วันนี้เป็นวันแรกของศึกอภิปรายไม่ไว้วางใจ ที่หลายฝ่ายประเมินว่ารัฐบาลจะสามารถฝ่าด่านไปได้ แต่ก็คาดหวังว่าจะเกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองหลังศึกอภิปรายไม่ไว้วางใจ แต่ก็อาจไม่ถึงขั้นที่จะยุบสภาหรือลาออก

ขณะเดียวกันกลับมีความเคลื่อนไหวของการเมืองภายในพรรคแกนนำ คือพรรคพลังประชารัฐเองในการเคลื่อนไหวเพื่อให้มีการปรับคณะรัฐมนตรี แต่ทั้งงนี้ก็ต้องดูผลจากการอภิปรายว่าจะสั่นสะเทือนให้ถึงขั้นเปลี่ยนแปลงได้หรือไม่

ส่วนการยุบสภานั้น หากย้อนกลับไปอ่านมุมมองของ รศ.ดร.ยุทธพร อิสรชัย อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช ที่ให้สัมภาษณ์พิเศษผ่านรายการ "สยามรัฐสัปดาหวิจารณ์" ตอนหนึ่ง ระบุว่า “เราก็เห็นได้ว่าการยุบสภาฯนั้นมีโอกาสที่จะเป็นไปได้ โดยเฉพาะหลังการประชุมเอเปกที่จะเกิดขึ้นในช่วงปลายปีนี้ ทำไมถึงบอกว่าการประชุมเอเปกนั้นเป็นหมุดหมายที่สำคัญในทางการเมืองหลังจากนี้ เพราะว่ามีเหตุผลอยู่ สองสามประการด้วยกัน

ประการแรก การประชุมเอเปกนั้นครั้งนี้ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพ และเป็นประธานเอเปกด้วย เพราะฉะนั้นแน่นอนว่า รัฐบาลก็คงจะดึงสถานการณ์ไปจนถึงการประชุมในเดือน พ.ย.นี้ ส่วน ประการที่สอง ในช่วงเดือนกันยายนถึงตุลาคม ก็จะเป็นฤดูการแต่งตั้ง โยกย้าย ข้าราชการประจำเพราะฉะนั้นโอกาสที่เราจะเห็นการวางบรรดาบุคลากรในฝ่ายข้าราชการประจำ เพื่อที่จะเตรียมพร้อมรับกับยุทธศาสตร์ในการเลือกตั้ง จะเป็นทั้งฝ่ายทหารฝ่ายพลเรือนต่างๆ มีโอกาสที่จะเกิดขึ้นได้อยู่แล้ว ในช่วงเดือนกันยายน ก็คงจะเรียบร้อย จากนั้นเข้าสู่เดือนตุลาคม เป็นช่วงเดือนงบประมาณใหม่

ประการที่สาม หลังจากเดือนตุลาคมไป การขับเคลื่อนงบประมาณก็จะเกิดขึ้นในระยะเวลาหลังการประชุมเอเปก ก็จะเป็นการขับเคลื่อนงบประมาณไปแล้วสัก 2-3 เดือน ก็จะเริ่มเห็นภาพของผลงานต่างๆ ของ ส.ส.ในระดับพื้นที่ หรือแม้กระทั่งของกระทรวง ของรัฐบาล ของรัฐมนตรี หรือของพรรคการเมืองต่างๆเพราะฉะนั้นตรงนี้ก็เป็นอีกจุดหนึ่งที่จะทำให้เกิดเรื่องการวางฐานทางการเมือง

เราคงปฏิเสธไม่ได้ว่าเรื่องงบประมาณนั้นจะเกี่ยวข้องกับเรื่องของฐานคะแนนเสียงในพื้นที่ และด้วยสาเหตุสำคัญ สองสามประการตรงนี้ก็มีโอกาสที่จะทำให้เราได้เห็นว่าโอกาสจะมีการยุบสภาฯเกิดขึ้นก่อน มีความเป็นไปได้สูง

และที่สำคัญ การยุบสภาฯ จะทำให้เกิดความได้เปรียบในเชิงเทคนิคในหลายประการ อย่างเช่น ในเรื่องของระยะเวลาในการเลือกตั้ง จะถูกยืดเวลาออกไป ซึ่งปกติแล้วถ้ารัฐบาลอยู่จนครบวาระ จะมีการเลือกตั้งใหม่ภายใน 45 วัน แต่ถ้าเป็นกรณีของการยุบสภาฯนั้นจะขยายไปถึง 60 วัน เพราะฉะนั้นในระยะเวลา 45 ถึง 60 วัน หลายคนอาจจะบอกว่าไม่ได้นานมากต่างกันประมาณ 2 สัปดาห์ แต่สำหรับพรรคการเมือง และนักเลือกตั้ง ต้องบอกว่ามีความสำคัญอย่างยิ่งในทุกวินาทีในสนามเลือกตั้ง

และอีกประการหนึ่ง ก็คือว่าระยะเวลาในการย้ายพรรค ย้ายขั้ว ย้ายค่าย ก็จะย่อๆ ลงด้วย เพราะปกติถ้ารัฐบาลอยู่ครบวาระของสภาผู้แทนราษฎร ส.ส.จะต้องสังกัดพรรคการเมืองไม่น้อยกว่า 90 วันจึงจะมีคุณสมบัติในการลงสมัคร ส.ส. ได้

แต่หากเป็นการยุบสภาฯ จะใช้เวลาเข้าสังกัดพรรคเพียงแค่ 30 วัน เพราะฉะนั้นตรงนี้คือสิ่งที่จะทำให้เกิดความได้เปรียบในเรื่องเทคนิค ดังนั้นโอกาสที่จะมีการยุบสภาฯ หรือมีการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองที่เกิดขึ้นก่อนก็มีความเป็นไปได้สูง”

แต่แม้จะมีโอกาสเป็นไปได้ ก็ไม่ได้หมายความว่าการยุบสภาจะเกิดขึ้น ในทางตรงกันข้ามหากหลังการประชุมเอเปกผ่านพ้นไป กระสความนิยมของรัฐบาลกระเตื้องขึ้น โอกาสที่รัฐบาลจะอยู่ยาวจนครบเทอมก็มีความเป็นไปได้สูง