วันที่ 2 กรกฎาคม 2565 ที่ผ่านมา เป็นวันครบรอบ 25 ปี เหตุการณ์สำคัญที่รัฐบาลพล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ ประกาศปรับเปลี่ยนระบบอัตราแลกเปลี่ยน จากระบบตะกร้าเงินมาเป็นระบบอัตราแลกเปลี่ยนลอยตัวแบบกึ่งจัดการ หลังธนาคารแห่งประเทศไทย ใช้เงินทุนสำรองระหว่างประเทศไปจำนวนมหาศาล ในการต่อสู้การโจมตีค่าเงินจากนักเก็งกำไรระดับโลก  ส่งผลให้ค่าเงินบาทลดลงอย่างมากและเป็นชนวนนำไปสู่วิกฤติเศรษฐกิจเอเชีย หรือ “วิกฤติต้มยำกุ้ง”

ผ่านมา  25 ปี ประเทศไทยกำลังอยู่ในช่วงของการฟื้นฟูเยียวยาเศรษฐกิจจากวิกฤติการแพร่ระบาดของเชื่อไวรัสโควิด-19 ที่หนักหนาสาหัส ทำให้มีการหยิบยกนำบทเรียนวิกฤติต้มยำกุ้งมาเปรียบเทียบกับวิกฤติในปัจจุบัน

อย่างไรก็ตาม ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่าปัญหาของเศรษฐกิจไทยในปัจจุบันจะไม่เหมือนกับในปี 2540 และไทยได้มีการเรียนรู้และปรับมาตรการและกฎเกณฑ์มาป้องกันการซ้ำรอย จนทำให้มีความเข้มแข็งมากขึ้นในหลายๆ ด้าน เช่น ระดับทุนสำรองระหว่างประเทศ สถานะของสถาบันการเงิน และไม่มีภาวะเก็งกำไรในวงกว้างแบบในปี 2540

โดยจุดที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างเห็นได้ชัดเจนคือ ทุนสำรองระหว่างประเทศที่สูงและแข็งแกร่งกว่าในอดีตมาก โดยระดับเงินสำรองระหว่างประเทศสุทธิ (เงินสำรอง และ Net Forward Position) ของไทยในปัจจุบันอยู่ที่ประมาณ 2.51 แสนล้านบาท ณ 24 มิถุนายน2565 ซึ่งสามารถรองรับภาระหนี้ต่างประเทศระยะสั้น การนำเข้า 3 เดือน และหนุนหลังการพิมพ์ธนบัตรได้เต็มจำนวน ขณะที่สัดส่วนหนี้ต่างประเทศลดลงมาอยู่ที่ระดับ 38.2% ต่อจีดีพี ณ สิ้นปี 2564 นอกจากนี้ ทางการได้เข้ามาดูแลการเก็งกำไรในตลาดอสังหาริมทรัพย์เป็นระยะผ่านมาตรการ เช่น การกำหนดเกณฑ์ LTV ทำให้คลายกังวลต่อปัญหาดังกล่าวลงบางส่วน ซึ่งภาพเหล่านี้สะท้อนการเรียนรู้บทเรียนจากอดีตและการวางแนวทางเพื่อไม่ให้ไทยซ้ำรอยเดิม

อย่างไรก็ดี คงต้องยอมรับว่าสถานการณ์เศรษฐกิจไทยในปัจจุบันมีโจทย์จากปัจจัยภายนอกซึ่งไม่เหมือนกับในอดีต โดยปัจจุบันมีต้นตอของปัญหามาจากโควิด-19 สงครามยูเครน-รัสเซียซึ่งกระทบราคาน้ำมัน รวมถึงการปรับขึ้นดอกเบี้ยของสหรัฐฯ ทำให้มีทั้งประเด็นเฉพาะหน้าและโจทย์เชิงโครงสร้างที่ยังต้องติดตาม

ทั้งนี้ทั้งนั้น เราคาดหวังว่า รัฐบาลและภาคเอกชน จะช่วยกันประคับประคองเศรษฐกิจ ลดปัญหาความเหลื่อมล้ำ รวยกระจุก จนกระจาย  จากปัญหาค่าครองชีพ และหนี้ครัวเรือน ไม่ให้ประเทศไทยกำลังโงหัวต้องถูกผลักลงเหวอีกครั้ง