ทีมข่าวคิดลึก บรรดานักการเมืองต่างพากัน "จับสัญญาณ" ไปพร้อมกับ "ตีความ" สิ่งที่"วิษณุ เครืองาม" รองนายกรัฐมนตรีในฐานะ "มือกฎหมายรัฐบาล" เพิ่งออกมาให้สัมภาษณ์ผ่านสื่อเมื่อปลายสัปดาห์ก่อนว่าแท้จริงแล้วนี่คือ "สัญญาณ"ที่กำลังสั่งให้พรรคการเมืองทั้งหลาย"ยอมยกธง" ก่อนถึงวันลงสนามเลือกตั้งใช่หรือไม่ ? แม้จะมีข้อเท็จจริงว่ารัฐบาลและคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)ซึ่งมี "บิ๊กตู่" พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชานายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช.นั่งกุมบังเหียน จะมีอำนาจจนกว่าจะมี"รัฐบาลใหม่" หลังการเลือกตั้งได้ตามร่างรัฐธรรมนูญใหม่ระบุเอาไว้ก็ตามทว่าเมื่อพิจารณาตามในสิ่งที่วิษณุได้บอกเอาไว้ว่า หากเลือกตั้งเสร็จสิ้นไปแล้วยังไม่สามารถหานายกฯได้ หัวหน้าคสช. ก็มีอำนาจใช้ "มาตรา44"สั่งให้"ยุบสภา" แล้วให้มีการเลือกตั้งกันใหม่นั่นหมายความว่า หากพรรคการเมือง นักการเมืองไม่อยากให้เกิดสถานการณ์ยุ่งยาก เพราะสืบเนื่องมาจากการที่ไม่สามารถ "ตกลง" กันได้ว่า "นายกฯตามบัญชีพรรคการเมือง" ควรจะเป็นของพรรคใด ก็ต้องเตรียมตัวรับกับโอกาสที่จะถูกล้มกระดาน ด้วยการยุบสภาแล้ว ไปเลือกตั้งกันใหม่ ดังนั้นพรรคการเมืองต่างๆควรที่จะ "หย่าศึก" ยุติความขัดแย้งต่อกันเอาไว้ก่อน หากไม่ต้องการ "เปิดทาง" ให้มี "นายกฯคนนอก" ซึ่งจะทำให้ คสช.อาจเป็นฝ่ายกุมความได้เปรียบหลังการเลือกตั้งอีกครั้ง แต่การที่พรรคการเมืองจะจับมือกัน เพื่อ "สกัด" ไม่ให้เกิดนายกฯคนนอกนั้นอย่าลืมต้องใช้เสียง ส.ส.ทั้งสภาผู้แทนราษฎรถึง 375 เสียงจากทั้งหมด 500 คน ซึ่งดูจะเป็นเรื่องยาก เพราะอย่าลืมว่า ทั้ง "เพื่อไทย" และ "ประชาธิปัตย์"ในฐานะสองพรรคใหญ่จะยินยอมให้อีกฝ่ายหยิบชิ้นปลามันคว้าเก้าอี้"นายกฯคนที่ 30" ไปครอบครองอย่างนั้นหรือ? โดยเฉพาะพรรคเพื่อไทยเอง ที่วันนี้ได้ออกมาวิพากษ์วิจารณ์สิ่งที่วิษณุรองนายกฯชี้ช่องเรื่องการใช้ มาตรา 44 เพื่อยุบสภากันอย่างดุเดือด เพราะไม่เชื่อว่าหลังการเลือกตั้งปลายปี 2560 พรรคการเมืองจะเลือกนายกฯ จากบัญชีพรรคการเมืองกันไม่ได้ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะพรรคเพื่อไทยเองบางส่วนยังเชื่อว่าขอเพียงโอกาสเลือกตั้งครั้งใหม่มาถึง ประชาชนก็จะกลับมาเลือกพรรคเพื่อไทย ของ "ทักษิณ ชินวัตร" อดีตนายกฯอีกเช่นเคย แม้อาจจะสามารถเอาชนะแบบถล่มทลายเหมือนในอดีตแต่โอกาสที่จะเป็นพรรคอันดับหนึ่งนั้นก็ถือว่า "มีลุ้น"อย่างไรก็ดีสัญญาณที่ส่งมาจากมือกฎหมาย อย่างวิษณุ ครั้งนี้แม้ทางหนึ่งอาจจะสร้างความกดดันต่อพรรคการเมืองที่เตรียมตัวลงสนามเลือกตั้งพลันเกิดความหวั่นไหวแล้ว ยังต้องไม่ลืมว่าล่าสุด คสช.เองได้เตรียม "ปรับทัพ" เพื่อวางแผน "เล่นเกมยาว" ผ่านกลไกแม่น้ำแต่ละสายอย่างชัดเจน ด้วยการส่ง "บิ๊กทหาร" ผ่านกระบวนการแต่งตั้ง "30 สนช." เพิ่มเติมหลังจากที่มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2557 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 3) พ.ศ.2559 เพิ่มจำนวนสมาชิก สภานิติบัญญัติแห่งชาติจากเดิม 220 เป็น 250 คน ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 2 ก.ย.ที่ผ่านมา ทั้งนี้ภารกิจของ สนช.ใหม่ อีก 30 คนที่จะเข้ามาเสริมทัพกับสนช.ที่มีอยู่นั้นก็เพื่อสะสางกฎหมายที่ยังอยู่ในการพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) กว่า 100 ฉบับ เนื่องจากวาระของ สนช.จะเหลืออยู่แค่ราวหนึ่งปีเศษ โดยเฉพาะการเร่งพิจารณาร่างกฎหมายที่เกี่ยวกับการปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ ซึ่งมีอยู่ประมาณ 30 ฉบับ ล้วนแล้วแต่เป็นกฎหมายที่จะมีผลผูกพันและบังคับใช้ในวันข้างหน้าต่อรัฐบาลใหม่ทั้งสิ้น อีกทั้งยังจะกลายเป็น "ดาบ" ที่สามารถใช้ฟาดฟันนักการเมือง ข้าราชการไปจนถึงคนในรัฐบาลใหม่ที่กระทำทุจริตได้อย่างชัดเจน ฉะนั้นไม่ว่าจะหันมองไปทิศทางไหน สำหรับพรรคการเมืองแล้ว ดูเหมือนว่าจะมองหา "ทางชนะ" ได้ยากเต็มทีเหมือนจะ "แพ้" ตั้งแต่ยังไม่เริ่ม "ลงแข่ง" เสียด้วยซ้ำ !