากิจกรรมในลักษณะนี้ขาดการตระหนักถึงเรื่องราวรูปแบบของกิจกรรมที่เหมาะสมต่อเด็กและผู้หญิงในพื้นที่ที่ยังมีความขัดแย้งอยู่อย่างเข้มข้นแม้ว่าการก่อเหตุรุนแรงจะลดน้อยถอยลง หากแต่การขับเคลื่อนการสร้างความเห็นต่างของคนในพื้นที่กับรัฐก็ยังคงดำรงอยู่อย่างเข้มข้น ผ่านสื่อ Social อย่างแนบเนียนและทรงพลังในการถ่ายทอดวิธีคิดความเห็นต่าง ส่งต่อความขัดแย้งกับรัฐอย่างต่อเนื่อง การจัดกิจกรรมขบวนแห่ครั้งนี้มีการแต่งกายในแบบของคนในปาตานี ประกอบอาวุธนานาชนิด ทั้งผู้หญิงและเด็กถือปืน ถืออาวุธสงคราม ทำให้แกนนำองค์กรภาคประชาสังคมที่ทำงานด้านเด็กและสตรี จึงเห็นว่าเป็นการชักนำทางความคิดที่นิยมความรุนแรงให้เกิดกับเด็กและเยาวชนเข้าไปเกี่ยวข้องกับกลุ่มก่อเหตุรุนแรงต่าง ๆ ทั้งในพื้นที่ และต่างประเทศ เช่น ไอเอส หรือกลุ่มตาลีบัน เพราะในกิจกรรมก็มีการพูดถึงตาลีบันด้วย
ปรากฏการณ์การแสดงออกผ่านกิจกรรมในโอกาสต่างๆ จึงไม่ใช่เรื่องปกติธรรมดาที่ฝ่ายความมั่นคงจะละเลยหรือเพิกเฉย ไม่สนใจในความหมายที่แอบซ่อนอยู่ได้ เพราะแม้ว่าจะเป็นกิจกรรมการแสดงออกของเยาวชนชายและหญิงในพื้นที่แห่งนี้ที่ไม่ทีความหมายในแง่ของการก่อเหตุรุนแรงทางกายภาพ หากแต่กิจกรรมในลักษณะนี้ เป็นการก่อตัวของความเห็นต่าง แค้นเคือง บ่มเพาะความรุนแรงให้เกิดขึ้นในมโนสำนึกของคนรุ่นใหม่ในพื้นที่ และแม้ว่าจะไม่กระทบต่อความมั่นคงของรัฐอย่างรุนแรงในแง่ของการต่อสู้ด้วยอาวุธกับรัฐ แต่ก็เป็นไปได้สูงว่า ขบวนการบ่งแยกผู้คนในพื้นที่กับรัฐ หาได้หยุดยั้งการต่อสู้เพื่อให้ได้มาซึ่งอิสระในการอยู่กันเองของคนในพื้นที่อย่างที่ฝ่ายความมั่นคงเข้าใจอย่างนั้นไม่ เพราะการแสดงออกในแบบที่หมิ่นแหม่ต่อการสร้างความแตกต่างของคนในขบวนแห่งกับคนส่วนใหญ่ในประเทศทั้งการแต่งกาย และการใช้สิ่งของจำลองอาวุธนานาชนิด เป็นการบ่งบอกว่า คนในพื้นที่ยังคงมีความคิดในการต่อสู้กับรัฐเพื่อให้ได้มาซึ่งเป้าหมายสุดท้ายที่ต้องการ โดยการบ่มเพาะความเห็นต่างอย่างต่อเนื่องจนสามารถสืบทอดการต่อสู้กับรัฐได้ยาวนานอย่างเหลือเชื่อ โดยเปลี่ยนเป็นเน้นการเตรียมความพร้อมในการต่อสู้ทางความคิดกับรัฐผ่านเวทีการพูดคุยสันติสุขที่กำลังขับเคลื่อนไปอย่างเข้มข้น หน่วยงานรัฐจึงควรตระหนักว่าการต่อสู้ในพื้นที่แห่งนี้ ยังไม่จบลงง่ายๆ อย่างที่คิด