รศ.ดร.สุขุม เฉลยทรัพย์

สวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยสวนดุสิต

ณ วันนี้ เมื่อเอ่ยคำว่า “Care” หรือ “ใส่ใจ” เราคงนึกถึง...โลก สิ่งแวดล้อม สุขภาพ อาหาร การศึกษา การบริการ เด็ก ผู้หญิง ผู้สูงอายุ ผู้ป่วย ผู้พิการ ผู้ด้อยโอกาสอื่น ๆ เช่น คนจน คนผิวสี ...

...และถ้าเติมคำว่า “Economy” ต่อท้ายเข้าไปเป็น “Care Economy” ก็จะทำให้นึกถึงการพัฒนาเศรษฐกิจที่ต้อง
ใส่ใจและคำนึงถึงโลกและสิ่งแวดล้อม ไม่ทำลายโลกและคน กล่าวง่าย ๆ คือเป็นการพัฒนาแบบยั่งยืน (Sustainable development) มีความรับผิดชอบต่อสังคม สิ่งแวดล้อมหรือระบบนิเวศ รวมถึงส่งเสริมความเสมอภาคหรือความเท่าเทียม

Dr. Nancy Folbre (2011) นักเศรษฐศาสตร์ประจำมหาวิทยาลัยแมสซาชูเซตส์ อธิบายคำว่า “Care Economy” หรือ “เศรษฐกิจใส่ใจ” ว่าเป็น ‘สถานที่ผลิต พัฒนา และบำรุงรักษาความสามารถของมนุษย์’ (The site of production, development and maintenance of human capabilities) ซึ่งมีกระบวนการที่แตกต่างจากการผลิตสินค้าหรือบริการทั่วไปตรงที่เศรษฐกิจใส่ใจเป็นกิจกรรมที่เกิดขึ้นนอกตลาดแต่ใช้ทรัพยากรเวลาและเงินมาก เช่น การดูแลสมาชิกในครอบครัวที่เป็นเด็ก ผู้สูงอายุ ผู้ป่วย หรือผู้พิการโดยคนในครอบครัวหรือชุมชน

อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจใส่ใจไม่ได้จำกัดเฉพาะครอบครัวและชุมชน  แต่ครอบคลุมการให้บริการด้านสุขภาพ การศึกษา และบริการสังคม (Health, education and social services) ที่ดำเนินการโดยภาคเอกชน ภาครัฐ และเป็นการผนึกกำลังการทำงานร่วมกันระหว่างผู้ที่ได้รับค่าจ้างกับผู้ที่ไม่ได้รับค่าจ้าง เช่น ครูกับพ่อแม่ผู้ปกครองช่วยกันให้ความรู้กับเด็ก แพทย์และพยาบาลจับมือกับคนในครอบครัวช่วยกันดูแลสุขภาพคนเจ็บป่วยหรือคนสูงอายุที่อ่อนแอ เป็นต้น นอกจากนี้ ประเด็นที่ “เศรษฐกิจใส่ใจ” ให้ความสนใจมากเป็นพิเศษคือ ความเหลื่อมล้ำของผู้หญิงที่ทำงานอยู่ภายใต้เศรษฐกิจใส่ใจที่ไม่ได้รับค่าจ้างกับที่ได้รับค่าจ้าง หรือถ้าได้รับค่าจ้างก็น้อยกว่าผู้ชาย

ด้าน TDRI หรือสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย มองว่าเศรษฐกิจใส่ใจเกี่ยวข้องกับการผลิตสินค้าหรือบริการที่เน้นการดูแลร่างกาย อารมณ์ และความต้องการพัฒนาของคน ซึ่งครอบคลุมการดูแลผู้สูงอายุ ผู้ป่วย พัฒนาและดูแลเด็ก รวมถึงการแนะแนวอาชีพ การบันเทิงเพื่อสร้างสัมพันธ์ มัคคุเทศก์ และการดูแลสัตว์เลี้ยง

การลงทุนกับเศรษฐกิจใส่ใจ...หลังโควิด-19...ช่วยสร้างงานและลดความไม่เท่าเทียมระหว่างเพศ...

ปัจจุบันนโยบายเศรษฐกิจใส่ใจมีความเหลื่อมล้ำกระจายอยู่ทั่วโลก ส่งผลให้ประชากรหลายร้อยล้านคนเข้าไม่ถึงสินค้าและบริการของเศรษฐกิจใส่ใจ ถ้าหากสามารถจัดการกับความเหลื่อมล้ำนี้ได้ จะทำให้ภายในปี 2035 (2578) ภาคธุรกิจแคร์
มีการว่าจ้างงานเพิ่มขึ้นเกือบ 300 ล้านงานทั่วโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งการสร้างงานให้กับผู้หญิงถึง 78 เปอร์เซ็นต์ และการจ้างงานอย่างเป็นทางการถึง 84 เปอร์เซ็นต์

สมาพันธ์สหภาพแรงงานระหว่างประเทศ (International Trade Union Confederation – ITUC) รายงานล่าสุดว่าการลงทุนในอุตสาหกรรมใส่ใจ (Caring industries) จำนวน 2 เปอร์เซ็นต์ของจีดีพี สามารถสร้างงานในประเทศอิตาลี
1 ล้านงาน สหราชอาณาจักร 1.5 ล้านงาน เยอรนี 2 ล้านงาน และสหรัฐอเมริกา 13 ล้านงาน นอกจากนี้ จะทำให้เศรษฐกิจขยายตัวไปในทิศทางที่ดีและมูลค่าหนี้ลดลง

ปี 2021 (2564) สหรัฐอเมริกาหันมาลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานของเศรษฐกิจใส่ใจคิดเป็นมูลค่า 4 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ ผ่านทาง American Jobs Plan ซึ่งคาดว่าจะทำให้แรงงานภาคธุรกิจแคร์มีค่าจ้างและสวัสดิการที่ดีขึ้น และสามารถขยายบริการการดูแลผู้สูงอายุและผู้พิการไปตามบ้านและชุมชนได้ดีขึ้นด้วย

ส่งท้ายกับเศรษฐกิจใส่ใจ...โอกาสของสถาบันอุดมศึกษา...

เศรษฐกิจใส่ใจมีความเชื่อมโยงกับเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน (Sustainable Development Goals – SDGs) ที่กำหนดโดยองค์การสหประชาชาติหลายข้อ เช่น ขจัดความยากจน ส่งเสริมการมีสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี ส่งเสริมการเรียนรู้อย่างทั่วถึง สร้างความเท่าเทียมทางเพศ จ้างงานที่มีคุณค่าและการเติบโตทางเศรษฐกิจ เป็นต้น ดังนั้น สถาบันอุดมศึกษาซึ่งมีหน้าที่หลักอย่างหนึ่งคือ การผลิตบัณฑิตออกไปรับใช้สังคมต้องไม่มองข้ามว่าเศรษฐกิจใส่ใจเป็นโอกาสที่ท้าทายของการสร้างหลักสูตรใหม่และปรับหลักสูตรเก่าให้ทันสมัยตอบสนองความต้องการผู้เรียน ชุมชน และสังคม เพื่อสร้างมูลค่าและคุณค่าในระยะยาว...