ตะเกียงเจ้าพายุ / ทวี สุรฤทธิกุล

ถ้าสื่อต่าง ๆ ในอนาคตกลายเป็น “สื่อกลุ่มคน” มากกว่า “สื่อมวลชน” หนังสือพิมพ์ต้องปรับตัวอย่างไร ?

เมื่อสักสิบกว่าปีก่อน เราอาจจะสังเกตเห็นว่าหนังสือพิมพ์บางฉบับนั้น “เลือกข้าง” แล้วก็วิเคราะห์กันว่าเป็นเพราะมีนายทุนกลุ่มโน้นกลุ่มนี้ที่รวมถึงนักการเมือง เข้าไปเป็นหุ้นส่วน ส่งคนเข้าไปบริหาร จนถึงเข้าเทกโอเวอร์สื่อกลุ่มนั้นทั้งหมด แต่ถ้าเราสังเกตให้ดีเพราะในยุคนั้นโซเชียลมีเดียต่าง ๆ ก็มีคนใช้กันอย่างแพร่หลายแล้ว โดยเฉพาะเฟซบุ๊กและไลน์ พวกคนที่ทำสื่อก็คงจะจับกระแสเทคโนโลยีได้แล้วว่า หนังสือพิมพ์ รวมทั้งสื่อแบบเก่า จำพวกวิทยุและโทรทัศน์นั้นคงจะอยู่ไม่ได้ จำเป็นจะต้องปรับตัว ด้วยการลงไปเล่นกับ “กลุ่มคน” ซึ่งหมายถึงกลุ่มคนในเฟซและไลน์ทั้งหลายนั้น ทำให้สื่อเก่าทั้งหลายได้ทำลายตัวเองไปด้วยไปในตัว คือทิ้งความเป็นสื่อมวลชนกลายเป็นสื่อกลุ่มคนนั่นเอง

มาถึงวันนี้ก็ค่อนข้างแน่นอนแล้วว่า พวกสื่อเก่ากำลังจะสูญพันธุ์ไปจากวงการการสื่อสารนี้แล้ว ที่ยังอยู่ได้ก็เพราะได้ใช้สื่อสมัยใหม่มาเป็นแกนหลัก คือระบบออนไลน์และโซเชียลมีเดียต่าง ๆ ซึ่งก็ทำให้สื่อต่าง ๆ ไม่ได้เป็น “ยักษ์ใหญ่” แบบที่เคยเป็นในอดีต เพราะต้องไปอาศัย “ร่าง” ของคนอื่น อย่างที่เรียกกันว่า “แพลตฟอร์ม” หรือเทคโนโลยีที่มีผู้ทำขาย การที่จะเป็นยักษ์ใหญ่ในลักษณะเดิมก็จำต้องอาศัยการสร้างกลุ่มคนขึ้นมาให้เป็น “ติ่ง” หรือแฟนคลับของสื่อนั้น ซึ่งก็จะยิ่งทำให้ความเป็น “สื่อกลุ่มคน” ของสื่อต่าง ๆ นั้นมีความชัดเจนมากขึ้น ในขณะที่จะไม่หลงเหลือความเป็น “สื่อมวลชน” อีกต่อไป

ดังที่ผู้เขียนได้เขียนมาใน 2 ตอนก่อน “สื่อกลุ่มคน” ก็คือการมารวมกันของคนแต่ละคนที่เรียกว่า “ปัจเจก” ซึ่งมีลักษณะของกลุ่มที่มีความสนใจเป็นการเฉพาะ และส่วนมากมักจะเป็นกลุ่มปิด คือต้องเป็นสมาชิกหรือลงทะเบียนเข้าไปร่วมกิจกรรม ลักษณะของกลุ่มในแบบนี้ก็ยิ่งจะทำให้ “ผู้ผลิตสื่อ” (ผู้เขียนขอที่จะไม่เรียกผู้ทำสื่อแบบเก่าว่า “สื่อมวลชน” แต่น่าจะต้องเรียกว่า “คนทำเนื้อหาสื่อ” หรือ “Media Content Producer” หรือเรียกให้สั้นลงอีกนิดว่า “ผู้ผลิตสื่อ” นั้นมากกว่าในยุคปัจจุบันนี้) เข้าถึงหรือนำสื่อไปขายให้กับผู้บริโภคแต่ละกลุ่มนั้นได้ยาก เราจึงได้เห็นอดีตสื่อมวลชนที่ต้องต่อสู้เพื่อความอยู่รอดนั้น กระจายช่องทางสื่อไปในเทคโนโลยีหรือแพลตฟอร์มที่หลากหลายให้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ แต่กระนั้นก็เป็นความยากลำบากที่จะ “จับตลาด” หรืออย่างที่ผู้เขียนใช้คำว่า “จับอารมณ์” ของผู้บริโภคสื่อนั้นได้ ทำให้การทำธุรกิจสื่อในโลกสมัยใหม่นี้ยิ่งมีความยากลำบาก และเสี่ยงต่อการล้มหายตายจากมากขึ้นเรื่อย ๆ

เนื่องจากบทความนี้เขียนขึ้นเนื่องในโอกาสก้าวขึ้นสู่ปีที่ 73 ปีของหนังสือพิมพ์สยามรัฐ ก็ย่อมอยากจะให้หนังสือพิมพ์สยามรัฐก้าวต่อไปอีกหลาย ๆ ปี หรือพูดแบบอุดมคติก็คือ “เท่าที่ความอยากรู้อยากเห็นของผู้คนยังไม่หมดสิ้น” หรือพูดแบบมองความจริงก็คือ “อยู่ให้นานที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้” ซึ่งก็ต้องมาพิจารณาว่า “อะไรคือความเป็นไปได้” ที่น่าจะมีองค์ประกอบ 2-3 อย่าง คือ

หนึ่ง ความสนใจในเชิงข่าวสารของผู้คนเหมาะกับการทำธุรกิจที่เรียกว่า “สื่อสารมวลชน” นั้นต่อไปอีกหรือไม่ ซึ่งผู้เขียนเห็นว่าความสนใจนั้นยังมีอยู่มาก และสามารถจับต้องได้ด้วยการวัดเรตติ้งการเสพสื่อของผู้คนผ่านโซเชียลมีเดียต่าง ๆ โดยผู้ผลิตสื่อในด้านสื่อสารมวลชนนี้ จะต้องไม่ไปทำหน้าที่ซ้ำซ้อนกับผู้ผลิตสื่อผ่านกลุ่มคนที่เป็นปัจเจกเหล่านั้น แต่ต้องวางบทบาท “ให้เหนือกว่า” ด้วยการเป็นผู้วิเคราะห์วิจารณ์ที่น่าเชื่อถือ ไม่ทำข่าวในเชิงตามกระแสหรือ “นินทากาเล” ต้องเชื่อถือได้ มีหลักฐาน มีแหล่งข่าว และกล้ารับผิดชอบ ที่จะให้ผู้บริโภคข่าวมีความมั่นใจ เปิดใจกว้างที่จะมาเชื่อสื่อแบบนี้ แทนที่ที่จะงมงายอยู่กับสื่อเฉพาะกลุ่มของตนนั้น ด้วยเหตุนี้สื่อมวลชนในสมัยใหม่อาจจะต้องมีผู้สื่อข่าวที่เป็นผู้เชี่ยวชาญอยู่ในกลุ่มอาชีพต่าง ๆ มากขึ้น รวมถึงนักวิเคราะห์วิจารณ์ที่ “มีชื่อ” หรืออย่างที่เรียกว่า “เซเลบ” นั้นให้มากขึ้น แต่ก็ต้องเป็นเซเลบที่มีวิจารณญาณของสื่อมวลชน ไม่ใช่เข้ามาเพื่อเอาเด่นเอาดัง หรือ “หิวแสง” อย่างที่เห็นอยู่ในทุกวันนี้

สอง ปรากฏการณ์ที่มีผู้ใช้โซเชียลมีเดียผลิตและถ่ายทอดข่าวสารต่าง ๆ เป็นจำนวนมากขึ้นอย่างมโหฬารในทุกวันนี้ แสดงให้เห็นสิ่งหนึ่งในตัวของผู้คนในยุคนี้ว่า ต้องการแสดง “ตัวตน” ของแต่ละคนมากขึ้น โดยเฉพาะการแสดงความคิดเห็นหรือปฏิกิริยาต่าง ๆ ต่อข่าวสาร ดังนั้นสื่อมวลชนในยุคดิจิทัลจำเป็นจะต้องมีการสื่อสารกับผู้คนเหล่านี้อย่างเข้มข้น นั่นก็คือในแต่ละหน้าข่าว(ไม่ทราบว่าใช้ภาษาถูกหรือไม่ เพราะไม่ได้เป็นนักวิชาการด้านสื่อมวลชน แต่เคยได้ยินคำว่า “โต๊ะข่าว” ซึ่งผู้เขียนก็หมายถึงเช่นนั้น)หรือแต่ละคอลัมน์ของสื่อ จะต้องมี “ผู้ดูแลผู้บริโภคสื่อ” หรือในภาษาโซเชียลมีเดียเรียกว่า “แอดมิน” ให้มากขึ้น จนอาจจะต้องมีอยู่ทุกหน้าข่าวหรือคอลัมน์นั้น เพื่อที่จะได้คอยกระตุ้นผู้อ่านได้มีส่วนร่วมอยู่โดยตลอด พร้อมกับที่จะต้องมีกิจกรรมเสริมอื่น ๆ ให้เหมาะสมกับข่าวนั้น เพื่อสร้างผู้อ่านที่ยั่งยืน ทั้งนี้ถ้าจะให้ประหยัดก็อาจจะต้องให้ผู้อ่านบางคนหรือหลาย ๆ คน มาเป็นแอดมินหรือผู้ประสานงานกลุ่ม เพื่อให้หน้าข่าวสารนั้นคึกคัก และ “ขายได้” อยู่เสมอ โดยที่เจ้าของสื่อจะต้องคอยเฝ้าดูและบริหารให้อยู่ในแนวทางที่ต้องการ อย่างน้อยก็ไม่ให้เสียหายกับสังคมส่วนรวม

สาม ความยากลำบากอย่างหนึ่งของผู้ผลิตสื่อ ในโลกที่ผู้บริโภคสื่อมีความหลากหลายเพราะกระจายกันอยู่หลายกลุ่ม และส่วนมากก็เกิดตามกระแส  พอกระแสจบแล้วก็สลายกลุ่มไป ทำให้ผู้ผลิตสื่อที่ต้องอาศัยผู้อ่านที่เป็นกลุ่มก้อน “อยู่ได้ยาก” ตรงนี้ก็อาจจะต้องเป็นหน้าที่ของนักการตลาดด้านสื่อสารมวลชน ที่จะต้องศึกษาวิจัยหารูปแบบและวิธีการ ที่จะทำให้ “ได้เงิน” จากผู้คนในยุคดิจิทัลนี้ อย่างเพียงพอที่จะหล่อเลี้ยงธุรกิจให้เติบโตต่อไปได้ เพราะผู้เขียนกับผู้คนที่เชื่อในความจำเป็นในการที่จะต้องมีสื่อมวลชน มองว่าถ้าโลกนี้ขาดสื่อมวลชนแล้ว โลกนี้ก็จะอยู่ยาก ผู้คนจะไม่เชื่อถือกันและกัน แล้วก็อาจจะนำมาซึ่ง “หายนะ” จนถึงขั้นที่ผู้คนอยู่ด้วยกันไม่ได้ เพราะหน้าที่ในการสร้างความเชื่อถือนั้นคือหน้าที่ของสื่อมวลชนมาทุกยุคทุกสมัย และจำเป็นที่จะต้องทำหน้าที่นั้นต่อไป ตราบที่โลกนี้ยังมี “มนุษย์”

คงไม่ต้องบอกว่าสยามรัฐควรที่ “ชม” หรือ “ข่ม” ใคร เพราะถ้าเป็นไปตามทฤษฎี(ความเชื่อของผู้เขียน)ที่กล่าวมาทั้งหมดนั้น สยามรัฐแม้ไม่ได้เป็นสื่อแผ่นกระดาษดังแต่ก่อน แต่เมื่อมาเป็นสื่อดิจิทัลก็ย่อมต้องทำหน้าที่ตามปณิธานของสยามรัฐนั้นต่อไป คือเป็น “แกนหลักในด้านความคิดเห็นและความน่าเชื่อถือ” อย่างที่เป็นมาโดยตลอดเมื่อ 72 ปีนั้น

อีก 100 ปีถ้าสยามรัฐยังอยู่ อาจจะมีหน้าที่แค่ “ชม” ผู้คนต่าง ๆ เพียงอย่างเดียว เพราะสื่อมวลชนที่ทำหน้าที่ได้ดีอย่างสยามรัฐ ได้ช่วยกันสร้างสังคมที่ดี จนมีแต่คนดี ๆ ที่ควรค่าแก่การชมไปทุกคนทั่วโลก