หลายประเทศมียอดผู้ติดเชื้อโควิดรายใหม่อยู่ในช่วงขาขึ้นอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นสหรัฐอเมริกา หรือญี่ปุ่น ที่ป่วยทะลุหลักแสนคนต่อวัน
สำหรับสถานการณ์ของประเทศไทย ที่คาดว่าจะมีการติดเชื้อระลอกใหม่ นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ในระลอกปัจจุบันส่วนใหญ่ยังมีอาการน้อย จึงดูปัจจัยของเตียงไอซียู ผู้ป่วยที่ต้องใส่ท่อช่วยหายใจ ขณะนี้ตัวเลขยังไม่ได้เพิ่มขึ้นตามตัวเลขติดเชื้อใหม่ที่ไม่สามารถบอกได้ว่ามีจำนวนที่แท้จริงเท่าไร หลายคนไม่มีอาการ หรืออาการน้อยก็ไม่ได้ตรวจหาเชื้อ สาเหตุที่คนมีอาการน้อย เพราะได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันไปมากแล้ว เท่าที่ประเมินข้อมูลในขณะนี้ตัวเลขติดเชื้อไม่ได้พุ่งแบบก้าวกระโดด ค่อนข้างนิ่ง โดยปกติการประเมินสถานการณ์ในช่วง 2 สัปดาห์หลังเทศกาล ซึ่งช่วงนี้เป็นช่วงวันหยุดยาว ฉะนั้น เราจะดูว่าจะเกิดปัญหาอย่างไรหรือไม่ ก็ต้องวิเคราะห์สถานการณ์ในช่วงสิ้นเดือนกรกฎาคมนี้ แต่เราก็ยังต้องประเมินสถานการณ์รายวันเพื่อความไม่ประมาทด้วย
สำหรับมาตรการกักตัวผู้ติดเชื้อ โควิด-19 ณ ปัจจุบันยังใช้สูตร 7+3 อยู่คือกักตัวเอง 7 วัน หากไม่มีอาการแล้วสามารถออกมาใช้ชีวิตข้างนอกได้โดยป้องกันตัวเองสูงสุด ส่วนกรณีสูตร 5+5 นั้นมีการเห็นชอบแล้ว แต่ยังไม่ได้ผ่านการเสนอในที่ประชุมศูนย์บริหารสถานการณ์โรคโควิด-19 (ศบค.) ทั้งนี้ สาเหตุที่ยังต้องใช้สูตร 7+3 เนื่องจากบางคนติดเชื้อไม่มีอาการ ทำให้ไม่รู้ตัวแล้วแพร่เชื้อได้ กรณีผู้ติดเชื้อที่กักตัวครบ 7 วัน แล้วไม่มีอาการ สามารถออกมาใช้ชีวิตข้างนอกได้โดยป้องกันตัวเองสูงสุด แต่ถ้ายังมีอาการอยู่ก็ต้องกักตัวต่อไปจนครบ
อย่างไรก็ตาม จากสถานการณ์การแพร่ระบาด ทำให้บรรยากาศที่ศูนย์ฉีดวัคซีนกลางบางซื่อ ในช่วงวันหยุดยาว ที่ผ่านมา มีประชาชนจำนวนมากทยอยเดินทางเข้ามาฉีดวัคซีนโควิด-19 เข็มกระตุ้นตั้งแต่เข็มที่ 3 ขึ้นไป ทั้งชนิดไฟเซอร์ และโมเดอร์นา กันอย่างต่อเนื่อง
ส่วนกรณีที่ผู้ที่ฉัดวัคซีนแล้ว ยังติดเชื้อแล้วต้องฉัดวัคซีนอีกหรือไม่ เฟซบุ๊ก “Yong Poovorawan” หรือ ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้ความรู้เอาไว้ในเรื่องนี้ ที่จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องช่วยกันสื่อสารกันออกไปให้กว้างขวางมากที่สุด
โดยนพ.ยง โพสต์ข้อความในหัวข้อ "ฉีดวัคซีนแล้วติดเชื้อ ทำไมยังต้องฉีดวัคซีนอีก ระบุว่า “เป็นที่ทราบกันดีแล้วว่าโรคโควิด-19 เป็นแล้วเป็นอีกได้ และเช่นเดียวกัน ฉีดวัคซีนแล้วก็สามารถติดเชื้อได้ การฉีดวัคซีนหรือการติดเชื้อ จะช่วยป้องกันลดความรุนแรงของโรคได้
การฉีดวัคซีน ส่วนใหญ่จะกระตุ้นภูมิต้านทานจำเพาะ ต่อ B และ T เซลล์ ภูมิต้านทานต่อ B เซลล์ จะเป็นการสร้าง แอนติบอดี เพื่อป้องกันไม่ให้เชื้อมาจับกับเซลล์ และป้องกันการติดเชื้อ ภูมิที่สร้างขึ้นในระยะแรกจะมีระดับสูง เพียงพอต่อการป้องกันการติดเชื้อ และจะลดลงตามระยะเวลา ในขณะเดียวกัน ไวรัสก็มีการเปลี่ยนแปลงพันธุกรรม ทำให้ต้องใช้ระดับภูมิต้านทานที่สูงขึ้นอีก จึงไม่สามารถที่จะป้องกันการติดเชื้อได้ แต่เมื่อติดเชื้อแล้ว การหายของโรค รวมทั้งลดความรุนแรง ระบบ T เซลล์ จะเข้ามาช่วยจัดการ ให้หายได้เร็วขึ้น และระบบนี้ยังมีหน่วยความจำ ให้รู้จักหน้าตาของไวรัส เข้ามาเสริมสนับสนุนให้ B เซลล์ สร้างภูมิต้านทานได้เร็วขึ้นเมื่อมีการติดเชื้อจริง
ดังนั้น การฉีดวัคซีนจึงเปรียบเสมือน การฝึกทหารเกณฑ์ให้รู้จักข้าศึกหรือตัวไวรัส เมื่อเวลาผ่านไปหรือยามสงบ ก็ปลดเป็นกองหนุน และเมื่อมีข้าศึกหรือไวรัสเข้ามา ทหารที่ผ่านการฝึกแล้ว เคยเห็นหน้ารู้จักข้าศึกหรือไวรัส พร้อมที่จะต่อสู้ได้อย่างรวดเร็ว ไม่ต้องไปฝึกยุทธวิธีใหม่ และถ้าฝึกมานานแล้ว จำเป็นจะต้องให้วัคซีนกระตุ้นอีก เพื่อเอาทหารกองหนุนมาฝึกอีกครั้งหนึ่งให้ชำนาญยิ่งขึ้น และยามปกติก็จะปลดประจำการ และจำเป็นจะต้องมีการฝึกเป็นครั้งคราว หรือกระตุ้นด้วยวัคซีนเป็นครั้งคราว เผื่อเวลามีข้าศึกมา จะได้มีความชำนาญพร้อมที่จะต่อสู้ได้ทันที ทำให้อาการของโรคลดลง”
ดังนั้น การฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นยังคงจำเป็น ที่ต้องเดินไปพร้อมกับมาตรการป้องกันทางด้านสาธารณสุข เพื่อรับมือกับสงครามทีมองไม่เห็นวันสงบ