ทวี สุรฤทธิกุล
คนต่างจังหวัดพากันคาดหวังเหมือนคนกรุงเทพฯ ไม่ใช่เพียงแค่อยากมีผู้นำแบบชัชชาติ แต่ยังรวมถึงการปกครองท้องถิ่นแบบเต็มรูปแบบเหมือนที่มีในกรุงเทพฯนั้นด้วย
ผู้เขียนขอเรียกปรากฏการณ์นี้ว่า “ชัชชาติซินโดรม”
วันที่ 22 พฤษภาคม 2565 หากย้อนกลับไปเมื่อ 8 ปีก่อน ก็คือวันที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้ทำรัฐประหาร แต่เมื่อวันดังกล่าวในปีนี้คือวันที่มีการเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร จึงมีผู้นำไปเปรียบเทียบเชิงประชดประชันว่า นี่คือวันเปลี่ยนแปลงการปกครองอีกวันหนึ่ง ที่จะเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบเผด็จการของ คสช. โดยเปรียบว่าผู้ว่าฯชัชชาติคือสัญลักษณ์ของประชาธิปไตย คนกรุงเทพฯกว่า 1.3 ล้านคนที่เลือกนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ต้องการที่จะแสดงพลังว่า “ไม่เอาเผด็จการ” ด้วยการเทคะแนนให้กับนายชัชชาติเกินกว่าครึ่งหนึ่งของผู้ที่ไปใช้สิทธิ รวมถึงกระแสการเปรียบเทียบผู้นำที่ “ติดดิน” และเป็นมิตรกับประชาชนแบบนายชัชชาติ กับพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่มองว่าเป็นผู้นำแบบ “ห่างดิน” และอารมณ์เสียใส่ประชาชน
พลเอกประยุทธ์เองก็เหมือนจะรู้ตัวว่าเรตติ้งกำลังจมดิ่ง เพราะสองสามปีมานี้ความนิยมของพลเอกประยุทธ์ก็ดิ่งลงเรื่อย ๆ แล้วพอมาเจอกับกระแส “ชัชชาติฟีเวอร์” (ต่อมาได้กำเริบเติบโตขยายเป็น “ซินโดรม”) หลังการเลือกตั้งผู้ว่าฯเมื่อปลายเดือนพฤษภาคมนั้นด้วย ก็ยิ่งมีความนิยมลดต่ำลงไปอีก กระทั่งกำลังจะเป็นหายนะต่อพลเอกประยุทธ์ จนต้องมีการปรับพฤติกรรม(คุ้น ๆ ไหมว่าทหารคนไหนที่เคยคิดปรับทัศนคตินักการเมืองต่าง ๆ มาก่อน) ให้พลเอกประยุทธ์ยิ้มแย้มแจ่มใสมากขึ้น ออกสื่อมากขึ้น รวมถึงที่ลงพื้นที่พบปะประชาชนมากขึ้น ก็เพื่อจะต่อสู้กับโรค “ชัชชาติซินโดรม” นี่เอง
ทว่าผลกระทบที่รุนแรงกว่านั้นของ “ชัชชาติซินโดรม” นี้ น่าจะเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับ “โครงสร้าง” ทางการเมืองการปกครองของประเทศไทย นั่นก็คือชัยชนะของนายชัชชาติได้ส่งผลให้คนในจังหวัดอื่น ๆ อยากให้จังหวัดของพวกเขามีการเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัดด้วยเช่นกัน กระแสความต้องการของคนต่างจังหวัดที่ว่านี้ อาจจะมองไม่เห็นได้อย่างชัดเจนทางสื่อกระแสหลัก แต่ถ้าดูหรือฟังจาก “สื่อสมัยใหม่” ที่กำลังจะกลายเป็นสื่อหลักของสังคมยุคใหม่นี้ด้วยแล้ว ก็จะพบว่ากระแสความต้องการดังกล่าวนี้ “ดังกระหึ่ม” พอควร ซึ่งสิ่งนี้ก็คือความรู้สึกที่อยากจะเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางการเมืองการปกครองของประเทศ ที่ในยุคเผด็จการ คสช.นี้ได้กดหัวคนไทยให้อยู่ภายใต้อำนาจเผด็จการมากว่า 8 ปี โดยได้ใช้อำนาจเผด็จการนี้ต่อการปกครองท้องถิ่นมาโดยตลอด แม้ว่ารัฐบาลภายใต้การกำกับของ คสช.จะได้ให้มีการเลือกตั้งในระดับท้องถิ่น คือ อบต. และ อบจ.มาเป็นระยะ จนกระทั่งคนกรุงเทพฯได้เลือกตั้งผู้ว่าฯ คนในต่างจังหวัดจึงเกิดการเปรียบเทียบว่า รูปแบบ อบต.และ อบจ. รวมถึงเทศบาลนั้น ก็ยังดูไม่ได้เป็นการกระจายอำนาจอย่างแท้จริงเหมือนกันกับกรุงเทพมหานคร โดยเฉพาะผู้ว่าราชการจังหวัดในจังหวัดต่าง ๆ ยังเป็นข้าราชการที่ส่งมาจากส่วนกลาง จึงทำงานรับใช้ผู้มีอำนาจในส่วนกลาง มากกว่าที่จะทำงานให้กับประชาชน อย่างที่ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครได้กระทำให้กับคนกรุงเทพฯนั้น
อารมณ์ความรู้สึกเชิงเปรียบเทียบในเรื่องนี้ที่กำลังโหมกระพืออยู่ในโซเชียลมีเดีย อาจจะไม่ใช่สิ่งที่รัฐบาลภายใต้เสื้อคลุมเผด็จการคณะนี้เป็นกังวล แต่มันก็มีนัยสำคัญในทางทฤษฎีรัฐศาสตร์ และควรที่ผู้คนที่สนใจเรื่องอนาคตของบ้านเมืองควรจะให้ความสำคัญ
ประการแรก แนวคิดเรื่องผู้ว่าราชการจังหวัดที่มาจากการเลือกตั้งนี้มีมานานเกินกว่าครึ่งศตวรรษอย่างแน่นอน เท่าที่ผู้เขียนจำได้ก็คือในช่วงที่มีการต่อต้านรัฐบาลของจอมพลถนอม กิตติขจร จนกระทั่งได้เกิดเหตุการณ์วันมหาวิปโยค 14 ตุลาคม 2516 การกระจายอำนาจให้กับท้องถิ่นได้เป็นประเด็นหนึ่งในการรณรงค์ให้มีการโค่นล้มรัฐบาลเผด็จการในยุคนั้น แล้วพอผู้เขียนเข้ามาเรียนที่คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในปี 2519 ก็ได้รับรู้จากในห้องเรียนนั้นว่า ประเทศไทยต้องมีการกระจายอำนาจ สิ่งหนึ่งก็คือการเลือกตั้งผู้บริหารท้องถิ่น อย่างเช่นผู้ว่าราชการจังหวัดควรจะมาจากการเลือกตั้งโดยประชาชน เพราะหากทำได้ ประเทศไทยก็จะหมดสิ้นความเป็นเผด็จการจากระบบราชการนั้นได้ด้วย
ประการต่อมา มาถึงวันนี้ความต้องการที่คนในต่างจังหวัดอยากจะได้ผู้ว่าราชการที่มาจากการเลือกตั้งก็ยิ่งมากขึ้นเรื่อย ๆ หากไม่นำเรื่องที่นายชัชชาติได้เป็นผู้ว่าฯของกรุงเทพฯมารวมด้วยแล้ว การรณรงค์เรื่องผู้ว่าราชการจังหวัดที่มาจากการเลือกตั้งก็ยังมีแนวคิดเหมือนเมื่อ 50 ปีก่อนนั้น แต่ว่าได้พัฒนาขึ้นจากที่เคยเป็นแค่แนวคิดในหมู่นักศึกษาและปัญญาชนในช่วงเวลานั้น มาเป็นแนวคิดของพรรคการเมืองที่เป็นคู่แข่งทางการเมืองระหว่างกันและกันในปัจจุบัน การต่อสู้จึงจะน่าจะหนักหน่วงและเอาเป็นเอาตายกันมากขึ้น โดยคาดการณ์ว่าในการเลือกตั้งครั้งที่จะมาถึงนี้ นโยบายเกี่ยวกับการเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัด จะกลายเป็นนโยบายที่ฝ่ายประชาธิปไตยนำมาต่อสู้กับฝ่ายเผด็จการ และถ้าหากว่าฝ่ายประชาธิปไตยชนะการเลือกตั้งในหลาย ๆ จังหวัด เรื่องนี้ก็อาจจะนำมาสู่การเสนอทำเป็นกฎหมายเข้าสู่สภา ด้วยเป็นเรื่องที่ “ขายได้” กับประชาชนที่กำลังรู้สึกต่อต้านเผด็จการรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ โดยเฉพาะในหมู่เยาวชนและคนรุ่นใหม่
อีกประการหนึ่ง การเมืองในส่วนท้องถิ่นก็มีความสำคัญและความเข้มข้นขึ้นด้วยตัวมันเอง เพราะทุกวันนี้นักการเมืองในระดับชาติต้องอาศัยนักการเมืองในท้องถิ่นเป็นอย่างมาก ทั้งที่ให้นักการเมืองท้อวงถิ่นเป็นฐานคะแนนเพื่อเอาชนะในการเลือกตั้ง และเมื่อเลือกตั้งได้เข้ามาเป็น ส.ส.แล้ว ก็ต้อง “ไหว้วาน” นักการเมืองท้องถิ่นเหล่านั้นให้ช่วยรักษาฐานเสียงหรือรักษาความนิยมให้อยู่กับตัวนักการเมืองในระดับชาตินั้นไปนาน ๆ อีกด้วย ดังนั้นการเลือกตั้งที่ผ่านในช่วงหลายปีนี้ จึงเป็นเรื่องที่ “น้ำพึ่งเรือ เสือพึ่งป่า” คือนักการเมืองทั้งในระดับชาติและในระดับท้องถิ่นนั้นต้องพึ่งพาอาศัยกัน ถึงขนาดที่ “ขาดกันและกันไม่ได้” อย่างที่เรียกว่า “แฝดสยาม” นั่นเลยทีเดียว ทั้งนี้หากมีการเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัดในแต่ละจังหวัดขึ้นได้จริง ๆ พรรคการเมืองต่าง ๆ ที่มีผู้ว่าราชการจังหวัดมาเป็นพรรคพวก ก็อาจจะ “คุม” นักการเมืองไว้ในมือได้ในทุกระดับ และถ้าหากมีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นคนของตนมาก ๆ แล้ว นักการเมืองในระดับชาติคนนั้นก็จะเป็นผู้ที่มีอำนาจมากที่สุดในประเทศอีกด้วย โดยไม่ต้องพึ่งพิงกองทัพหรือระบบราชการเช่นแต่ก่อน
นี่แหละ “ชัชชาติซินโดรม” หรือ “ระบาด” ที่ไม่ใช่แค่อาการจับไข้หรือ “ฟีเวอร์” เช่นแต่ก่อนนั้น